“หนึ่งชุมชน หนึ่งศูนย์การเรียนรู้” กุญแจสู่สังคมเข้มแข็ง
เน้นการมีส่วนร่วม เพื่อแก้ปัญหา-พัฒนาอย่างแท้จริง
สภาพปัญหาที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ ณ ขณะนี้ ทั้งปัญหาประชาชนด้อยการศึกษา ยาเสพติดระบาดหนัก เด็ก – เยาวชนติดเกมออนไลน์ ครอบครัวแตกแยกเป็นปัญหาที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบเป็นอย่างดี แต่ยังไม่สามารถแก้ไขได้
ยังมีงานวิจัยที่ระบุว่าคนไทยอ่านหนังสือเพียงปีละ 7 บรรทัด อีกทั้งประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงการบริการสาธารณสุขอย่างเพียงพอ แม้จะมีหน่วยงานที่เฝ้าดูแลในด้านนี้อยู่แล้ว ทว่าผู้คนส่วนใหญ่ในหลายพื้นที่ก็ไร้การเหลียวเล
แนวทางหนึ่งที่จะเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหาสังคม จึงควรมองที่ตัวปัญหาอันแท้จริง นั่นคือ “ครอบครัว” โดยมุ่งเน้นมองสภาพปัญหาจาก “ชุมชน” เป็นตัวตั้ง
“ปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้โดยการสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ดังนั้น สสส. จึงมีแนวคิดที่จะสร้างศูนย์การเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในชุมชน โดยมองว่าในประเทศไทยมี 76,000 หมู่บ้าน หากชุมชนสร้างชมรมรักการอ่านให้เกิดขึ้นในทุกหมู่บ้าน ก็จะเป็นใบเบิกทางให้คนในหมู่บ้านมีจุดสนใจในการอ่านหนังสือมากขึ้น” นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างการเรียนรู้และสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าว
“ศูนย์เรียนรู้ภายในชุมชน” จะเกิดขึ้นจากการผสานใจของคนในชุมชนนั้นๆ ผ่านการระดมสมอง เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของชุมชนอย่างแท้จริง โดยอาจจะเป็นเหมือนศาลาประชาคมที่เกิดขึ้นจากความต้องการของคนในชุมชนเอง ทั้งนี้เพื่อให้เป็นแหล่งรวมแนวความคิดของคนในชุมชนที่เกิดขึ้นจากภูมิปัญญาแบบชาวบ้าน
“ตามปกติในแต่ละชุมชนจะมีการรวมตัวกันอยู่แล้ว แต่เป็นการรวมตัวกันแบบหลวมๆ ซึ่งเรามองว่า หากสามารถทำให้คนในชุมชนรวมเป็นเนื้อเดียวกัน เพื่อคิดหาวิธีแก้ไขปัญหาร่วมกันจะทำให้ชุมชนนั้น ๆ เป็นปึกแผ่นมากขึ้น โดยแนวคิดนี้ สสส. ต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นผ่านภาคีเครือข่ายที่มีอยู่กว่า 500 เครือข่ายทั่วประเทศก่อน
แต่การผลักดันก็ต้องคำนึงถึงความต้องการของชุมชนเป็นหลัก ซึ่งจะเรียกว่า “หนึ่งชุมชน หนึ่งศูนย์เรียนรู้” เมื่อมีชุมชนต้นแบบแล้ว หากชุมชนอื่นเห็นว่าเป็นเรื่องดีก็สามารถเดินตามรอยได้” ผอ.สำนักสนับสนุนการสร้างการเรียนรู้และสุขภาวะองค์กร สสส. กล่าวและว่า โดยกระบวนการในลักษณะนี้สามารถผลักดันให้เกิดขึ้นทั้งชุมชนเมืองและชุมชนชนบท
เหตุที่ต้องแก้ไขปัญหาผ่านชุมชนนั้น เพราะคิดว่า ไม่มีใครรู้ปัญหาดีเท่ากับคนในครอบครัว หรือ ชุมชนนั้นๆ เพียงแต่ห้วงระยะเวลาที่ผ่านมาคนในชุมชนไม่มีปากมีเสียง ไม่ได้ลุกขึ้นมารวมตัวกันแล้วระดมสมองแก้ไขปัญหาเท่าที่ควร ที่ผ่านมาชุมชนจึงเป็นเพียงรากหญ้าที่รอฟ้าฝนโปรยนโยบายลงมา เพื่อเดินตามรอยทางของรัฐบาลแต่ละยุคสมัย
แต่คราวนี้ศูนย์เรียนรู้จะเป็นกุญแจสำคัญในการผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาของวัยรุ่น เยาวชน คนในครอบครัว ในลักษณะการพึ่งพาตัวเอง เพราะในแต่ละศูนย์ฯ จะมีห้องสมุดระดับหมู่บ้าน มีการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมของคนในชุมชน ที่เน้นให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของเยาวชนและคนทุกระดับ
หากสามารถสร้างศูนย์เรียนรู้ในระดับหมู่บ้านได้อาจจะขยายเป็นศูนย์เรียนรู้ระดับตำบล ที่มีประชากรเพิ่มขึ้น ถือเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมในระดับตำบลที่ควรเน้นการส่งเสริมให้ทุกตำบลมีศูนย์ศิลปะ ศูนย์กีฬา พิพิธภัณฑ์ สวนพฤกษศาสตร์ ใน 7,600 ตำบลให้เป็น “หนึ่งตำบล หนึ่งศูนย์เรียนรู้” หรือถ้าเป็นไปได้ก็สามารถขยายไปในระดับอำเภอ หรือจังหวัดต่อไป
เพราะหากชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถอ่านออกเขียนได้ และเกิดการขับเคลื่อนของคนในชุมชนไม่ช้าทุกปัญหาก็ถูกแก้ไข นี่อาจจะเป็นแนวทางที่ขับเคลื่อนประเทศให้พัฒนาอย่างแท้จริง
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
Update 10-03-52