หนังสั้นมาก ต้านยาไอซ์ มจธ.ซิวรางวัล
เด็กครุศาสตร์ มจธ. ซิว 2 รางวัลซ้อน จากหนังสั้นมากเรื่อง “ท่อ” รางวัลชนะเลิศเยาวชนผลิตสื่อสร้างสรรค์ต้านยาไอซ์ บนสังเวียนไอเดีย “น็อคไอซ์” จาก ป.ป.ส.
วิรชา นนทการกิจ, ศิลา สุวรรณสะอาด, ยศมล จันทร์ศรี และพุฒิพงศ์ รอดเจริญ สมาชิกทีม “the face impact” 4 นักศึกษาจากสาขาวิชามีเดียอาร์ตส์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เจ้าของผลงานหนังสั้นมาก เรื่อง “ท่อ” รางวัลชนะเลิศเยาวชนผลิตสื่อสร้างสรรค์ในรูปแบบหนังสั้นมากต่อต้านยาเสพติดในโครงการ “ปล่อยของ 1” หัวข้อ knock out knock ice “สังเวียนไอเดีย…น็อคไอซ์” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เพื่อส่งเสริมให้เกิดสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในสังคม โดยสาระสำคัญของผลงานทุกชิ้นที่ส่งเข้าประกวดครั้งนี้ กว่า 200 ชิ้น ที่นักศึกษาส่งเข้ามาประกวด ล้วนมีเอกลักษณ์ เพื่อการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพิษภัยของการเสพยาเสพติด ประเภทไอซ์ ไม่ให้หลงไปกับโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ว่าเสพแล้วจะหุ่นดีหรือช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ แต่กลับทั้งที่มีฤทธิ์ทำลายประสาทสูงกว่ายาบ้าถึง 8-10 เท่า
จากผลงานทั้ง 200 ชิ้น ผลงานเรื่อง “ท่อ” เป็นเพียง 1 ผลงาน ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับอุดมศึกษา “วิรชา” บอกว่า “ท่อ” คือชื่อหนังสั้นของพวกเขา มีแรงบันดาลใจมาจากนิทานไทยเรื่องเทวดากับคนตัดไม้ “ภาพแรกคือเด็กผู้ชายติดยากำลังเร่งรีบนำยาไอซ์ไปเสพด้วยความกระหาย แต่ด้วยความรีบเร่งก็ทำให้ล้มลง จนซองยาไอซ์ในมือของเขากระเด็นตกลงไปในท่อระบายน้ำ ด้วยความโศกเศร้าเสียใจ เขาจึงนั่งจับเจ่าอยู่ที่นั่น กระทั่งเทพารักษ์ออกมาจากเสาไฟฟ้า เด็กหนุ่มจึงขอความช่วยเหลือทันที เพื่อช่วยเด็กติดยา เทพารักษ์ จึงลงไปหยิบของจากท่อระบายขึ้นมา แล้วถามเด็กหนุ่มติดยาว่าใช่ของเขาหรือไม่ ทั้งตุ๊กตา อูคูเลเล่ ฮูล่าฮูป หนังสือ รวมแล้วล้วนเป็นของที่เป็นประโยชน์ทั้งสิ้น แต่ก็ไม่ใช่ยาไอซ์สักที จบท้ายหนังสั้นด้วยประโยคเด็ดที่ว่า…ที่ท่านไม่หยิบให้เพราะท่านรู้ว่ามันไม่ดี”
หนังสั้นมากเพียง 30 วินาที ของพวกเขา ชนะใจกรรมการ 70 เปอร์เซ็นต์ ของคะแนนทั้งหมด ส่วนคะแนน 30 เปอร์เซ็นต์ มาจากจำนวนคนที่เข้ามากด link ใน web ของสำนักงานสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. “คนดูประมาณ 4,000 คน กด like ให้เรา 400 คน ซึ่งเทียบกับกลุ่มอื่นๆ ตอนนั้นเป็นอันดับต้นๆ หลังจากที่โพสต์ไปเพียง 7 วัน เราผ่านเข้ารอบ 2 ซึ่งได้มีโอกาสพรีเซนต์ผลงาน แนวคิดเบื้องหลังการถ่ายทำ และต้นทางความคิดของพวกเรา ว่าทำไมถึงทำชิ้นงานออกมาในลักษณะนี้ ซึ่งในรอบนี้คะแนน 80 เปอร์เซ็นต์ จะมาจากคณะกรรมการ วันนั้นพวกผมอยู่ที่มหาวิทยาลัย กรรมการเขาโทร.มาบอกว่าของเราผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศแล้วนะ แค่เหลือคะแนนอีก 20 เปอร์เซ็นต์ ทางผู้จัดเขาจะนำผลงานของเราไปเปิดฉายที่ central world พร้อมกัน 5 ทีมสุดท้าย เพื่อให้ผู้คนที่เดินผ่านไปมาเข้ามาชมหนังสั้นของพวกเรา ภายใน 3 วัน หนังของใครมีคนเข้ามาโหวตมากที่สุด ก็จะได้รับรางวัลชนะเลิศ”
ในที่สุดผลงานเรื่องท่อของพวกเขาก็ได้รับการโหวตมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง คว้า 2 รางวัลไปครอง แต่เพียงทีมเดียว นั่นคือรางวัล popular vote หรือรางวัลขวัญใจมหาชน ได้รับรางวัล 10,000 บาท และรางวัลชนะเลิศหนังสั้นมากไปครอง ได้รับรางวัล 50,000 บาท อีกด้วย ศิลาและยศพลบอกว่า นี่เป็นครั้งแรกของพวกเขาที่ได้นำวิชาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาใช้จริง ถือเป็นประสบการณ์อันมีค่าสำหรับพวกเขา
พุฒิพงศ์ บอกว่า จากการทำผลงานชิ้นนี้ที่พวกเขาต้องหาข้อมูลเกี่ยวกับยาไอซ์ทั้งในเว็บไซต์และสื่อต่างๆ ทำให้พวกเขาที่ไม่เคยรู้จักยาไอซ์อย่างลึกซึ้งมาก่อน ได้เข้าใจฤทธิ์อันร้ายแรงของยาไอซ์และยิ่งทำให้พวกเขาไม่อยากเข้าใกล้ ยาเสพติดอีกเลย ที่สำคัญพวกเขามองว่า ประสบการณ์จากการแข่งขันในเวทีแบบนี้ ทำให้พวกเขาเรียนรู้การทำงานเชิงสร้างสรรค์ และกล้าที่จะนำประสบการณ์นี้ถ่ายทอดให้น้องๆ รุ่นต่อไปด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง