หนังสั้นแต่เรื่องมันยาว ว่าด้วยสถานการณ์ ‘ครอบครัวไทย’

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


หนังสั้นแต่เรื่องมันยาว ว่าด้วยสถานการณ์ 'ครอบครัวไทย' thaihealth


หนังสั้น แต่เรื่องมัน 'ยาว' ว่าด้วยสถานการณ์ 'ครอบครัวไทย'


ณ โรงละครเล็ก หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เห็นโปสเตอร์เชิญชวนดู ภาพยนตร์ครอบครัวและเสวนา "As the  Family Short Film" มีกลุ่มเด็ก เยาวชน จำนวนมากกำลังรอเข้าชมผลงานภาพยนตร์สั้นสุดจี๊ด 3 เรื่องที่ตีแผ่ปัญหาสถานการณ์ครอบครัวไทย จัดโดยมูลนิธิภูมิพลังชุมชนไทย ร่วมกับเครือข่ายเยาวชนสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลง สังคมภาคเหนือตอนบน โดยการสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


ในงานมีการฉายภาพยนตร์สั้นทั้งหมด 3 เรื่องเครือข่ายผู้ผลิตหนังอิสระ Moving Image 3 ผู้กำกับเยาวชนที่เป็นนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ที่ต้องการสื่อสารถึงกลุ่มเด็ก เยาวชน และทุกคน ในสังคม


เริ่มตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่อง "คำตอบ" ผลงานโดย อรุณกร พิค นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่บอกเล่า เรื่องราวของเด็กน้อยคนหนึ่งที่เฝ้าถาม พ่อไปไหน?  โดยต้องการฝากถึงสิ่งที่อยู่ในใจว่า อยากให้ทุกคนมีความใส่ใจ กวาดตามอง เพราะบางครั้งก็ไม่รู้ว่าเป็นปัญหา เพราะมนุษย์หนึ่งคนจะเป็นผลผลิตที่ดีได้ต้องช่วยกัน พ่อแม่ก็ไม่ใช่จะทำให้ลูกเป็นผลผลิตที่ดีได้ ต้องอาศัยชุมชน สังคมเข้ามาช่วยกัน


"คำตอบ" เป็นเรื่องของเด็กชายมอเตอร์ วัย 8 ขวบ ที่อาศัยอยู่กับป้า  เมื่อเขาเข้าสังคมกลับพบว่า องค์ประกอบครอบครัวที่สมบูรณ์ตามความคิด และการตีความของสังคม=พ่อแม่ลูก และมอเตอร์คือความไม่ครบ เกิดเป็นคำถามสำหรับตัวเด็กชายมาโดยตลอด


"พ่อไปไหน ไอ้เด็กกำพร้า ไม่มี ใครรัก เด็กถูกทิ้ง" คำถามที่ตีตราเด็กจากสังคม ส่งผลให้เด็กใช้วาจาก้าวร้าวเพื่อโต้ตอบคำถามเหล่านั้นกลับไป และเย็นวันหนึ่งเมื่อเขากลับไปที่บ้าน จึงเอ่ยถามป้าว่า พ่อของมอเตอร์ไปไหน ?  แต่เด็กน้อยก็ไม่เคยได้คำตอบ


ขณะที่ ภาพยนตร์สั้นเรื่อง HP Health Point ผลงานโดย อนวรรษ พรมแจ้ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัย แม่โจ้ ซึ่งพยายามที่จะบอกเล่าเรื่องราวครอบครัวที่มีปัญหาความสัมพันธ์อัน ร้าวฉานของพ่อและแม่และส่งผลกระทบ ต่อลูก เป็นเรื่องราวของ 'โล่' เด็กวัย มัธยมต้นที่ครอบครัวกำลังมีปัญหา ความสัมพันธ์ของพ่อและแม่ โล่ไม่เคยมีความรู้สึกว่า อยากอยู่ที่บ้าน ความสุขเดียวของเขาคือการได้ไปโรงเรียนเจอเพื่อนๆ และเล่นเกมกระดาษ (การสร้างตัวการ์ตูนมาต่อสู้กันในสมุดวาดรูป)  ที่เป็นกิจกรรมร่วมกันทุกวัน


