ส่อง 8 วิธี ช่วยผู้ต้องขัง ‘ปอด’ สะอาด
ที่มา : ผู้จัดการรายวัน 360 องศา
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
รู้หรือไม่ "เรือนจำ" หรือ "แดนคุก" ที่จองจำ "ผู้ต้องขัง" ที่กระทำความผิด เป็นสถานที่ที่มีควันบุหรี่หนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่ง
นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ข้อมูลว่า เรือนจำหรือทัณฑสถานมีอัตราการสูบบุหรี่สูงถึงร้อยละ 75 ที่น่าห่วงคือเมื่อคนสูบบุหรี่ในเรือนจำมีมาก ขณะที่เรือนจำเป็นสถานที่ปิด ที่ต้องอยู่อาศัยกินนอนในนั้น ประกอบกับเรือนจำบางแห่งมีสถานที่คับแคบ ขณะที่ผู้ต้องขังมีเป็นจำนวนมาก ทำให้เรือนจำบางแห่งถึงขั้นตลบอบอวลไปด้วย "ควันบุหรี่" จนบางครั้งผู้พบเห็นคิดว่าเกิดเหตุไฟไหม้
แม้ผู้ต้องขังจะสูญสิ้นอิสรภาพ เนื่องจากต้องรับโทษจากการกระทำความผิด แต่พวกเขาก็มีสิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองในเรื่องสุขภาพ เพราะผู้ต้องขังบางส่วนไม่ได้เป็นผู้สูบบุหรี่ แต่เมื่อเรือนจำเต็มไปด้วยควันบุหรี่ จึงทำให้ผู้ต้องขังเหล่านี้ต้องเสียสุขภาพไปด้วยจากพิษของ "ควันบุหรี่มือสอง" เพื่อเป็นการลดปัญหาดังกล่าว "โครงการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ในเรือนจำ" จึงถือกำเนิดขึ้น
ดร.สุรินทร กลัมพากร เลขาธิการเครือข่ายพยาบาลเพื่อการควบคุมยาสูบแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ในเรือนจำ สสส. เล่าว่า กลุ่มผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำที่มีความเป็นอยู่แออัดและมักนิยมสูบบุหรี่ เนื่องจากผู้ต้องขังส่วนใหญ่มักติดคุกด้วยคดียาเสพติด ซึ่งบุหรี่ถือเป็นพื้นฐานของการนำไปสู่ยาเสพติดชนิดอื่นๆ อยู่แล้ว ทำให้ส่วนใหญ่ผู้ต้องขังมักเป็นกลุ่มที่มีการสูบบุหรี่อยู่แล้ว โดยพบว่าผู้ต้องขังมักใช้การสูบบุหรี่เป็นการระบายความเครียด และทำให้ก่อปัญหาสุขภาพและการควบคุมโรค เช่น โรควัณโรค โรคเรื้อรัง เบาหวาน และความดันโลหิตสูง เป็นต้น ทั้งตัวผู้สูบและผู้รับควันบุหรี่มือสอง
"การดูแลสุขภาพของผู้ต้องขังในเรือนจำ บุคลากรหลักจะเป็นพยาบาล จึงเห็นว่าพยาบาลเป็นบุคคลที่มีความสำคัญที่จะขับเคลื่อนบทบาทการควบคุมยาสูบได้ เครือข่ายฯ จึงร่วมกับกองบริการการแพทย์ กรมราชทัณฑ์ จัดทำโครงการเรือนจำปลอดบุหรี่โดยพยาบาลขึ้นเมื่อปี 2551 นำร่องที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ทดลองทำเพียง 1 แดน พบว่า สามารถช่วยควบคุมและลดการบริโภคยาสูบลงได้ จึงมีการขยายต่อไปในเรือนจำอื่น และร่วมกับ สสส.