ส่อง…ศูนย์เรียนรู้ “เกษตรคนเมือง”

ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


ส่อง...ศูนย์เรียนรู้ “เกษตรคนเมือง” thaihealth


แฟ้มภาพ


พลิกฟื้นสวนยาง 100 ไร่ให้กลายเป็นเกษตรผสมผสาน ภายใต้แนวคิดการออกแบบพื้นที่ให้คนสามารถพึ่งพาตนเองได้ใน 5 ด้าน


    การสร้างค่านิยมในการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ ผู้ประกอบการร้านอาหารก็ถือเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญในการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการกินของผู้บริโภคในปัจจุบัน


     เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้พาไปรู้จัก1 ใน 13 ร้านอาหารในพื้นที่ จ.สงขลา ที่ผ่านเกณฑ์ประเมินให้เป็นแหล่งบริการอาหารเพื่อสุขภาพ ของโครงการพัฒนาเสริมสร้างแหล่งให้บริการอาหารเพื่อสุขภาพ อย่าง‘ศูนย์เรียนรู้เกษตรคนเมืองบ้านภูลิตา’ ที่สสส.หนุนเสริมให้เกิดพื้นที่ต้นแบบ“บูรณาการระบบอาหารและแหล่งบริการอาหารเพื่อสุขภาพ”ขึ้น


      นางรดา มีบุญ ผู้จัดการและผู้อำนวยการเกษตรคนเมืองบ้านภูลิตา เล่าถึงแนวคิดการสร้างศูนย์เรียนรู้เกษตรคนเมืองบ้านภูลิตาและการมีส่วนร่วมในโครงการฯ ว่า‘ศูนย์เรียนรู้เกษตรคนเมืองบ้านภูลิตา’ ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้และนันทนาการของผู้คนในชุมชน รวมไปถึงเป็นสถานที่รวมรวบคนรักสุขภาพ โดยมีรูปแบบการให้บริการแบบครอบครัว และจากการที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของสุขภาวะผู้ที่มาใช้บริการ บ้านภูลิตาจึงถูกต่อยอดให้เป็นแหล่งบริการอาหารปลอดภัย ด้วยแนวคิดการผลิตเกษตรปลอดสารพิษบนพื้นที่จำกัด การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้คุ้มค่า และนำวัตถุดิบทางการเกษตรมาปรุงอาหารตามหลักโภชนาการและบริการสู่ผู้บริโภคอย่างปลอดภัย


     “ในอนาคตต้องการให้มีแหล่งความรู้ในเรื่องของการเกษตร เช่น โครงการท่องเที่ยวเชิงเกษตรอาหารปลอดภัยหรือการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพราะมนุษย์เราความสุขไม่ได้มีแค่การกินอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องของการพักผ่อน การเรียนรู้ เข้ามาด้วย เพื่อให้มนุษย์มีสุขภาพที่ดี รู้สึกซาบซึ้งเป็นอย่างยิ่งที่ทาง สสส.ให้ความสำคัญกับบ้านภูลิตา ให้เกียรติเป็นแหล่งผลิตอาหารต้นน้ำ และเราก็พร้อมจะดำเนินโครงการไปอย่างต่อเนื่อง ส่งต่อให้ถึงคนรุ่นใหม่ต่อไป”นางรดากล่าว


ส่อง...ศูนย์เรียนรู้ “เกษตรคนเมือง” thaihealth


   ส่วนนายสนธิกาญจน์ วิโสจสงคราม ผู้อำนวยการศูนย์กสิกรรมไทยบ้านภูลิตาและในฐานะประธานอาหารสุขภาพอำเภอเมืองสงขลา เล่าถึงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ฯ สู่การเป็นกสิกรรมไทยบ้านภูลิตาว่า ‘กสิกรรมไทยบ้านภูลิตา’มีพื้นที่ประมาณ100ไร่ จากการพลิกฟื้นสวนยางให้กลายเป็นเกษตรผสมผสาน ภายใต้แนวคิดการออกแบบพื้นที่ให้คนสามารถพึ่งพาตนเองได้ใน 5 ด้าน คือ1.ด้านอาหาร มีพื้นที่ปลูกข้าว ผัก ผลไม้ และการเลี้ยงสัตว์ 2.ด้านการลดพลังงาน สามารถผลิตพลังงานทดแทน 3.ด้านปัจจัยการผลิต ลดต้นทุนการผลิตเองได้ 4.ด้านการตลาด คนสนใจเข้ามาในพื้นที่ และ5.ด้านชุดความรู้ เกิดจากการลงมือทำและถูกถ่ายทอดไปให้คนรุ่นใหม่ นำไปสู่การทำให้เกิดความยั่งยืน โดยผ่านการจำลองเหตุการณ์ของการเกิดสงครามโลกครั้งที่3 หรือเกิดวิกฤตการณ์ทางอาหารขึ้น คนในพื้นที่กสิกรรมไทยก็จะสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้