หนังสั้นแต่เรื่องมันยาว ว่าด้วยสถานการณ์ 'ครอบครัวไทย' thaihealth


เด็กชายถ่ายทอดความรู้สึก และทางออกด้วยการสร้างเกมจากการ วาดภาพลงไปในสมุด โดยสร้างศูนย์พลังใจ เพื่อหาพลังใจให้กับตนเอง แต่แล้ววันหนึ่ง รอยร้าวในครอบครัวก็ถึงคราวแตกหัก เด็กหนุ่มต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่อาจทำให้เขาต้องถึงขั้น ย้ายโรงเรียน และจะไม่ได้เจอเพื่อนๆ อีกต่อไป


"อยากให้ใส่ใจสาระเล็กน้อย กระดาษ สมุด การวาดรูปของเด็ก อย่ามองว่าไร้สาระ ไม่เกิดประโยชน์ เพราะสิ่งไร้สาระก็สามารถเติมเต็มชีวิตให้เด็กได้" อนวรรษ กล่าว


สุดท้ายคือเรื่อง Twilight of Ours ผลงานโดย ธีรภัทร ศรีวิชัย นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยพะเยา ที่เล่าเรื่องผ่านครอบครัวที่ถูกทิ้งร้างเรื่องราวชีวิตของ 3 พี่น้อง พลอย ปอและไผ่ อดีตอันขมขื่นที่แต่ละคนแบกรับเอาไว้ไม่เท่ากัน 'พลอย' พี่สาวคนโตที่ยังได้เห็นความรักของพ่อแม่ลูกครอบครัวที่อบอุ่น 'ปอ'  ลูกคนกลางที่เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงของครอบครัวที เปลี่ยนไป ส่วน 'ไผ่' ลูกคนเล็กที่มีความเจ็บปวดที่สุดในวันที่พ่อทิ้งแม่และลูก 3 คนไปมีครอบครัวใหม่ และมีความรู้สึกว่าพ่อไม่เคยรักตนเองเลย ทุกคนเห็นแม่ได้รับความเจ็บปวดแสนสาหัส แผลในอดีตที่ถูกทิ้งร้าง และส่งผลต่อการกระทำในปัจจุบัน


ภาพยนตร์สั้นทั้ง 3 เรื่อง คือ การถ่ายทอดเรื่องเดิมๆ ปัญหาเดิมๆ  3 ตัวอย่างของ "ปัญหาครอบครัว"  ที่นำพาไปสู่ทุกคนรอบข้างในสังคมที่จะต้องได้รับผลกระทบได้ทั้งทางบวก และทางลบ โดยความตั้งใจ คือ เพื่อสื่อสารให้เห็นว่า เรื่อง "ครอบครัว คือเรื่องของ ทุกคน" แค่เพียงใส่ใจ กวาดตามองบ้าง ดังกรณีของน้องรุ้ง ที่คนทำร้ายเธอจนเสียชีวิตคือ คนเป็น "แม่" เรื่องเดิมๆ ปัญหาเดิมๆ แต่เพราะปัญหาเหล่านี้ ถูกมองเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปแล้วงั้นหรือ ?


นายแพทย์อัศวิน นาคพงษ์พันธุ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กล่าวว่า หนังทั้ง 3 เรื่องแม้จะมีมุมมองต่างกัน แต่มีจุดร่วมที่เป็นประเด็นเดียวกันคือ "ครอบครัว" ทั้งประเด็น ความรุนแรง หย่าร้างนอกใจ จากจุดร่วมที่ปัญหาในครอบครัว คือ คู่สามีภรรยาทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์ แต่เด็กที่ต้องสัมผัสกับปัญหาก็พอจะอยู่ได้ หากมีแหล่งพักพิง หรือพึ่งพิงทางจิตใจเข้ามาช่วยเหลือ เช่น เรื่องแรกเด็กอยู่กับป้า  ซึ่งป้าน่าจะช่วยเด็กได้ดี เรื่องที่ 2 มีปัญหามากแต่อยู่ได้ เพราะมีแหล่งพักพิงคือกลุ่มเพื่อน ที่คอยช่วยเหลือให้กำลังใจกัน เรื่องที่ 3 จะเห็นว่าครอบครัวมีปัญหาซ้อนปัญหา แต่ยังมีแหล่งช่วยเหลือคือความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องที่ยังประคองกันไปได้ ในฐานะจิตแพทย์เด็ก และวัยรุ่น คนไข้ที่มารักษา คือ คนไข้ไม่มีแหล่งพักพิงเลยทำให้ชีวิตแย่ลง ดังนั้น ต่อให้เด็กไม่ป่วย แต่ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ ความรุนแรง นอกใจ ก็สามารถส่งผลต่อจิตใจเด็กได้


