“หนังเงียบ” ครั้งแรกของคน(หูหนวก)ทำหนัง ที่คนหูดีควรดู
หากพูดถึงหนังสั้น เชื่อว่าใครหลายคนคงจะรู้จักกันดี เพราะทุกวันนี้มีผู้กำกับหน้าใหม่แจ้งเกิดผ่านวงการแผ่นฟิล์มกันถ้วนหน้า แต่หากพูดถึงหนังสั้นเพื่อคนพิการทางการได้ยินหรือคนหูหนวก ดูจะเป็นสิ่งใหม่มากในสังคมไทย แม้แต่คนที่คิดจะทำยังแทบไม่มีเลย แต่เหนือสิ่งอื่นใดทุกอย่างย่อมมีครั้งแรกเสมอ
โครงการใหม่แกะกล่องที่คนรุ่นใหม่ในนามกลุ่มธรรมดีทำดี ลุกขึ้นมาจุดประกายความคิด จินตนาการของคนหูหนวกเพื่อให้เกิดภาพในเชิงอัตลักษณ์ ถ่ายทอดผ่านแผ่นฟิล์มใน โครงการหนังเงียบ : si(gn)lent film : ภาพยนตร์สั้นของผู้พิการทางหู
โครงการหนังเงียบ ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเปลี่ยนโลกให้เข้ากับเรา ภายใต้การสนับสนุนจากสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ(สสพ.) ซึ่งเล็งเห็นความสำคัญของการถ่ายทอดศิลปะ ผ่านการอบรมสานเสวนาจินตนาการใหม่ สู่การปฏิบัติการทางสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ เรื่องความพิการกับคนพิการ
มนต์ศักดิ์ ชัยวีระเดช หัวหน้าโครงการ เปิดใจว่า สาเหตุที่อยากทำโครงการหนังเงียบ เนื่องจากปัจจุบันการเสนอภาพยนตร์เป็นแบบเหมารวม (stereotype) เป็นคตินิยม หรือทัศนคติของคนในสังคมทั่วไปที่มีต่อกลุ่มคนอื่น ชาติอื่น ซึ่งการนำเสนอส่วนใหญ่ยังคงเป็นการหยิบยกเรื่องราวจากความน่าสงสาร หรือไม่ก็เป็นการให้กำลังใจแก่ผู้พิการเพียงเท่านั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากมุมมองของคนที่ได้ชื่อว่าเป็นคนปกติที่อยู่ในสังคมเพียงด้านเดียวเท่านั้น
“ก่อนเริ่มโครงการทีมผู้จัดทำได้เดินทางไปประชาสัมพันธ์ในโรงเรียนโสตศึกษาหลายแห่งในประเทศ และตั้งเป้าไว้ที่ 40 คน แต่ด้วยอุปสรรค จากการเข้าหาโรงเรียนที่ดูไม่เป็นทางการ คือเข้าไปประชาสัมพันธ์ก่อนแล้วเมื่อโรงเรียนโสตฯใดสนใจก็จะส่งหนังสืออย่างเป็นทางการไป รวมถึงโรงเรียนโสตฯบางแห่งอยู่ไกลเกินไปจึงทำให้เดินทางไม่สะดวก ครั้งนี้จึงมีผู้เข้าร่วมโครงการเพียง 25 คน ซึ่งก็น่าเสียดายที่เด็กบางคนไม่ได้รับโอกาสในการเข้ามาร่วม” หัวหน้าโครงการกล่าว
โครงการหนังเงียบ ได้รับความร่วมมือจากกลุ่มอัศจรรย์ภาพยนตร์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวมตัวกันสร้างพื้นที่ทางศิลปะในชุมชนวัดสามพระยา มาเป็นวิทยากรสอนน้องทำหนัง ผ่านล่ามภาษามือที่มีประจำกลุ่มทั้ง 6 กลุ่ม คือ 1.นารุโตะ 2.หกผี 3.ฟลายทูสกาย 4.เศรษฐกิจพอเพียง 5.พระอาทิตย์ โดยใช้สถานที่วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้โจทย์ของความสงสัยที่ว่า หากผู้พิการทางหูได้มีโอกาสในการผลิตภาพยนตร์สั้น เรื่องราวจะเป็นอย่างไร เช่น การใช้ดอกไม้ แสดงความรัก ไม่ได้สนใจว่าภาพยนตร์สั้นจะมีเสียงหรือไม่มีเสียง แต่สนใจว่าผู้พิการทางหูจะสร้างสรรค์ภาพยนตร์สั้นออกมาในรูปแบบใด ประเด็นใดจากมุมมองทางความคิดและก้นบึ้งภายในจิตใจของพวกเขาคืออะไร และนี่จึงเป็นการเปิดโอกาสให้คนหูหนวกได้สร้างภาพยนตร์สั้นของพวกเขาเองอย่างไม่มีข้อจำกัดทางด้านกายภาพ เพื่อพิสูจน์ว่าความพิการจะไม่เป็นอุปสรรคหากใจมุ่งมั่นที่อยากจะทำ
