หญิงสูงวัย เสี่ยงโรคการหย่อนตัวของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน
แนะวิธีเลี่ยง โรคการหย่อนตัวของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานในสตรีสูงวัย
จากจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น โดยพบว่า 12% ของผู้หญิงในเอเชียเกิดอุบัติการณ์ของโรคการหย่อนตัวของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน ซึ่งพบมากในสตรีที่มีลูกแล้วกว่า 50% แต่มีเพียง 20% ของผู้มีภาวะนี้ได้เข้ารับการรักษาอาการ ดังนั้น เพื่อสร้างเสริมความรู้และกระตุ้นเตือนภัยของโรคการหย่อนตัวของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน และโรคปัสสาวะเล็ดราดในสตรี ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงร่วมกับราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และ International Urogynecological Association (IUGA) จัดการประชุมวิชาการ “IUGA Exchange Bangkok 2015” โดยมีแพทย์และนักวิชาการจากประเทศต่างๆ อาทิ มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ออสเตรเลีย เข้าร่วมประชุม ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อเร็วๆนี้
รศ.นพ.สุวิทย์ บุณยะเวชชีวิน หัวหน้าสาขาวิชาเวชศาสตร์เชิงกรานสตรีและศัลยกรรมซ่อมเสริม ภาควิชาสูติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า โรคการหย่อนตัวของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน และโรคปัสสาวะเล็ดราด เป็นคนละโรคกัน แต่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งโรคการหย่อนตัวของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแสดง แต่ในกรณีที่มีมาก อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการหน่วงบริเวณท้องน้อย มีก้อนตุงที่บริเวณอวัยวะเพศ เดินลำบาก ปัสสาวะ-อุจจาระลำบาก และปัสสาวะเล็ดราด รวมถึงกั้นอุจจาระไม่อยู่ ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคมีทั้งการตั้งครรภ์, การคลอดบุตร, ความอ้วน, อาชีพที่ต้องเบ่งท้อง, เข้าสู่วัยทอง, อายุที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น การรักษาคือ ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยการลดน้ำหนัก หลีกเลี่ยงการยกของหนัก, ป้องกันไม่ให้มีภาวะท้องผูกและฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน รอบช่องคลอด นอกจากนี้ สามารถใช้ห่วงพยุงช่องคลอด เป็นการรักษาเริ่มแรกของภาวะการหย่อนตัว สุดท้ายคือ การผ่าตัดมดลูกทางช่องคลอด
ส่วนโรคปัสสาวะเล็ดราด พบมากในสตรีที่มีอายุมากขึ้น โดยเฉลี่ยประมาณ 50% ของสตรีในวัยหมดประจำเดือน ภาวะปัสสาวะเล็ดราดแบ่งได้เป็น ไอจามปัสสาวะเล็ด, ปัสสาวะรีบและราด ปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้ มีอาทิ การตั้งครรภ์, ภาวะอ้วน, พันธุกรรม (มีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้), ตัดมดลูก, สูบบุหรี่, ดื่มกาแฟ เป็นต้น
ส่วนการรักษาของโรคนี้ต้องแยกเป็นประเภท กรณีไอจามปัสสาวะเล็ด ต้องปรับพฤติกรรม เช่น ลดปริมาณการดื่มน้ำ, หลีกเลี่ยงกาแฟ, น้ำอัดลม, ลดน้ำหนัก, แก้ไขอาการท้องผูก, บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ซึ่งถ้าไม่ดีขึ้นต้องผ่าตัดแก้ไขท่อปัสสาวะ ส่วนกรณีปัสสาวะรีบและราด ต้องใช้ยาในการรักษาร่วมกับการควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ รศ.นพ.สุวิทย์ กล่าว
ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต