ส่งเสริมเด็กไทยเคลื่อนไหวลดเนือยนิ่ง

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ส่งเสริมเด็กไทยเคลื่อนไหวลดเนือยนิ่ง thaihealth


พฤติกรรมเนือยนิ่ง (Sedentary behavior) หมายถึง กิจกรรมใด ๆ ที่กระทำขณะตื่นในท่านั่ง นอนราบ หรือเอนกาย กล้ามเนื้อมีการใช้พลังงานในระดับต่ำ


ซึ่งพฤติกรรมเนือยนิ่งมีแทรกอยู่ในกิจวัตรประจำวันขณะอยู่ที่บ้าน โรงเรียน เดินทางและขณะมีเวลาว่าง ในช่วงปิดภาคเรียนเด็กหลายคนถือโอกาสพักผ่อนใช้เวลาส่วนใหญ่ในการนั่งหรือนอนเล่นคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือดูโทรทัศน์ เด็กอีกกลุ่มหนึ่งต้องอ่านหนังสือ เตรียมตัวสอบคัดเลือกศึกษาต่ออีกระดับหนึ่ง


จากการศึกษาของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) (2560) รายงานว่า เด็กและเยาวชนอายุ 5-17 ปี ร้อยละ 25.6 มีพฤติกรรมเนือยนิ่งไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวันในการเล่นโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำของประเทศแคนาดา ส่วนการเล่นกระฉับกระเฉง ไม่มีรูปแบบมากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน มีเพียงร้อยละ 8.7 เท่านั้น


นอกจากนี้ สสส. ยังรายงานว่าคนไทยมีพฤติกรรมนั่ง ๆ นอน ๆ เฉลี่ย 13 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งจากผลการศึกษาจำนวนมากพบว่า การมีพฤติกรรมเนือยนิ่งมีผลกระทบต่อตัวบ่งชี้ทางสุขภาพ เช่น น้ำหนัก ส่วนสูง รอบเอว ความดันโลหิต คอเลสเตอรอล และระดับน้ำตาลในเลือด การมีพฤติกรรมเนือยนิ่งมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัว ดัชนีมวลกายและรอบเอว การดูโทรทัศน์มากกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้มีปัจจัยเสี่ยงในการมีน้ำหนักเกินและโรคเบาหวานได้


ส่งเสริมเด็กไทยเคลื่อนไหวลดเนือยนิ่ง thaihealth


คำแนะนำง่าย ๆ ในการลดพฤติกรรมเนือยนิ่งในช่วงปิดภาคเรียน หากนั่งหรือนอนดูโทรทัศน์ เล่นโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ หรืออ่านหนังสือนาน ๆ ควรเปลี่ยนอิริยาบถทุก ๆ 30 นาที เช่น นั่งบนเก้าอี้หรือโซฟา ให้ทำข้างละ 10 ครั้ง โดยให้ก้ม-เงยศีรษะ เอียงศีรษะไปข้างซ้าย-ข้างขวา กางแขน-หุบแขน หมุนแขนซ้าย-ขวา ยักไหล่ขึ้นลง เอียงลำตัวไปข้างซ้าย-ขวา ก้ม-เงยลำตัว สำหรับการเปลี่ยนอิริยาบถขาและเท้า ให้ทำข้างละ 10 ครั้ง ยกขาขึ้นลงสลับข้างกัน ยกขาขึ้นเท่าระดับความสูงเก้าอี้ เกร็งไว้นับ 1-10 สลับขา (ข้างละ 3 ครั้ง) หมุนข้อเท้า หากนอนหรือเอนกาย ทำการยืดเหยียดกล้ามเนื้อหรือเกร็งกล้ามเนื้อ ยกขาทั้งสองข้างขึ้นสูงตามความสามารถของตนเอง นับ 1-10 หรือ 1-30


วี-ซิท ยกลำตัวและยกขาทั้งสองข้างขึ้นพร้อม ๆ กัน นับ 1-10 หรือ 1-30


ลุก-นั่ง นับ 1-10 หรือ 1-30 ถีบจักรยานในอากาศ นับ 1-10 หรือ 1-30


นอกจากนี้ อาจเปลี่ยนอิริยาบถจากนั่งหรือนอน เป็นยืน เดิน เดินเร็ว เดินซิกแซก เพื่อเพิ่มระยะทาง ขึ้นลงบันได เป็นต้น


การจัดการลดพฤติกรรมนั่งนาน นอนนาน ทุก ๆ 30 นาที เพียงใช้เวลา 5 หรือ 10 นาที จะช่วยเด็ก ๆ ลดความเสี่ยงจากการมีน้ำหนักเกินหรืออ้วนได้มากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ใหญ่ก็สามารถนำไปใช้ได้เช่นกัน

Shares:
QR Code :
QR Code