    “ขอขอบคุณหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาในพื้นที่ ช่วยสร้างแนวคิด ให้ความรู้ ทำให้พื้นที่ของเราได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ ทำให้เห็นเป้าหมายที่ชัดเจนในเรื่องของการเสริมสร้างอาชีพให้ผู้คนในบริเวณโดยรอบมากขึ้น รวมไปถึงเล็งเห็นประโยชน์ที่จะเป็นพื้นที่ให้นักเรียนเข้ามาเรียนรู้ ที่ขาดไม่ได้ต้องขอบคุณ สสส.และเครือข่ายบ้านภูลิตาที่เป็นแรงร่วมกันขยายศูนย์การเรียนรู้นี้สู่ประชาชน”นายสนธิกาญจน์ กล่าว


     ด้านนางสาวณัจยา แก้วนุ้ย ผู้จัดการโครงการพัฒนาเสริมสร้างแหล่งให้บริการอาหารเพื่อสุขภาพภายใต้แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า โครงการพัฒนาเสริมสร้างแหล่งให้บริการอาหารเพื่อสุขภาพเริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี2559 มีแนวทางการดำเนินงาน คือ 1.พัฒนาให้เกิดแหล่งบริการอาหารเพื่อสุขภาพ2.สร้างแนวร่วมร้านอาหารเพื่อสุขภาพ เพิ่มอัตราการบริโภคผัก-ผลไม้ ส่งเสริมเมนูเพื่อสุขภาพลดหวาน มันเค็ม และสนับสนุนให้ใช้วัตถุดิบพืชผลทางการเกษตรจากท้องถิ่นที่ปลอดภัย3.ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการได้รับการรับรองมาตรฐาน Clean Food Goodหรือเทียบเท่า 4.มีการพัฒนาศักยภาพสร้างความรู้“Live Healthier”การใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพที่ดีแบบยั่งยืนแก่ผู้ประกอบการและผู้บริโภค


ส่อง...ศูนย์เรียนรู้ “เกษตรคนเมือง” thaihealth


        เหตุที่ สสส. เลือก จ. สงขลาเป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่อง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มียุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวและเป็นพื้นที่ส่งเสริมด้านอาหาร อีกทั้งผู้ประกอบการยังมีความเป็นเครือข่ายประชาคมอาหารเพื่อสุขภาพคือ มีผู้ประกอบการร้านอาหาร เกษตรกร และเครือข่ายฝ่ายภาครัฐ ที่คอยส่งเสริมเกษตรกรและผู้ประกอบการให้เกิดความเชื่อมโยงกัน จึงถือเป็นพื้นที่เหมาะสมในการเป็นพื้นที่นำร่อง ซึ่งนอกจาก จ.สงขลา แล้วยังมีเครือข่ายที่เข้มแข็งอีกหลายจังหวัด เช่น ปัตตานี สตูล (ภาคใต้)ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี (ภาคตะวันออก) สระบุรี อยุธยา (ภาคกลาง)และเชียงราย (ภาคเหนือ) ซึ่งเป้าหมายในปี2560-2561นี้ สสส. มีแผนขยายพื้นที่ต้นแบบให้กระจายอย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น


      การสร้างพื้นที่ต้นแบบแหล่งบริการอาหารเพื่อสุขภาพ สสส. เป็นเพียงแค่ส่วนเล็กๆ ในการส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้กินอาหารที่ดีและปลอดภัย แต่จริงแล้วยังมีอีกหลายปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อให้งานประสบผลผลสัมฤทธิ์ได้ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ประกอบการร้านอาหารเกษตรกร ผู้บริโภค และหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องร่วมมือกันเพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน


 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