แต่ด้วยการทำงานที่ยากต่อการสื่อสาร ที่ทั้งคนหูดีและคนหูหนวกต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก จึงทำให้สัญลักษณ์อาจจะไม่ออก แต่จะออกในประเด็นเรื่องสังคมมากกว่า ซึ่งเนื้อหาของแต่ละกลุ่ม ก็มีความต่างกันออกไป อาทิ เรื่องการหาสมบัติ คนหูหนวกปวดท้อง คนหูตึงไปอยู่ในสังคมไหนดี ซึ่งวิธีการถ่ายทอดก็ต่างกันออกไปด้วย
ตัวแทนจากกลุ่มพระอาทิตย์ ศิรินันท์ เมธา -น้องนันท์ ที่ผันตัวเองมาเป็นผู้จัดการกองหนังสั้นเรื่อง “นัดมาพบกับแฟน” ร่วมกับ จีรเดช จงเกิดศิริ-น้องฮาซัน ผู้กำกับหนังเรื่องเดียวกัน ร่วมกันสะท้อนมุมมองการทำหนังสั้น ผ่านสุภาพร เพชรนนท์ ล่ามภาษามือประจำกลุ่มว่า ทั้งสองต่างก็รู้สึกดีใจ และตื่นเต้นมากที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้
ชื่อเรื่อง “นัดมาพบกับแฟน” อาจดูแปลกเมื่อคนหูดีได้ฟัง แต่นี่ถือเป็นการแสดงออกของภาษามือถ่ายทอดสู่ตัวหนังสือ โดยสาเหตุที่กลุ่มพระอาทิตย์เลือกเรื่องดังกล่าวมา เพราะอยากสื่อถึงปัญหาของวัยรุ่น ที่เวลาวัยรุ่นหนุ่มสาวนัดมาพบกันนั้น อาจจะมีงานค้างอยู่ ดังนั้นก่อนที่จะมาพบกับแฟน ควรทำงานให้เสร็จก่อน เรียกว่าต้องทำทั้งสองเรื่องในเวลาเดียวกันให้ดี ควบคู่กัน
น้องนันท์ เล่าเรื่องราวผ่านล่ามอย่างอารมณ์ดีว่า ว่าทำหนังสนุกมาก และการอบรมครั้งนี้ทำให้เธอได้เรียนรู้เรื่องการถ่ายทำหนัง การแพลนกล้อง มุมกล้อง และขั้นตอนหลักจากถ่ายทำเสร็จวันนี้คือการตัดต่อ ซึ่งเป็นอีกขั้นตอนที่เธอชอบมาก เพราะทำให้ได้คิดว่า จะเอาหนังมาต่อกันอย่างไร ต้องเรียงลำดับภาพอย่างไร
ขณะที่ผู้กำกับหนังสั้นเรื่องแรกในชีวิตอย่าง ฮาซัน บอกว่า ความสำคัญของหนังสั้นคือ ต้องสรุปใจความให้สั้น กระชับ เข้าใจเร็ว ซึ่งส่วนที่ยากมากคือการเขียนบท เพราะกว่าจะสรุปได้ว่าต้องทำอย่างไร ต้องร่วมวางแผนกับเพื่อนในกลุ่ม เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน และถ้าเป็นไปได้ฮาซัน บอกว่าอยากให้มีโครงการนี้เกิดขั้นในทุกๆ ปี เพราะอยากมีการพัฒนาคนหูหนวกให้ร่วมทำหนังสั้นกัน
ส่วนหนังสั้นที่เขาทำจะสามารถสื่อสารกับคนหูดีได้หรือไม่นั้น ฮาซัน มีสีหน้าลังเล ก่อนตอบว่า ไม่แน่ใจว่าจะสื่อสารให้คนหูดีเข้าใจได้หรือไม่ แต่เชื่อว่าคนหูหนวกเข้าใจแน่นอน