จัดอบรมพัฒนาศักยภาพพยาบาลในการช่วยให้ผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่เรือนจำให้เลิกเสพยาสูบ ป้องกันนักสูบรายใหม่ และเพิ่มพื้นที่ปลอดบุหรี่ในเรือนจำ โดยพยาบาลที่รับการพัฒนาก็กลับไปขับเคลื่อนการดำเนินงานในเรือนจำที่ตนเองปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งผลการดำเนินงานพบว่าพยาบาลสามารถช่วยเรื่องการควบคุมยาสูบในเรือนจำได้ โดยปี 2557-2559 เครือข่ายฯ จึงร่วมกับกรมราชทัณฑ์จัดทำโครงการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ในเรือนจำขึ้น โดยกรมฯ ได้เลือกเรือนจำนำร่องเข้าร่วมโครงการ โดยมีเรือนจำที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 13 แห่ง" ดร.สุรินทร กล่าว
สำหรับการดำเนินงานขับเคลื่อนการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ในเรือนจำที่มีความโดดเด่นและสามารถเป็นต้นแบบในการช่วยสร้างปอดของผู้ต้องขังให้สะอาดขึ้นได้คือ "เรือนจำกลางจังหวัดกำแพงเพชร" ซึ่งได้รับคัดเลือกให้เป็นต้นแบบเรือนจำปลอดบุหรี่
โดย น.ส.โศรยา ฤทธิ์อร่าม ผู้บัญชาการเรือนจำกลางกำแพงเพชร เปิดเผยเคล็ดลับความสำเร็จนี้ว่า การดำเนินงานลดการสูบบุหรี่ในเรือนจำกลางกำแพงเพชร อาศัย 8 วิธีการดังนี้
1. ลดจำนวนวันที่จะจำหน่ายยาสูบใน เรือนจำ เหลือสัปดาห์ละ 2 วันเท่านั้น คือ ทุกวันจันทร์ และวันศุกร์ เป็นเฉพาะเวลา
2. กำหนดพื้นที่สูบบุหรี่จากเดิมแดนละ 3 จุด เหลือเพียงแดนละ 1 จุด ซึ่งภายในพื้นที่แบ่งเป็น 2 แดน คือ แดน 3 และ แดน 5 เท่ากับว่าในเรือนจำมีพื้นที่สูบบุหรี่ได้เพียง 2 จุด เท่านั้น และไกลจากคนอื่น โดยมีการติดป้ายว่า "จุดสมัครใจตาย" "จุดเผาปอด" เป็นต้น
3. กำหนดพื้นที่ปลอดบุหรี่ ห้ามมิให้มีการสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด คือ บริเวณสถานพยาบาลในเรือนจำ โรงเรียนเรือนเพชรศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนใน เรือนจำ แดนสูทกรรม (ที่ประกอบอาหาร) โรงอาหาร แดนหญิง แดนควบคุมพิเศษ ห้องเยี่ยมญาติ และเรือนนอน
4. กำหนดเวลาในการออกไปสูบบุหรี่ คือ เวลาหลังอาหาร ส่วนผู้ต้องขังที่อยู่ในกองงานสามารถสูบได้เฉพาะช่วงเวลาพักเท่านั้น และเมื่อฝ่าฝืน เช่น แอบสูบเวลางาน เป็นต้น ก็จะมีบทลงโทษ เช่น ต้องส่งงานมากขึ้น
5. กำหนดบทลงโทษ หากไม่สูบบุหรี่ในพื้นที่ที่กำหนด ซึ่งมีเพียงแดนละ 1 จุดเท่านั้น จะเข้าสู่มาตรการ 20 คือ ฝึกระเบียบ และขัดเกลาจิตใจเป็นเวลา 20 วัน
6. กำหนดบทลงโทษ หากสูบบุหรี่ในพื้นที่ปลอดบุหรี่ จะถูกลงโทษควบคุมความประพฤติเป็นเวลา 3 เดือน เช่น สูบบุหรี่ในเรือนนอน จะถูกแยกขังในแดนควบคุมพิเศษ ลงโทษทางวินัย ตัดการอนุญาตเยี่ยมเยียนของญาติ ขัดเกลาจิตใจ ฝึกวินัย เป็นเวลา 3 เดือน