"วิธีการจัดการและป้องกันปัญหาครอบครัวที่ดีทางหนึ่ง หากคิดจะมีครอบครัวต้องเรียนรู้ มีทักษะของการอยู่ร่วมกัน โดยคู่สามีภรรยาควรจะมีเทคนิคการทะเลาะเป็นจะเข้าใจกันมากขึ้น อย่าตั้งธงว่าความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ ใครๆ ก็ทำกัน ดังที่มักจะพูดกันจนติดปากว่า ผู้ชายก็เป็นอย่างนี้แหละ ใช่มันเป็นแต่มันไม่ดี จงอย่าคิดว่าคนที่พูดดี กลายเป็นคนโลกสวย หากเรามีการจัดการปัญหาที่ดีเราก็ควรจะเป็นผู้นำที่ชวนสังคม ในฐานะมนุษย์ร่วมโลกคุยกันดีๆ ก็เป็นวิธีที่จะอยู่ ด้วยกันอย่างเป็นสุข" คุณหมออัศวินกล่าว


และเสริมโดย นเรศ สงเคราะห์สุข ผู้แทนจากสถาบันนานาชาติไอโอจีที  เอ็นทีโอมูฟเม้นท์ ที่บอกว่า ภาพยนตร์สั้นทั้ง 3 เรื่อง มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัวทุกมิติ ทุกพื้นที่ ทุกเวลา จากเรื่องแรกเด็กชายมอเตอร์ เล่นฟุตบอลคนเดียวในสนามและมีคนในหมู่บ้านเดียวกันซึ่งอายุมากกว่ามาเล่นด้วย  เกิดการถามเด็กพ่อไปไหน พ่อไม่รัก เด็กกำพร้า คำพูดเหล่านี้คือการใช้ความรุนแรง เด็กโตมีสิทธิ์อะไรไปใช้ความรุนแรงกับเด็ก อย่าคิดว่าเป็นผู้ใหญ่ทำอะไรก็ได้ "โปรดอย่าทำให้ความรุนแรงเป็นเรื่องธรรมดา แต่ความจริงคือปัญหา" ดังนั้น จะส่งผ่านให้สังคมรับรู้ได้อย่างไร การเสนอทางออกบางเรื่อง ก็ไม่ควรปล่อยให้เด็ก หรือสังคมหาทางออกเอง เพราะบางครั้งคนที่ได้รับผลกระทบหาทางออกเองไม่ได้


"ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวควรจัดการอย่างไร? เป็นคำถาม ที่ยาก และไม่มีคำตอบ ต้องยอมรับความจริง และเข้าใจใหม่ว่า การแต่งงานกันจะไม่ทะเลาะกัน แต่หลักการที่ถูกคือการให้ความเคารพระหว่างกัน ไม่ใช้วาจาที่สะท้อนความรุนแรง ดังนั้น  ถ้าจะรื้อครอบครัวไทย ในสถานการณ์โลกเหวี่ยงเปลี่ยนแปลงเร็ว ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หน่วยทุกหน่วยทั้งสถาบัน ครอบครัว โรงเรียน ชุมชน สังคม ก็ต้องมาว่ากันใหม่ทำอย่างไรให้สังคมเห็นความเท่ากันของมนุษย์ เคารพกันมากขึ้น"


ระหว่างครอบครัวที่มีองค์ประกอบครบ พ่อ-แม่-ลูก แต่มีความรุนแรง ตลอดเวลา กับครอบครัวที่มีองค์ประกอบไม่ครบ พ่อคนเดียว แม่คนเดียว ขาดพ่อแม่อยู่กับปู่ย่า ตายาย พี่น้อง  แต่มีความสุข แบบไหนจะดีกว่ากัน จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดต่อในประเด็นที่ว่า "ครอบครัวที่ดีมีความสุข"  ควรเป็นครอบครัวแบบไหนกันแน่?

Shares:
QR Code :
QR Code