ส่งเสริมจินตนาการ สร้างฐานนักอ่านรุ่นเยาว์

วางรากฐานนักอ่านรุ่นเยาว์ เสริมจินตนาการสร้างสรรค์


ส่งเสริมจินตนาการ สร้างฐานนักอ่านรุ่นเยาว์  thaihealth


เด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 5-6 ปี ถือเป็นช่วงวัยสำคัญที่สุดของการพัฒนาการเจริญเติบโต และเป็นเวลาที่ควรได้รับการอบรมเลี้ยงดูจากพ่อแม่และเครือญาติอย่างถูกต้อง เพื่อส่งเสริมให้เป็นอนาคตของชาติที่มีความสมบูรณ์ทั้งกายและจิตใจ แต่เด็กหนึ่งคนจะไปถึงฝั่งฝันได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ยอมต้องผ่านอุปสรรค สิ่งยั่วยุและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ มากมาย และหนึ่งในปัญหาสำคัญในโลกยุคโซเชียลมีเดียที่พ่อแม่ยุคใหม่เข้าใจผิด คือการปล่อยให้บุตรหลานอยู่กับเทคโนโลยี เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต เกม คอมพิวเตอร์ มากเกินไป ที่แม้จะดูแล้วว่าสะดวกและสร้างความสนุกสนานให้แก่เด็กได้ง่าย แต่หารู้ไม่ว่ากลับมีอันตรายแอบแฝงอยู่ เช่น ทำให้พัฒนาการต่างๆ ล่าช้า เสียสายตา และที่สำคัญขาดทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม


พญ.นิชรา เรืองดารกานนท์ หัวหน้าหน่วยพัฒนาการเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี ภาคีที่ทำงานร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อย่างต่อเนื่อง แนะนำว่าเด็กจำเป็นต้องได้รับการเลี้ยงดูที่ส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์กับคนเลี้ยงดู มีการพูดคุยโต้ตอบ เล่นด้วยกัน ถ้าการเลี้ยงดูส่วนมากไม่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เช่น ปล่อยให้เด็กดูสื่อโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ เมื่อเด็กอยู่กับสื่อทางเดียวส่วนใหญ่เป็นระยะเวลานานๆ ตลอดเวลา อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทำให้เด็กพูดช้า หรือพูดได้ไม่เหมาะสมกับวัย คนเลี้ยงดูควรเพิ่มเวลาปฏิสัมพันธ์พูดคุยกับเด็กให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำกิจกรรมร่วมกัน หรือผ่านการเล่านิทาน


ส่งเสริมจินตนาการ สร้างฐานนักอ่านรุ่นเยาว์  thaihealth"แม้การใช้เทคโนโลยีช่วยเพื่อการเรียนรู้จะพัฒนามากขึ้น แต่สำหรับเด็กเล็ก โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีแรกควรหลีกเลี่ยงไม่ให้ใช้เลย หรือใช้น้อยที่สุด เพราะวัยดังกล่าวเด็กยังต้องพัฒนาประสาทสัมผัสต่างๆ ตลอดจนถึงการเคลื่อนไหว การทรงตัว และการใช้มือทำสิ่งต่างๆ หากขาดการพัฒนาอย่างรอบด้านอาจส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก ทั้งด้านภาษาและการเรียนรู้อื่นๆ ทำให้ขาดความพร้อมเมื่อเข้าสู่วัยเรียน ดังนั้นการจัดสื่อรอบตัวเด็กจะต้องมีความเหมาะสม" พญ.นิชรากล่าว


นางสาวสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวเสริมว่า เด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปี พ่อแม่ ผู้ปกครองสามารถพัฒนาการเรียนรู้ตามช่วงอายุของเด็กได้ เพราะช่วงเวลาดังกล่าวคือ “ระยะวิกฤติพัฒนาทางสมอง” ตามการค้นพบของนักทฤษฎี “หน้าต่างแห่งโอกาส” ที่พบว่าช่วงเวลาตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปี เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ดีที่สุดของการเรียนรู้ที่ธรรมชาติมอบให้


