ส่งเสริมเรียนรู้ การสร้างสุขภาพพยาบาล
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
"พยาบาล" บุคลากรสาธารณสุขที่มีจำนวนมากที่สุดในกลุ่มวิชาชีพสุขภาพ หันมาให้น้ำหนักจาก "นักซ่อม" เป็น "นักสร้าง" สุขภาพจะถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของวงการสาธารณสุขไทย
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับสภาการพยาบาล และ 5 สถาบันอุดมศึกษา ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยมหิดล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ม.ขอน แก่น ม.เชียงใหม่ ม.สงขลานครินทร์ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ "แนวทางการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพและข้อเสนอเพื่อการพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพสำหรับวิชาชีพการพยาบาล" มีพยาบาลเข้าร่วมกว่า 400 คน
ศ.เกียรติคุณ ดร.วิจิตร ศรี สุพรรณ ประธานคณะกรรมการโครงการขับเคลื่อนวิชาชีพการพยาบาลเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ สะท้อนว่า การสร้างเสริมสุขภาพถือเป็นบทบาทหนึ่งของวิชาชีพการพยาบาล ซึ่งมีอยู่ในกฎหมายการประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ตั้งแต่ปี 2528 แต่ด้วยภาระงานที่มากจึงใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการรักษามากกว่าการสร้างเสริมสุขภาพ ทั้งที่การสร้างเสริมสุขภาพมีต้นทุนที่ถูกกว่าการรักษาจึงมีการศึกษาถึงมาตรการและแนวทางให้เกิดบทบาทของการพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพ โดยเกิด 7 ชุดการเรียนรู้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ อาทิ บทบาทพยาบาลนักสร้างเสริมสุขภาพโดยมีเครื่องมือการประเมินสุขภาพกายและสุขภาพจิตทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน การสร้างทักษะภาวะผู้นำเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคน การสร้างนโยบายสาธารณะและการสร้างเสริมความเข้มแข็งของชุมชน เป็นต้น
มาตรการ 3 ไม่ ลดเบาหวาน "ไม่ดื่มน้ำอัดลม ไม่จิ้มพริกเกลือ ไม่เติมน้ำปลา" หนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจจากปฏิบัติการพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพ โดยการริเริ่มของ สมยงค์ ทุ่งสาร พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมหาสวัสดิ์ จ.นครปฐม เนื่องจากคนในชุมชนป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความดันสูงขึ้น และเมื่อตรวจคัดกรองพบผู้ป่วยอายุ 13-14 ปี กลายเป็นผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น โดยใช้มาตรการเชิงรุกเข้าถึงชุมชนด้วยการเยี่ยมบ้านเพื่อหาพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ ทำให้พบว่าคนในชุมชนดื่มน้ำเปล่าไม่เป็น ตู้เย็นทุกบ้านมีแต่น้ำอัดลม ชอบเติมพริกน้ำปลา และชอบจิ้มพริกเกลือเมื่อทานผลไม้ ทั้งที่มีมาตรการชุมชนให้ลดหวานมันเค็มแล้ว แต่ก็ไม่เกิดอะไรขึ้น เลยขอจากให้ปรับพฤติกรรมจากเรื่องใกล้ตัว 3 เรื่องนี้คือ ไม่ดื่มน้ำอัดลม ไม่เติมน้ำปลา และไม่จิ้มพริกเกลือ โดยเริ่มจากชมรมผู้สูงอายุและอาสาสมัครหมู่บ้านที่มาร่วมประชุมกับรพ.สต. จากนั้นในปี 56 เริ่มรุกในงานเลี้ยงปลอดน้ำอัดลม ซึ่งเป็นงานระดมทุนของหมู่บ้าน ทีแรกผู้ใหญ่บ้านทำท่าจะไม่ร่วมด้วยเพราะกลัวเสียงบ่นจากลูกบ้าน เลยเสนอให้นำเงินค่าน้ำอัดลมรวมกับเงินสมทบของ รพ.สต.ที่ได้มาจากการบริจาคและชมรมผู้ป่วยเบาหวาน มาซื้อของจับสลากให้ผู้เข้าร่วมงาน ทำให้เกิดกระแสฮือฮาในหมู่บ้าน จนเกิดกระแสที่นายกอบต.จัดงานเลี้ยงโต๊ะจีนปลอดน้ำอัดลม
ความพยายามทำให้ชุมชนมหาสวัสดิ์ลดการบริโภคหวาน ทำให้งานเลี้ยงที่จัดโดยแกนนำชุมชน หรือแม้แต่งานบุญ งานเลี้ยงภายในครอบครัวของกลุ่มอสม. ก็จะใช้มาตรการ 3 ไม่เพื่อเป็นแบบอย่างในชุมชน และในช่วงปลายเดือนกันยายนของทุกปีจะมีมหกรรมสุขภาพ จัดโดยรพ.สต.เพื่อมอบเกียรติบัตรให้กับแกนนำชุมชนและครอบครัวที่ปรับพฤติกรรมสุขภาพได้ดี ทำให้ทุกวันนี้กลุ่มผู้ป่วยเบาหวานที่มารักษาไม่ต้องพึ่งยาอีกต่อไป และกลุ่มเสี่ยงที่นำมาปรับพฤติกรรมก็ไม่กลายเป็นผู้ป่วยหน้าใหม่
สมยงค์ ทิ้งท้ายว่า รพ.สต.ต้องรับผิดชอบทั้งตำบลจะทำเฉพาะการรักษาหน้างานไม่ได้ ถ้าเราไม่รุกออกไปจะมีเด็กเยาวชนอีกมากที่จะกลายมาเป็นผู้ป่วยหน้าใหม่ เพราะเครื่องดื่มที่ขายดีที่สุดในร้านค้าคือน้ำอัดลม จึงต้องจูงใจกลุ่มนี้ว่าถ้าอยากหุ่นดีต้องใช้มาตรการ 3 ไม่
นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า พยาบาลถือเป็นบุคลากรสาธารณสุขที่มีจำนวนมากที่สุดในกลุ่มวิชาชีพสุขภาพ ในเดือนเม.ย.ปี 2559 มีจำนวนพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนเป็นพยาบาลวิชาชีพถึง 188,627 คน ซึ่งจะเพิ่มขึ้นปีละ 10,000 คน และถือเป็นกลุ่มที่อยู่กับผู้ป่วยมากที่สุด หากพยาบาลให้น้ำหนักการทำงานที่การสร้างเสริมสุขภาพจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของระบบสุขภาพ
นับเป็นกลไกที่สำคัญของการขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพต่อไป.