‘หญิงท้อง’ ในพื้นที่เกษตรกรรม มีสารตกค้างในร่างกายสูง

ที่มา: manager.co.th


หญิงท้อง” ในพื้นที่เกษตรกรรม มีlkiตกค้างในร่างกายสูง thaihealth


แฟ้มภาพ


ผลวิจัยชี้ “หญิงท้อง” ในพื้นที่เกษตรกรรม มียาฆ่าแมลงตกค้างในร่างกายสูง ยิ่งเป็นชาวไร่ชาวนาเสี่ยงรับสารพิษตกค้างมากกว่าหญิงท้องทั่วไป 11.9 เท่า นักวิชาการชี้ส่งผลอารมณ์ซึมเศร้า ตรงเข้าสู่ทารกในครรภ์ได้ทันที


ที่ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ศ.พรพิมล กองทิพย์ อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในการเสวนาจากต้นน้ำสู่ครรภ์มารดา : ปัญหาการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ต้นน้ำ และผลวิจัยการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในแม่และทารก ว่า จากการศึกษาหญิงตั้งครรภ์ในชุมชนเกษตรกรเพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างการได้รับสารกำจัดศัตรูพืชในระหว่างตั้งครรภ์ และผลต่อการพัฒนาระบบประสาทของทารก ในกลุ่มอาสาสมัครหญิงตั้งครรภ์ที่มาฝากครรภ์จำนวน 82 คน ในโรงพยาบาล 3 แห่ง คือ รพ.อำนาจเจริญ รพ.สวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ และ รพ.พหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี โดยมีอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ และร้อยละ 39 เป็นชาวนา หรือประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยได้เก็บตัวอย่างปัสสาวะและส่งวิเคราะห์ที่ ม.มหิดล


ศ.พรพิมล กล่าวว่า ผลการศึกษาพบว่า มีสารไกลโฟเสต และสารพาราควอต ซึ่งเป็นสารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง โดยพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมจะมีความเสี่ยงรับสารไกลโฟเสตกว่าหญิงตั้งครรภ์ทั่วไปถึง 11.9 เท่า และมีความเสี่ยงรับสารพาราควอตมากกว่าคนทั่วไปประมาณ 1.3 เท่า ที่น่าตกใจ คือ แม้ไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่หากอาศัยอยูใกล้พื้นที่เกษตรกรรมก็มีความเสี่ยงด้วย รวมทั้งสมาชิกในครอบครัวที่อาศัยในบ้านเดียวกัน แต่ทำงานในพื้นที่เกษตร หญิงตั้งครรภ์ก็มีความเสี่ยงด้วย


ผศ.สุพัตรา ปรศุพัฒนา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงการวิจัยสารคลอร์ไพริฟอสกับผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมอง ว่า สารดังกล่าวเป็นสารกำจัดศัตรูพืชที่เข้าสู่ร่างกายได้ทั้งรับประทาน การหายใจ สัมผัสทางผิวหนัง โดยเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเข้าสู่กระแสเลือด และสู่สมอง ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาการ และอาจส่งผลต่อความผิดปกติทางอารมณ์ ภาวะซึมเศร้า โดยสารดังกล่าวเมื่อเข้าสู่ร่างกายแม่ก็จะถ่ายทอดสู่ทารกในครรภ์ได้ทันที โดยที่ผ่านมาได้ศึกษาในหนูทดลอง โดยให้สารดังกล่าวกับหนูซ้ำๆ ในขนาดต่างกัน พบว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม มีอารมณ์คล้ายภาวะซึมเศร้า โดยเอาหนูไปว่ายน้ำกลับไม่ว่าย แต่ยอมจมน้ำ ซึ่งผิดธรรมชาติของสัตว์ นอกจากนี้ ในสหรัฐฯมีการสำรวจประชากรอาชีพเกษตรกรรมกว่า 5 หมื่นคน เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างการรับสารดังกล่าวและการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย พบว่า ในกลุ่มที่รับสารคลอร์ไพริฟอสในขนาดสูง เฉลี่ยทำงานคลุกคลีกับสารเคมีนี้ประมาณ 56 วันต่อปี จะมีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย 2.37 เท่า เมื่อเทียบกับกลุ่มไม่ได้รับสารนี้

Shares:
QR Code :
QR Code