หนังสืออ่านได้ 5 วัย ไม่ว้าวุ่น
‘หนังสือ’ช่วยสร้างพัฒนาการและทักษะด้านจิตใจ ปัญญา และอารมณ์ ให้กับผู้อ่านทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นวัยเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ แต่ประเภทของหนังสือก็มีความสำคัญต่อช่วงวัยด้วยเช่นกัน
"การอ่านหนังสือไม่ใช่เรื่องเครียด แต่เป็นการผ่อนคลายสมองและจิตใจที่ดีอีกทางหนึ่ง ทำให้่เกิดทักษะการเรียนรู้ การอ่าน ภาษาและจินตนาการได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญยังช่วยฝึกสมาธิ และจิตใจของเรามั่นคง ไม่ว้าวุ่นอีกด้วย"
สุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. อธิบาย และได้แนะนำประเภทหนังสือที่เหมาะกับ 5 ช่วงวัย ไว้ดังนี้
1.ปฐมวัย (0-6 ปี)
พ่อแม่ควรอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่ 6 เดือน หนังสือที่เหมาะกับเด็กวัยนี้ ควรมีภาพสวยๆ ถ้อยคำน้อยๆ และคล้องจองกัน เพราะช่วยจูงใจเด็กๆ ได้ดี พวกเขาจะสนใจ และหลงรักการอ่านอย่างรวดเร็ว สามารถอ่านหนังสือได้โดยอัตโนมัติเมื่อโตขึ้น
2.วัยประถมศึกษา (6-12 ปี)
การส่งเสริมให้เด็กอ่านหนังสือในช่วงวัยนี้ จะเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ที่สำคัญ เด็กวัยนี้จะชอบค้นหา และช่างสังเกต สามารถแยกแยะถูกผิดได้แล้ว พวกเขาจะสนใจเรื่องลึกลับ สืบสวน สอบสวน แนววิทยาศาสตร์ อย่างเช่น ชีวิตใต้ทะเล ชีวิตสัตว์กลางคืน เรื่องแปลกแต่จริง หนังสือที่เหมาะกับวัยนี้คือ หนังสือการ์ตูนคอมมิก หรือ หนังสือภาพการ์ตูน หนังสือประเภทสาระความรู้
3.วัยมัธยมศึกษา (12-15 ปี)
ช่วงวัยนี้จะเริ่มมีความฝัน จินตนาการ รวมไปถึงชอบความท้าทาย ความแปลกใหม่ พวกเขาจะชอบอ่านหนังสือนิยาย การผจญภัย และวิทยาศาสตร์ รวมถึงหนังสือที่สอดแทรกแง่มุมแปลกใหม่ที่น่าสนใจ หลายๆ คนเริ่มอ่านนิยาย และวรรณกรรมแปลต่างประเทศ หรือสนใจนิตยสารที่มีความทันสมัย และสาระบันเทิงสอดแทรกในหนังสือ
4.วัยรุ่น (15-20 ปี)
ช่วงวัยนี้จะไม่ชอบการวิพากษ์ วิจารณ์ พวกเขาจะเริ่มรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่ เริ่มมีวุฒิภาวะ แต่ยังเป็นวัยที่อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย นอกจากนี้ ยังเป็นวัยที่อยากมีส่วนร่วม อยากเป็นที่ยอมรับของสังคม และอยากมีความอิสระด้วย หนังสือที่พวกเขาสนใจ สำหรับผู้ชายจะชอบแนววิทยาศาสตร์ กีฬา ประวัติศาสตร์ สงคราม ถ้าเป็นผู้หญิงจะสนใจหนังสืองานประดิษฐ์ ความสวยความงาม งานบ้านงานเรือน ช่วงวัยนี้จะชื่นชมเรื่อง วีรบุรุษ หรือคนดังระดับโลก อาจต่อยอดให้เขาอ่านหนังสือ ชีวประวัติของบุคคลสำคัญที่มีความรู้ความสามารถต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศ และโลกได้ ที่สำคัญควรให้เขาอ่านหนังสือเกี่ยวกับ สุขภาพ ทัศคติเชิงเพศ และมิตรภาพด้วย
5. วัยผู้ใหญ่ (21 ปีขึ้นไป)
ช่วงนี้จะเริ่มมีการไตร่ตรองชีวิต ค้นหาตัวเอง และแรงบันดาลใจใหม่ๆ หนังสือที่เหมาะกับวัยนี้จะเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพของตัวเอง สอดแทรกทัศนคติคิดบวก ค้นหาความหมายและคุณค่าของชีวิต อย่างเช่น หนังสือแนะนำอาชีพที่น่าสนใจ หนังสือวาดภาพระบายสีสำหรับผู้ใหญ่ หรือหนังสือเดินทางที่ทำให้ผู้อ่านเกิดความมั่นใจพร้อมที่จะก้าวสู่โลกกว้าง และเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุจะเริ่มให้ความสนใจเกี่ยวกับสุขภาพ ค้นหาปรัชญาชีวิต หนังสือดูแลสุขภาพ หนังสือธรรมะก็จะเหมาะสมกับช่วงวัยนี้
หนังสือ ธรรมะ อ่านได้ทุกวัย ?
หากตั้งคำถามว่า หนังสือแนวไหน น่าจะอ่านได้ทุกวัย ผจก.แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ให้คำตอบว่า ‘หนังสือธรรมะ’ เพราะปัจจุบัน หลักธรรมะ ได้นำมาแปลเพื่อให้เข้าถึงคนทุกกลุ่มทุกวัยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหนังสือธรรมะรูปแบบการ์ตูน ที่เหมาะสำหรับเด็กประถมศึกษา หรือหนังสือที่นำหลักธรรมคำสอน ธรรมะบรรยาย ที่นำมาแปลด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ทำให้อ่านได้ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงผู้ใหญ่ ซึ่งไม่ใช่แค่อ่านง่าย อ่านสนุกเท่านั้น แต่ยังสอดแทรกหลักธรรมะ คติสอนใจ ที่นำไปสู่การปฏิบัติจริงให้กับผู้อ่านอีกด้วย
มาอ่านหนังสือกันดีกว่า
ผจก.แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน แนะนำเคล็ดลับการชักชวนเพื่อนสนิท หรือคนรอบข้างที่ไม่สนใจการอ่าน ให้หันมาอ่านหนังสือว่า ให้ลองสังเกตดูว่า เพื่อนเรานั้นชอบอะไร สนใจอะไรเป็นพิเศษ ก็ให้หนังสือที่เกี่ยวข้องกับความชอบของเขาเป็นของขวัญวันเกิดก็ได้ ไม่ใช่แค่ให้ความรู้เท่านั้น แต่ยังให้ความสุข ความเพลิดเพลิน ความรื่นรมณ์ ได้อยู่กับตัวเอง เรียนรู้ทักษะชีวิตผ่านตัวหนังสือ ซึ่งหนังสือจะสะท้อนตัวตนที่แท้จริง และทำให้เขาชอบอ่านหนังสือในที่สุด เพียงเท่านี้เราก็สร้างนิสัยรักการอ่านให้กับคนรอบข้างได้แล้ว
“การอ่าน ไม่เพียงแค่สร้างสุขภาวะการเรียนรู้ที่ดีให้กับผู้อ่านเท่านั้นนะคะ แต่ยังทำให้ผู้อ่านทุกวัยมีสุขภาพดีครบ 4 ด้าน นั่นคือ กาย จิต ปัญญา สังคม”
เรื่องโดย พิมพ์ชนก ศรเพชร Team Content www.thaihealth.or.th