“คิดว่าเวลาที่คนหูดีมาดูหนังของคนหูหนวก ก็คงเหมือนตอนที่คนหูหนวกไปดูหนังของคนหูดี ที่ต้องอ่านซับฯ (sub-title)ข้างล่าง และสังเกตจากการแสดงท่าทางของนักแสดง เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจมากที่สุด ดังนั้นการทำหนังสั้นของคนหูหนวกก็คงไม่ต่างกัน คนหูดีก็คงต้องอ่านซับฯและสังเกตจากสีหน้าของนักแสดง ซึ่งถือเป็นความเท่าเทียมกันระหว่างคนหูดีกับคนหนูหนวกที่มีสิทธิ์ในการดูหนังเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ยังอยากเชิญชวนให้คนหูดี คนหูหนวกมาร่วมดูหนังสั้นของพวกเรา เพราะนี้คือครั้งแรกในชีวิตที่ได้ทำหนัง เมื่อมาดูแล้วก็อยากให้ช่วยติชม เราจะได้เอามาปรับแก้ให้ดีขึ้น” ฮาซัน บอกผ่านล่ามด้วยสีหน้าจริงจัง
ด้าน อ.ปรเมศวร์ บุญยืน ที่ปรึกษาโครงการ กล่าวปิดท้ายว่า การฝึกอบรมครั้งนี้เป็นการทำหนังผ่านสตอรี่บอร์ดคือเขียนออกมาผ่านรูปภาพทั้งหมด ซึ่งแตกต่างจากการทำหนังทั่วไปที่จะทำผ่านบท แต่คนหูหนวกเขาสื่อสารด้วยภาพ ทำให้เห็นว่าพวกเขาเรียนรู้และเข้าใจสิ่งรอบตัวผ่านภาพ ซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจ ซึ่งคิดว่าโครงการที่ทำอยู่เป็นโครงการที่ดีมากควรจะทำทุกปี เพื่อช่วยพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของเด็ก อยากให้ผู้ปกครอง และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่นกระทรวงศึกษาหันมาสนับสนุน และเปิดทัศนคติที่มีต่อคนพิการให้กว้างมากขึ้น
แพทย์หญิงวัชรา ริ้วไพบูลย์ ผู้อำนวยการสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า กำแพงที่ขวางกั้นการอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจและเกื้อกูลกันได้ของคนหูดีกับคนหูหนวก ก็คือเรื่องภาษาและการสื่อสาร ทุกวันนี้เราพยายามเปิดสังคมไทยเป็นสังคมโลกแล้ว คนไทยไม่น้อยเรียนรู้มากกว่าหนึ่งภาษา เราเปิดรับและพยายามเข้าใจภาษาและวัฒนธรรมเพื่อนบ้านใกล้ไกล แต่ภาษาและวัฒนธรรมคนบ้านเดียวกันอย่างคนหูหนวก เราจะเปิดโอกาสการเรียนรู้ที่จะสื่อสารกันให้มากขึ้นได้ไหม
โครงการนี้อาจไม่ใช่แค่ “หนังเงียบ” ที่ก็มีค่าควรชมมากพออยู่แล้ว แต่อยากให้เราเรียนรู้ให้ลึกลงไปถึงภาษาและวัฒนธรรมการสื่อสารของคนเราด้วย ภาษาเสียงและตัวหนังสืออาจเป็นภาษาหลักของคนในสังคมไทย แต่หากเราเปิดใจเปิดพื้นที่ให้ภาษาภาพ ภาษาท่าทาง ภาษามือไทย ที่เป็นอีกวัฒนธรรมการสื่อสารหนึ่งด้วย เราจะพบว่าสังคมไทยมีความมั่งคั่งทางปัญญาและวัฒนธรรมอีกไม่น้อยเลย
เชื่อว่าหนังสั้นจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้สังคมได้รับรู้มุมมอง ทัศนคติ และเบื้องลึกภายในจิตใจของคนพิการผ่านแผ่นฟิล์ม เพราะหากคนในสังคมเปิดใจแลกเปลี่ยนเรื่องราว ความคิด รวมถึงมุมมองของความแตกต่าง ก็จะเกิดความเข้าใจในความแตกต่างนั้นมากขึ้น
ที่มา: สถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