7. กำหนดมาตรการจอมืด หากมีการสูบบุหรี่ในเรือนนอน ไม่เพียงแค่ผู้สูบจะถูกลงโทษเท่านั้น เพื่อนที่พักอยู่ด้วยกันก็จะถูกลงโทษด้วย โดยการงดส่งสัญญาณโทรทัศน์เป็นเวลา 3 วัน 7 วัน หรือ 10 วัน เพื่อให้เกิดทั้งห้องต้องช่วยดูแลกันและกันไม่ให้กระทำผิด
และ 8. จัดคลินิกเลิกบุหรี่ในสถานพยาบาล เพื่อให้คำปรึกษาและแนะนำวิธีการแก่ผู้ต้องขังที่มีความพร้อมและสมัครใจเลิกบุหรี่ โดยมีพยาบาลวิชาชีพ 3 คน
ด้าน นายเศกสรรค์ จันทรปราสาท พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หัวหน้าโครงการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ในเรือนจำกลางกำแพงเพชร สสส. กล่าวว่า หลังจากเข้ารับการอบรมพัฒนาศักยภาพพยาบาลในการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ในเรือนจำ ก็กลับมาพัฒนาในเรือนจำกลางกำแพงเพชร โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2554 จากเดิมที่มีผู้ต้องขังสูบบุหรี่ประมาณร้อยละ 75 ดำเนินการจนถึงปัจจุบันสามารถลดอัตราการสูบบุหรี่ลงไปได้ 20% ลดยอดจำหน่ายบุหรี่และยาเส้นลง 50%
สำหรับการติดตามช่วยเลิกบุหรี่ในเรือนจำจะง่ายกว่าสังคมภายนอก เพราะที่นี่มีกฎระเบียบในการดูแล นอกจากนี้ยังง่ายต่อการติดตามในการเลิกบุหรี่ ทั้งการมารับยา หรือการเดินผ่านกันก็สอบถามกันได้ ส่วนใหญ่คนที่เลิกคือคนที่เจ็บป่วยและเลิกเพราะครอบครัว
"การสูบบุหรี่ในเรือนจำส่งผลกระทบต่อสุขภาพพอสมควร โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ บางคนเป็นหอบหืดอยู่แล้วก็เป็นมากขึ้น บางคนก็เกิดอาการไอ เจ็บคอ และเป็นภูมิแพ้ การลดการสูบบุหรี่ลงในเรือนจำจึงเป็นการช่วยส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคภายในพื้นที่ด้วย สำหรับคนที่จะเลิกบุหรี่ มีการจัดทำกลุ่มสมัครใจเลิกบุหรี่แบบมีพี่เลี้ยง โดยมีผู้ต้องขังที่เลิกสูบบุหรี่ได้แล้วเป็นพี่เลี้ยงดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้มีแล้ว 6 รุ่น รวม 140 คน เลิกสูบบุหรี่ได้ 80 คน" นายเศกสรรค์ กล่าว
นายเอ (นามสมมติ) ผู้ต้องขังที่สมัครใจเลิกบุหรี่และเป็นพี่เลี้ยงเลิกบุหรี่ เล่าว่า เดิมตนสูบบุหรี่วันละ 3 ซอง แต่เมื่อรู้ว่ามีโครงการเลิกบุหรี่ก็สมัครใจ เพราะอยากกลับออกไปเป็นพ่อที่ดีของลูก จึงตัดสินใจเข้าร่วมและหักดิบเลิกบุหรี่เลย ขณะนี้สามารถเลิกได้แล้ว 5 เดือน โดยตนจะพยายามไม่ไปในที่ที่มีการสูบบุหรี่ และหาอย่างอื่นทำเพื่อให้ไม่อยากบุหรี่ และเมื่อเป็นพี่เลี้ยงก็จะแนะนำเรื่องจิตใจก่อนว่าจะต้องเข้มแข็ง เพราะจะเลิกได้หรือไม่อยู่ที่ความเข้มแข็งของจิตใจ สำหรับการเลิกบุหรี่ช่วยให้ตนที่เป็นโรคหอบมีสุขภาพที่ดีขึ้น แข็งแรงขึ้น โดยหวังว่าจะเป็นคนใหม่ที่มีสุขภาพที่ดี