หนังสือเปรียบเสมือนของเล่นชิ้นสำคัญของเด็กที่พ่อแม่ควรให้ลูกได้หยิบจับและอ่านให้เด็กฟัง ซึ่งจะทำให้ระบบสายใยประสาทเกิดการเชื่อมต่อกัน การอ่านให้เด็กฟังตั้งแต่ทารกยังเป็นการบ่มเพาะสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน เมื่อเด็กได้เรียนรู้ผ่านความรู้สึกรักก็จะช่วยให้มีโอกาสจดจำได้ดี และจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีนิสัยพึงประสงค์ของสังคม


พ่อแม่ ผู้ปกครองควรเริ่มต้นให้เด็กอ่านหนังสือได้ตั้งแต่ยังอยู่ในวัยทารก เนื่องจากตามหลักการแพทย์ พบว่าเด็กทารกจะเริ่มปรับโฟกัสสายตาได้ตั้งแต่อายุ 4-6 เดือน ดังนั้นผู้ใหญ่จึงควรฉกฉวยช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมในการกระตุ้นพัฒนาการของเด็ก มิฉะนั้นแล้ว กระบวนการทำงานของสมองก็จะขาดหายไปตลอดกาล โอกาสแห่งการพัฒนาจะล่วงผ่าน


ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน กล่าวว่า ถึงแม้ช่วงที่เป็นทารกนั้นเด็กจะยังอ่านหนังสือไม่ออก แต่ถ้าหากพ่อแม่หยิบยื่นหนังสือภาพที่มีภาพวาดเสมือนจริงให้เด็กในระยะ 4-6 เดือนได้ดู หนังสือภาพจะมีส่วนในการกระตุ้นการมองเห็น และเมื่อพ่อแม่อ่านเรื่องให้ฟังด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวลจะส่งผลดีด้านภาษาแก่เด็ก เป็นโอกาสให้เด็กได้สะสมคลังคำ ซาบซึ้งในเนื้อหา เกิดจินตนาการสร้างสรรค์


“การที่พ่อแม่เข้าใจว่าเด็กทารกยังไม่อ่านนั้นเป็นความเข้าใจผิด เพราะความจริงคือเด็กมองเห็นภาพ เรียนรู้ผ่านภาพ เขา


ส่งเสริมจินตนาการ สร้างฐานนักอ่านรุ่นเยาว์  thaihealth


จะมองว่าหนังสือเป็นของเล่นที่เป็นตัวแทนความรัก และจะจดจำหนังสือออกมาเป็นภาษาภาพ พ่อแม่ที่อ่านหนังสือให้เด็กฟังก่อนเข้าเรียน ป.1 จะทำให้เด็กอ่านหนังสือได้อัตโนมัติเมื่อเข้าโรงเรียน” ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านกล่าว


สำหรับหนังสือภาพที่เหมาะสมสำหรับเด็กวัย 0-2 ปีนั้น ควรมีขนาดที่เหมาะมือเด็ก มีภาพวาดประกอบต้องชัดเจน เป็นภาพง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ไม่มีฉากรกรุงรัง วัสดุที่นำมาใช้ต้องมีความปลอดภัยจากสารเคมี เพราะเด็กอาจนำเข้าปากหรือเลียหนังสือ มุมของหนังสือต้องไม่คม กระดาษควรมีสีสันถนอมสายตา ช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ดังกล่าว พ่อแม่ ผู้ปกครองควรกระตุ้นให้ได้รับการเรียนรู้ซ้ำๆ


โดยช่วงวัย 0-6 เดือน เด็กจะเรียนรู้จากหนังสือที่เปรียบเสมือนของเล่นที่คุ้นเคยด้วยการอม กัด ขว้าง ดม ชอบเพลง คำคล้องจอง จึงควรหาหนังสือที่มีขนาดเล็กปลอดภัยสำหรับเด็ก ช่วง 7-12 เดือน เด็กจะชอบหนังสือที่มีภาพชัดเจน ช่วง 1-2 ปี เด็กจะสนใจภาพมากกว่าเนื้อเรื่อง ชอบนิทานที่สั้นๆ ในเด็กวัย 3 ปี ถ้าเด็กชอบหนังสือก็จะชอบอ่านไปตลอดชีวิต เด็กจะมีจินตนาการสร้างสรรค์ ชอบให้พ่อแม่อ่านให้ฟังซ้ำๆ และจะเชื่อมโยงหนังสือกับชีวิตประจำวัน วัย 4-6 ปี เด็กยังชอบฟังนิทานซ้ำๆ พ่อแม่ ผู้ปกครองควรหานิทานที่มีเนื้อเรื่องที่เหมาะสม เพื่อบ่มเพาะนิสัยที่พึงประสงค์ให้กับเด็ก


นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอีกด้านหนึ่งยืนยันว่า ผู้เสพติดมือถือมากเกินไปได้สร้างผลร้ายตามมา เปิดเผยโดย พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ว่า โลกยุคดิจิตอลขณะนี้ ประชาชนใช้โทรศัพท์มือถือในชีวิตประจำวัน จนก่อให้เกิดอาการใหม่ทางสุขภาพจิตที่เรียกว่า “โนโมโฟเบีย (nomophobia)” มาจากคำว่า โนโมบายโฟนโฟเบีย (no mobile phone phobia) หรืออาการขาดมือถือไม่ได้ จัดอยู่ในกลุ่มอาการวิตกกังวล พบทั่วโลก เช่นเดียวกับผู้ที่มีมือถือ แต่ใช้การไม่ได้ เนื่องจากอยู่ในที่ไม่มีสัญญาณ หรือแบตเตอรี่หมด จะรู้สึกหงุดหงิด กระวนกระวาย บางรายหากเป็นมาก อาจเครียด ตัวสั่น เหงื่อออก คลื่นไส้ได้


ส่งเสริมจินตนาการ สร้างฐานนักอ่านรุ่นเยาว์  thaihealthสำหรับข้อสังเกตของผู้ที่มีอาการโนโมโฟเบีย มีดังนี้ มักพกโทรศัพท์มือถือติดตัวตลอดเวลา จะรู้สึกกังวลใจหากมือถือไม่ได้อยู่กับตัว หมกมุ่นอยู่กับการเช็กข้อความ/ข้อมูลในมือถือตลอดเวลา และดูโทรศัพท์บ่อยๆ แม้ไม่มีเรื่องด่วน เมื่อได้ยินเสียงเตือนเข้ามาจะวางงานเพื่อเช็กข้อความในมือถือทันที เล่นมือถือก่อนนอน หลังตื่นนอน หรือขณะที่ทำกิจกรรมประจำวัน เช่น ทานอาหาร เข้าห้องน้ำ ขับรถหรือนั่งรถ ไม่เคยปิดมือถือ ใช้เวลาพูดคุยกับเพื่อนในโลกออนไลน์มากกว่าคุยกับเพื่อนที่อยู่ตรงหน้า


"พฤติกรรมดังกล่าวอาจส่งผลกระทบการทำงาน การเรียน การใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดอาการข้างเคียงหลายอย่าง เช่น นิ้วล็อก สายตาเสื่อมเร็ว กล้ามเนื้อที่คอ บ่า ไหล่เกร็งและปวดเมื่อย จากการก้มหน้าเพ่งจอเป็นเวลานาน และทำให้หมอนรองกระดูกที่คอเสื่อมก่อนวัยอันควร อาจทำให้เส้นประสาทสันหลังที่บริเวณส่วนคอถูกกดทับ เกิดอาการชาที่แขน มือไม่มีแรง หรือเดินโคลงเคลงเหมือนจะล้ม อาจเกิดโรคอ้วนได้ง่ายจากการนั่งอยู่กับที่นานๆ"


สำหรับการป้องกันโรคนี้ต้องสร้างวินัยในการใช้มือถือ ควรใช้เท่าที่จำเป็น ทำกิจกรรมอื่นทดแทน เช่น อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย ถ้ารู้สึกเหงาให้หาเพื่อนคุยแทนการสนทนาผ่านทางหน้าจอโทรศัพท์ ตั้งกฎว่าจะไม่แตะต้องมือถือภายในเวลาที่กำหนด เช่น 30 นาที 1 ชั่วโมง แล้วค่อยๆ เพิ่มเวลาห่างมือถือให้มากขึ้น หรือกำหนดให้ห้องนอนเป็นเขตปลอดมือถือ


ได้รับรู้ผลดีและโทษของอุปกรณ์ไฮเทคกันพอสมควรแล้ว ก็ถึงเวลาที่ผู้ปกครองจะเลี้ยงดูหรือสอนให้ลูกหลานใช้เทคโนโลยี เช่น มือถือ และแท็บเล็ต อย่างเหมาะสม น่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญสุด


 


 


ที่มา: เว็บไซต์ไทยโพสต์ 


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ

Shares:
QR Code :
QR Code