หนังสือเปิดใจเปิดโลก
ไม่กี่ปีข้างหน้า ประเทศไทยก็จะเข้าสู่การเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทั้งๆ ที่ คนไทยเรายังไม่มีความรู้ และการเตรียมตัว ข้อมูลที่ดี สำหรับการเข้าสู่การเป็นประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ทำอย่างไร ให้คนไทยตื่นตัว ทำอย่างไร ให้เราเท่าทัน และมีข้อมูล ความที่ไม่มีความรู้ ไม่มีข้อมูล ทำให้หลายคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่ม ตื่นตระหนก หวาดกลัว ตั้งคำถาม มันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เราจะตั้งรับอย่างไร
ล่าสุด ฉันได้เข้าร่วมพูดคุยกับคุณครู ในจังหวัดชายแดนใต้ ตามโครงการชวนสร้าง ชวนคิด ชวนอ่านสู่สุขภาวะ โดยการสนับสนุนของแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน (สสส.) สิ่งหนึ่งที่คุณครูสะท้อนออกมาว่า ไปที่ไหนตอนนี้ ใครๆ ก็พูดถึงอาเซียน คุณครูเอง ยังไม่มีข้อมูล ยังไม่มีความรู้ และจะบอกต่อคนอื่นๆ หรือสอนเด็กๆ ได้อย่างไร ฉันจึงถามกลับไปในวงสนทนาของการอบรมในวันนั้นว่า แล้วคุณครูทำอย่างไรที่ผ่านมา มีเด็กๆ ถามถึงเรื่องนี้ไหม คุณครูหลายคนตอบมาว่า สิ่งหนึ่งที่เราทำได้ดีที่สุดคือหาหนังสือ มาอ่าน หนังสือเป็นคำตอบที่ดีที่สุด หนังสือคือโลกกว้าง คือวิทยากรชั้นดี ที่จะตอบคำถามเราได้ ฉันตั้งคำถามกลับไปว่า มีโรงเรียนไหนบ้างที่ทำอย่างนี้ ปรากฏว่าทุกโรงเรียนล้วนรู้ ข้อมูลและเตรียมตัวจากการอ่านทั้งสิ้น
หนังสือ 1 เล่ม สามารถเปิดโลกให้ทุกคนโดยไม่ต้องลงทุนมากมาย คุณครูทิพย์จากโรงเรียนบ้านระแว้ง จ.ปัตตานี เล่าว่า ตั้งแต่ได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการอ่าน ทำให้ตนเองและนักเรียน มีความทัศนคติที่เปลี่ยนไป หนังสือที่เข้ามาจากในโครงการนี้ ทำให้เด็กผู้ชายเปลี่ยนความคิด จากเมื่อก่อนไม่เคยช่วยงานบ้านเลยเพราะคิดว่าเกิดเป็นผู้ชายไม่ต้องทำอะไร เพราะผู้ชายเกิดมาเป็นผู้นำ แต่พอเราจัดกิจกรรมแนะนำหนังสือ และเกิดการแลกเปลี่ยนบทบาทของเพศต่างๆ ในหนังสือ จึงทำให้นักเรียนชายหลายคนเปลี่ยนความคิดใหม่ มีหลายอย่างที่นี่เกิดการเปลี่ยนแปลง เด็กผู้ชายลดการล้อเลียน เด็กผู้หญิง เด็กต่างศาสนาเริ่มให้เกียรติและเข้าใจกันมากขึ้น มันเริ่มจากหนังสือเพียง ไม่กี่เล่มที่มีในโรงเรียน มันเริ่มจากการแลกเปลี่ยน จากประเด็นในหนังสือ ยิ่งมีหนังสือเข้ามาเยอะ คนก็อ่านมากขึ้น มีมุมมองที่กว้างขึ้น ที่นี่หนังสือคือโลกใบใหม่ ที่แตกต่างจากโลกเดิมของพวกเขา หนังสือจึงเป็นของขวัญที่ดีที่สุด ถ้าจะให้ใครสักคน
ครูอภิรักษ์ จากโรงเรียนบ้านปุโรง จ.ยะลา เล่าว่า ปกติหนังสือในห้องสมุดมีน้อยมาก และเป็นหนังสือแบบเรียนเก่าๆ ไม่น่าสนใจ พอได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการอ่าน ห้องสมุดเปลี่ยนไป มีสีสัน และมีคนมาใช้บริการมากขึ้น ห้องสมุดในโรงเรียน ไม่ได้มีเพียง นักเรียนเท่านั้นที่มาอ่าน และยืมกลับไป แต่รวมถึงศิษย์เก่า ผู้ปกครอง ผู้นำท้องถิ่น ก็มาใช้บริการ จึงตั้งชื่อมันใหม่ว่าเป็นห้องสมุดชุมชน เมื่อทำให้คนมาอ่านหนังสือมากขึ้น จึงต้องหาหนังสือมาเข้าห้องสมุดให้ได้มากที่สุด ทางโครงการช่วยระดมหนังสือมาให้ ที่ห้องสมุดจำนวนมาก
เมื่อหนังสือมีความหลากหลาย ทำให้ห้องสมุดคึกคัก โรงเรียนจึงประชุมกับ คณะกรรมการสถานศึกษาว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้มีแนวโน้มที่ดี มีคนอ่านหนังสือมากขึ้น ท้องถิ่นเข้ามาช่วยเรื่องงบซื้อหนังสือเพิ่มเติม กระตุ้นการอ่านด้วยการจัดประกวดการอ่าน ปรากฏว่ามีหลายหน่วยงานสนใจ และให้ความร่วมมือเต็มที่ หนังสือทำให้คนที่นี่ฉลาดขึ้นมาก มีการพูดคุยเรื่องสังคมมากขึ้น มีการแลกเปลี่ยนเรื่องราวในหนังสือ ความสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้น จนมีความหวังว่า ไม่นานชุมชนก็จะสงบสุขเพราะหนังสือ เมื่อมีการพูดคุยมากขึ้น สันติภาพก็จะตามมาในไม่ช้า
วันนั้น ฉันตั้งใจฟังอย่างรู้สึกอิ่มเอมในหัวใจ มีหลายคำบอกเล่าจากคุณครู รู้สึกได้ถึงความมหัศจรรย์ของหนังสือ หลายโรงเรียนหิวโหยการอ่าน แต่ขาดแคลนหนังสือ จึงมีความคิดว่า ถ้าใครมีหนังสือที่บ้านเก็บไว้หลายเล่ม น่าจะแบ่งมาให้โรงเรียนที่นี่บ้าง แบ่งความฝัน แบ่งความคิด แบ่งสันติภาพ
การให้ไม่ต้องใช้เงินอย่างเดียว ใช้หนังสือ เป็นตัวบอกเล่า แบ่งปันได้หลายคน แม้กระทั่งฉันเอง เวลาไปเดินร้านหนังสือมักจะชอบซื้อเก็บไว้ อ่านไม่ทัน มีความคิดอยากจะกลับไปอ่านให้จบเร็วๆ และอยากแบ่งปันเรื่องดีๆ ให้คนอื่นๆ ได้อ่านด้วย ถ้าเด็กๆ ที่นี่เริ่มอ่านหนังสือกันมากขึ้น คนในชุมชนเข้าถึงหนังสือ คนทั้งจังหวัดอ่านหนังสือ ทุกวัน ไม่ยากที่แต่ละจังหวัดจะยกวาระการอ่านให้เป็นวาระจังหวัด สนับสนุนการอ่านให้ทั่วถึง
การลงทุนแบบนี้ เป็นวิธีหนึ่งในการสร้างสันติภาพ สันติภาพต้องเปลี่ยนจากความคิด ของตัวบุคคล มันจะขยายผลไปได้เร็ว ความคิดเปลี่ยน คนก็เปลี่ยนโลกก็เปลี่ยน
” วันนี้คุณอ่านหนังสือหรือยังคะ “