“ส่อง” สานพลังชุมชนท้องถิ่น สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืนอย่างเท่าเทียม

เรื่องโดย เกรียงศักดิ์ มั่นเจาะ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก เวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน” ปี 2566

ภาพโดย ฐิติชญา สัมปุรณะพันธุ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

                   “…ด้วยเวลากว่าหนึ่งทศวรรษ  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)และภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ เป็นพลังสำคัญในการสร้างเสริมศักยภาพของชุมชนท้องถิ่น สู่การเป็นสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท้องที่ องค์กรชุมชน และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ร่วมสร้างสรรค์ระบบสังคมที่สนับสนุนต่อการมีสุขภาวะที่ดี เพื่อตอบโจทย์ตั้งแต่ระดับพื้นที่ ระดับเครือข่าย ระดับประเทศ ระดับนานาชาติ เป็นเรื่องที่ดี…”

                   เป็นคำกล่าวของ ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่เอ่ยชื่นชมในวันเปิดเวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน” ปี 2566 วาระ : พลังชุมชนท้องถิ่น ตอบโจทย์ประเทศ เมื่อต้นเดือน ก.ค. 2566 ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี  ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 4,000 คน

                   จากปาฐกถาพิเศษ  ร่วมสร้างสุขภาวะประเทศไทย ความตอนหนึ่งของดร.สาธิต ปิตุเตชะ กล่าวอีกว่า “…เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. มีสมาชิกกว่า 3,000 ตำบล เป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ที่มีวิธีคิด วิธีการเรียนรู้ และวิถีปฏิบัติแบบมุ่งใช้พื้นที่เป็นฐานพัฒนา และใช้สุขภาวะชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของทุกนโยบาย ดึงทุกภาคส่วนร่วมสร้างเสริมความเข้มแข็ง ความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำเชิงสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมพึ่งตนเองได้  มาจาก สสส. ใช้ประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอด 20 ปี ทำงานเชิงรุกในชุมชน สร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม และวิถีการดำเนินชีวิตผู้คนอย่างเป็นระบบ”

                   ขยายความตามมาด้วย ทั้งรพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน องค์กรภาครัฐ เอกชน องค์กรทางสังคม เสริมความเข้มแข็งให้ระบบปฐมภูมิ ระบบการแพทย์ฉุกเฉินและวิกฤต มีระบบการดูแล ระบบการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ระบบการเฝ้าระวังและป้องกันโรคติดต่อ ครอบคลุมประชากร 100% โดยเฉพาะในกลุ่มที่ต้องการดูแลพิเศษ เด็ก ผู้พิการ ผู้สูงอายุในระยะยาว

                   อีกทั้งจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม และโครงสร้างพื้นฐาน นำไปสู่การสร้างชุมชนท้องถิ่นฐานรากที่มีความเข้มแข็งพึ่งตนเองได้ สร้างความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำเชิงสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

                   อย่างไรก็ตามเวทีวันดังกล่าว ได้เห็นพลังของการใช้ศักยภาพชุมชนท้องถิ่น ซึ่งมีสมาชิกกว่า 500 ตำบลทั่วไทยมาร่วมสนับสนุนกลไกให้เกิดชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ใน 6 ปัจจัยที่เป็นรูปธรรมสำคัญ ประกอบด้วย

                   1 ผู้นำมีทักษะ 2 กลไกขับเคลื่อนให้เกิดการเรียนรู้ มีส่วนร่วม 3 นโยบายสาธารณะและมาตรการทางสังคม แสดงถึงความเข้มแข็งของชุมชน  4 แนวทางการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ 5 ระบบข้อมูล เครื่องมือทางวิชาการ  และ 6  ระบบบริการสาธารณะครอบคลุม ทำให้คนในชุมชน มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

                   อีกทั้ง ยังได้เห็นพลังภาคีเครือข่าย ซึ่งมีสมาชิกกว่า 500 ตำบลทั่วไทย ที่เป็นตัวแทนเครือข่ายขนาดใหญ่ จาก 4,000 คน ร่วมถกร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ สู่สังคมสุขภาวะแนวใหม่ บูรณาการการทำงานหนุนเสริมพลังสร้างการเรียนรู้-ส่วนร่วม-เปลี่ยนแปลง พร้อมถกแนวคิดการถ่ายโอน รพ.สต.ให้อบจ. เน้นสุขภาวะชุมชน เท่าเทียม สู่ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งคุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างยั่งยืน ในลักษณะสร้างสรรค์อีกด้วย

                   เมื่อสปอรต์ไลท์จับไปที่ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. ขึ้นเวทีกล่าวไล่ย้อนบอกเล่าไปเมื่อปี 2554 สสส.ได้จัดเวทีครั้งแรกในชื่อว่า เวทีฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน เพื่อร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ โดยยึดประกาศปฏิญญาเครือข่าย เป็นทิศทางสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือทุกองค์กรอื่นที่เข้าร่วมอย่างต่อเนื่องชัดเจน

                   ไล่เรียงมาถึง ปี 2566 เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน ของ สสส.ก็ยังคงยึดหลักการใช้พื้นที่เป็นฐานในการพัฒนาและให้ทุกนโยบายเพื่อสุขภาวะมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท้องที่ (กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน) องค์กรชุมชน และหน่วยงานรัฐรวมถึงองค์กรที่เกี่ยวข้องเป็นฐานพัฒนาสำคัญเช่นเดิม

                   เห็นผลจากการทำงานเชิงพื้นที่กว่า 10 ปีของ สสส.ทำให้เกิดนโยบายสาธารณะระดับตำบล อำเภอ เครือข่าย และจังหวัด ที่เน้นการสานพลังทุนทางสังคมของพื้นที่จัดการตนเองเป็นผล แต่ก็ยังมิอาจปล่อยวางได้และต้องขับเคลื่อนให้เข้มข้นกว่าเดิม

                   เมื่อคลี่ประเด็นปัญหาสำคัญของชุมชนที่ยังต้องช่วยกันขับเคลื่อน ยังมีถึง 13 ประเด็น คือ 1.ยาสูบ 2.แอลกอฮอล์และยาเสพติด 3.อาหาร กิจกรรมทางกาย 4.สุขภาพจิต 5.ความปลอดภัยทางถนน 6.มลพิษจากสิ่งแวดล้อม 7.ปัญหาสุขภาพอุบัติใหม่และปัจจัยเสี่ยงอื่น 8.การรับมือภัยพิบัติและภาวะฉุกเฉิน 9.การดูแลผู้สูงอายุ 10.การดูแลเด็กปฐมวัย 11.การควบคุมโรคติดต่อ 12.เศรษฐกิจชุมชน และ13.โครงข่ายความคุ้มครองทางสังคม ก็ยังมีปัจจัยและเงื่อนไขมากมายขวางอยู่

                   จบท้ายด้วยคาดหวังเวทีสานพลังฯ ครั้งนี้ จะเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้และบูรณาการงานสร้างเสริมสุขภาพร่วมกับ 8 หน่วยงานหลัก  ประกอบด้วย ก.สาธารณสุข (สธ.) ก.มหาดไทย (มท.) ก.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ก.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้องเข้าสานพลังเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่และภาคีสร้างเสริมสุขภาพด้วยทุนทางสังคมและศักยภาพของชุมชนท้องถิ่น สู่เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ 7+1

                   “…มั่นใจว่า ในระยะ 10 ปี พ.ศ.2565-2574 และเป้าหมายสำคัญในการร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่  จะตอบโจทย์ประเทศสร้างสุขภาวะของประชาชนอย่างมีพลังและครอบคลุม” ดร. สุปรีดา กล่าว

                   การทำงานเชิงพื้นที่ของ สสส. ที่ได้ร่วมกับเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ใน13 ประเด็น ด้วยการสร้างการเรียนรู้ร่วมกันจะสามารถผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะระดับตำบล อำเภอ เครือข่าย และจังหวัด ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและการเสริมสร้างสุขภาพในกับชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น

Shares:
QR Code :
QR Code