ส่งเสริมการอ่าน 5 จังหวัดชายแดนใต้
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
แฟ้มภาพ
ส่งเสริมการอ่าน 5 จังหวัดชายแดนใต้อุดช่องว่างความต่างทางภาษา
การอ่านออกเขียนได้เป็นต้นทุนชีวิตที่สำคัญ เพราะเป็นหน้าต่างสร้างการเรียนรู้และยังเป็นสะพานนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ จัดเวทีพัฒนาศักยภาพนิสิตนักศึกษา ส่งเสริมการอ่านเพื่อสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้ ในโครงการ Gen A พลังอ่านเปลี่ยนเมืองปี 2 ที่โรงแรมหาดใหญ่ พาราไดซ์ โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท จังหวัดสงขลา
ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส. กล่าวว่า การอ่านออกเขียนได้เป็นต้นทุนชีวิตที่สำคัญ เพราะเป็นหน้าต่างสร้างการเรียนรู้และยังเป็นสะพานนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดี เช่น การอ่านฉลากยา ฉลากอาหาร การอ่านข่าวสารต่างๆ ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้และตัดสินใจเลือกในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพได้ดีขึ้น ตามผลสำรวจการอ่านออกเขียนได้ของกระทรวงศึกษาธิการ ปี 2558 พบว่า มีเด็กนักเรียนชั้นประถมปีที่ 1-6 ถึง 140,000 คนที่อ่านหนังสือไม่ออก และมีนักเรียนที่เขียนหนังสือไม่ได้มากถึง 270,000 คน แม้ว่าในปีดังกล่าวจะมีการตั้งเป้าหมายให้เป็นปีแห่งการปลอดนักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ก็ตาม ขณะที่ข้อมูลของธนาคารโลกพบว่า 1 ใน 3 ของเยาวชนอายุ 15 ปี ไม่สามารถอ่านจับใจความหรือไม่เข้าใจเนื้อหาที่กำลังอ่าน โดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่ในเขตชนบท สัดส่วนเยาวชนอายุ 15 ปีที่ไม่เข้าใจเนื้อหาที่อ่านจะเพิ่มขึ้นถึง 47%
"ความแตกต่างทางภาษาเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนของนักเรียน การใช้ภาษาในชีวิตประจำวันของประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ภาษามลายูถิ่นมากที่สุด รองลงมาคือภาษาไทยปนภาษามลายูถิ่น ภาษาไทยกลาง ภาษาใต้ และภาษามาเลเซีย ทำให้ผลการเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มักอยู่ใน 10 อันดับรั้งท้ายของประเทศ สสส.จึงร่วมกับ สกอ. และ สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ จัดทำ "โครงการ Gen A พลังอ่านเปลี่ยนเมือง" เพื่อแก้ไขปัญหาการอ่านของเด็กเยาวชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ ประกอบด้วย จังหวัดสตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาสร้างสรรค์กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ช่วยนักเรียนในสถานศึกษาทุกสังกัดที่ประสบปัญหาการอ่านไม่คล่องเขียนไม่คล่อง รวมถึงอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ให้มีพัฒนาการด้านการอ่านการเขียนที่ดีขึ้น โดยมีนิสิตนักศึกษาที่เป็นแกนนำและเครือข่ายส่งเสริมการอ่านไม่ต่ำกว่า 1,200 คน จาก 25 สถาบันในพื้นที่ 5 จังหวัดดังกล่าว เป็นพี่เลี้ยงช่วยทำกิจกรรมส่งเสริมการอ่านเขียนให้กับนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย และหวังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่เด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 6-15 ปีในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 6,250 คน" ทพ.ศิริเกียรติทิ้งท้าย
ปัญหาสำคัญที่ทำให้เด็กอ่านหนังสือไม่ได้ จากผลการศึกษาของแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน พบว่า มาจาก 4 สาเหตุ คือ 1) ครอบครัวยากจน ส่งผลให้เด็กขาดเรียนเป็นประจำ 2) เด็กไม่ได้พูดภาษาไทยที่บ้าน 3) มีปัญหาการเรียนรู้ ซึ่งมีประมาณ 5-6% ในบางโรงเรียนมีมากกว่านี้ และ 4) ครูไม่เพียงพอในการสอนหนังสือ
โครงการ Gen A พลังอ่านเปลี่ยนเมือง จึงเป็นการระดมความร่วมมือจากหลายฝ่ายในการทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมการอ่าน ได้แก่ มหาวิทยาลัย อาจารย์ นักศึกษา ครูและผู้บริหารสถานศึกษา เด็กปฐมวัยและวัยเรียน พ่อแม่ผู้ปกครอง และอาสาสมัครหมู่บ้าน โดยมีหนังสือเป็นสื่อกลางเชื่อมความต่างทางภาษาและวัฒนธรรมในพื้นที่ที่มีความเปราะบางอย่างชายแดนใต้
สุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. เล่าว่า จากการทำงานของโครงการ Gen A ในปีที่ผ่านมา พบว่า มากกว่า 80% ของนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมสามารถสร้างแรงจูงใจให้สนใจการอ่าน มีความตั้งใจทบทวนการอ่านเขียนและตื่นเต้นกับรูปแบบการสอนใหม่ๆ โดยพบว่ามีกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ที่ดึงดูดความสนใจ เช่น แรลลี่ส่งเสริมการอ่าน ประตูคำศัพท์ อักษรไทยพาเพลิน ธรรมะบิงโก แบบทดสอบสื่อเฉพาะกิจ โปสเตอร์พัฒนาการอ่าน อีกกลุ่มที่น่าสนใจคือ กลุ่มเด็กในชุมชนจะมีการสอนแบบพี่สอนน้อง โดยแกนนำ Gen A เป็นแกนกลางเชื่อมให้เกิดกิจกรรมและให้รุ่นพี่สอนการอ่านให้แก่รุ่นน้องในชุมชน รวมถึงการจัดการสอนให้กลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองอีกด้วย.