หนึ่งทศวรรษ`มีเดียมอนิเตอร์`

หนึ่งทศวรรษ`มีเดียมอนิเตอร์` thaihealth


ครบรอบหนึ่งทศวรรษของ "มีเดียมอนิเตอร์" (MEDIA MONITOR) หรือในชื่อเต็ม "โครงการศึกษาเฝ้าระวังสื่อและพัฒนา การรู้เท่าทันสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม" เป็นทศวรรษแห่งการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคสื่อเกิดกลไกการตรวจสอบหรือเฝ้าระวังสื่อจากภาคประชาชน เติมเต็มระบบสื่อที่ทำหน้าเฝ้าระวังสังคมให้สมบูรณ์ ทำให้ชื่อของ "มีเดียมอนิเตอร์" เป็นที่รู้จักในสังคม โดยเฉพาะแวดวงสื่อสารมวลชน นักวิชาการ ด้วยผลงานการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อมากมายตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน


รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการร่วมคิดและส่งเสริมให้เกิด "มีเดียมอนิเตอร์" โดยเป็นที่ปรึกษาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันการทำหน้าที่ของมีเดียมอนิเตอร์เป็นแรงหนุนเสริมการเคลื่อนงานของภาคี สสส.อย่างดี


รศ.ดร.วิลาสินีบอกว่า บทบาท สสส.ต่อมี เดียมอนิเตอร์นั้นเป็นการทำงานที่สอดรับกัน สสส.มียุทธศาสตร์การส่งเสริมระบบสื่อเพื่อสุขภาวะ หรือ "Healthy Media" ซึ่งเป็นไปตามหลักการ แนวคิดและการพัฒนาความร่วมมือฉันภาคีเพื่องานการสร้างเสริมสุขภาพจากกฎบัตรออตตาวา (Ottawa Charter) ว่า การสร้างเสริมสุขภาพนั้น นอกจากจะส่งเสริมตรงไปยังระดับบุคคลเพื่อให้เกิดการเปลี่ยน แปลงพฤติกรรมแล้ว เรายังต้องส่งเสริมไปที่ปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อให้คนมีพฤติกรรมสุขภาพและให้สังคมมีค่านิยมสุขภาพที่ดี หนึ่งในปัจจัยแวดล้อมคือ "สื่อ" การที่ สสส.สนับสนุนพัฒนากลไกของมีเดียมอนิเตอร์ถือเป็นการทำให้ระบบสื่อมีความสมบูรณ์ มีคุณภาพ เป็นเครื่องมือที่ทำให้ผู้บริโภคสื่อสามารถสะท้อนสิ่งที่ได้รับกลับไปยังผู้ผลิตสื่อได้ด้วยเครื่องมือและช่องทางแบบที่เป็นวิชาการที่เรียกกันว่าการเฝ้าระวังสื่อหรือการตรวจสอบสื่อ


หนึ่งทศวรรษ`มีเดียมอนิเตอร์` thaihealthเมื่อมีเดียมอนิเตอร์ก่อกำเนิดขึ้นจาก 1 ใน 10 ผลงานวิจัยชุดใหญ่ว่าด้วยการปฏิรูประบบสื่อ โดยทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สสส.ได้นำผลการวิจัยนั้นมาต่อยอดจนเกิดการขับเคลื่อนจริงในสังคม


รศ.ดร.วิลาสินีบอกว่า ช่วง 3 ปีแรก มีเดียมอนิเตอร์ทำงานร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์ในหลายสถาบันการศึกษา มีการระดมนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน นักกฎหมาย นักวิชาชีพสื่ออาวุโส สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ และองค์กรวิชาชีพสื่อต่างๆ ร่วมกันออกแบบวิธีการเก็บสำรวจวิเคราะห์ข้อมูลและพัฒนาระเบียบวิธีวิจัยอย่างละเอียด มีทีมงานมอนิเตอร์เฝ้าบันทึกรายการทีวีช่องต่างๆ ตลอด 24 ชั่วโมง เวลานั้นมีเดียมอนิเตอร์ถือเป็นของใหม่ในสังคม จึงต้องให้น้ำหนักด้านการสร้างฐานงานวิชาการให้แข็งแรง มีความน่าเชื่อถือ และมีข้อมูลทางวิชาการที่สามารถเป็นหลักฐานอ้างอิงได้ ต่อมาเมื่อผลงานเป็นที่ยอมรับมากขึ้น มีเดียมอนิเตอร์ได้เริ่มขยายความร่วมมือแบบเครือข่ายกับกลุ่มองค์กรภาคสังคมต่างๆ เพื่อทำให้งานที่ศึกษาได้ยกระดับไปสู่การพัฒนาเป็นข้อเสนอและให้เกิดเป็นความร่วมมือกับองค์กรสื่อต่างๆ เพื่อการเปลี่ยนแปลงให้ได้จริงๆ


มีเดียมอนิเตอร์ ได้นำเสนอผลงานที่น่าสนใจหลากหลายประเด็น เป็นการกระตุกสื่อมวลชนให้ย้อนกลับมาทบทวนตัวเอง เช่น ประเด็นการตั้งคำถามว่าสื่อมีส่วนทำให้ประชาชนเป็น "ผู้บริโภคแบบนิ่งดูดาย" ที่ถูกเร้าอารมณ์ได้ง่ายมากกว่าส่งเสริมให้เป็น "พลเมืองที่ตื่นรู้ของสังคม" มีผลการศึกษาจากการนำรายการทีวีมาวิเคราะห์ด้วยข้อมูลทางวิชาการที่มีความชัดเจน ผลจากการศึกษาครั้งนั้นเป็นฐานทางข้อมูลที่สำคัญในการผลักดันให้เกิดทีวีสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย


รศ.ดร.วิลาสินีอธิบายต่อว่า มีเดียมอนิเตอร์ให้ความสำคัญกับการสร้างกระบวนการที่มีส่วนร่วม มีการจัดเวทีนำเสนอผลกับกลุ่มที่มีความเกี่ยวข้องทั้งสื่อมวลชน ผู้ประกอบการ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม ผู้บริโภค ทำให้การศึกษาของมีเดียมอนิเตอร์ได้รับการยอมรับเป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาเนื้อหาของสื่อที่สะท้อนความรุนแรงและเรื่องเพศที่ไม่เหมาะสมในรายการเด็ก ส่งผลให้เกิดฐานข้อมูลประกอบการจัดเรตติ้งในทีวี มีการพัฒนารูปแบบรายการเนื้อหาที่เหมาะกับเด็กมากขึ้น หรือการศึกษาเรื่องโฆษณาอาหารเสริมและสินค้าสุขภาพในช่องดาวเทียม เรียกได้ว่าผลการศึกษาหลายชิ้นไม่ได้จบเพียงแค่ผลศึกษาเท่านั้น แต่เกิดข้อเสนอที่นำไปสู่การผลักดันนโยบายต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.


"การทำงานของมีเดียมอนิเตอร์ได้ช่วยเสริมการทำงาน สสส.ในประเด็นต่างๆ ที่เห็นชัดเจน มีผลสะท้อนที่ผู้บริโภคหนึ่งทศวรรษ`มีเดียมอนิเตอร์` thaihealthเกิดการตื่นตัว มีความรู้เท่าทันสื่อ ส่งผลต่องานสุขภาพโดยตรงของ สสส. เช่น การโฆษณาเหล้า-บุหรี่ ที่แม้จะมีกฎหมายควบคุมอยู่แล้ว แต่มีการแอบแฝงในรูปแบบต่างๆ ที่เป็น below the line และในสื่อโซเชียลมีเดีย ช่วยสร้างแรงกระเพื่อมในวงการสื่อ ผลการศึกษาหลายชิ้นทำให้สื่อเกิดการตื่นตัวนำไปสู่การพัฒนาข้อกำหนดจริยธรรมวิชาชีพ รวมทั้งการพัฒนาระเบียบการกำกับดูแลเนื้อหาสื่อ รวมถึงภาคีเครือข่ายของ สสส.ได้ใช้ข้อมูลเพื่อช่วยในการขับเคลื่อนงานรณรงค์ต่างๆ บนฐานวิชาการ เกิดความตื่นตัวในเชิงวิชาการ ข้อมูลของมีเดียมอนิเตอร์กลายเป็นฐานข้อมูลทางวิชาการที่สำคัญของประเทศ และสามารถนำไปใช้พัฒนางานวิจัยต่อยอดด้านสื่อมวลชน" ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส.แจกแจง


ทั้งหมดนี้ ต้องชื่นชมนักวิชาการ ภาคี สสส. และเครือข่ายสื่อมวลชนจำนวนมาก ที่ร่วมกันทำให้กลไกแบบมีเดียมอนิเตอร์เกิดขึ้น และมีบทบาททำให้ผู้บริโภคสื่อเริ่มตื่นตัวกล้าที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาคุณภาพสื่อในบ้านเราได้มากขึ้น


ก้าวต่อไปของมีเดียมอนิเตอร์ รศ.ดร.วิลาสินีมองว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีเดียมอนิเตอร์ยังเติบโตได้ไม่เต็มที่ เพราะวัฒนธรรมการตรวจสอบและสะท้อนผลยังไม่หยั่งรากในสังคมไทย แม้มีหลักฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ทางวิชาการก็มักจะมีข้อถกเถียงโต้แย้งเสมอ อย่างไรก็ตาม หวังว่ากลไกแบบมีเดียมอนิเตอร์จะยังคงอยู่และถูกนำไปใช้ต่อยอดเป็นกลไกสำคัญที่ฝังไว้ในระบบที่มีกฎหมายรองรับ อย่าง กสทช.ที่มีภารกิจในการส่งเสริมกระบวนการคุ้มครองผู้บริโภคหรือไปผูกกับกรรมาธิการปฎิรูปสื่อของ สปช. ที่ได้ร่างกรอบแม่บทเขียนไว้ชัดเจนว่า จะให้มีองค์กรอิสระเพื่อการมีส่วนร่วมกำกับดูแลสื่อโดยภาคประชาชน หรือเป็นกลไกที่อยู่ในสภาวิชาชีพสื่อมวลชน สสส.ยินดีและพร้อมที่จะถอดบทเรียนเพื่อให้กระบวนการปฏิรูปสามารถนำไปใช้ได้ทันที โดยไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่


ความท้าทายของมีเดียมอนิเตอร์จึงเป็นการแปลงโฉมปรับบทบาท ไปสู่การเป็นหนึ่งในระบบสังคมแห่งการปฏิรูปที่สื่อจะเป็นเสมือนโรงเรียนของสังคมและผู้บริโภคสื่อก็จะเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ ช่วยกันส่งเสริมสื่อให้มีคุณภาพ ซึ่งภาคีเครือข่าย สสส.จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างระบบที่ดีนี้ต่อไป.


 


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

Shares:
QR Code :
QR Code