ส่งหน่วยแพทย์ครบชุดช่วยแผ่นดินไหวเนปาล ช่วยเหลือ 4 ด้าน
สธ. เตรียมส่งหน่วยแพทย์ครบชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่เนปาล วันที่ 27 เม.ย. พร้อมวางแผนช่วยเหลือ 4 ด้าน จัดส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประเมินสถานการณ์ ทั้งการรักษา การคุมโรค สุขภาพจิต และจัดการศพ แต่ละทีมประจำ 2 สัปดาห์ก่อนหมุนเวียนทีมสำรอง
นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ สธ. กำลังเตรียมความพร้อมส่งทีมแพทย์ไปช่วยเหลือผู้ประสบเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาล โดยกำลังอยู่ระหว่างประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการต่างประเทศว่าประเทศต้นทางต้องการความช่วยเหลือในเรื่องใด ประสานกับสถานทูตไทยในเรื่องการเดินทาง รวมถึงประสานกับแพทย์ทหารด้วย สำหรับ สธ. มี 2 หน่วยงานที่มีประสบการณ์ในเรื่องการทำงานด้านภัยพิบัติ คือ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และสำนักงานสาธารณสุขฉุกเฉิน (สธฉ.) โดยจะประสานงานร่วมกับศูนย์เตรียมพร้อมบรรเทาภัยพิบัติแห่งเอเชีย (เอดีพีซี) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความรู้เรื่องภัยพิบัติอย่างดี ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ภายหลัง 72 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุ จะมีความต้องการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ในการช่วยรักษาผู้บาดเจ็บ สธ. ก็จะมีการส่งทีมแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางไปช่วยเหลือด้วย ซึ่งขณะนี้กรมการแพทย์ได้เตรียมทีมไว้แล้ว โดยวันที่ 27 เม.ย. จะมีการประชุมหารืออย่างชัดเจนอีกครั้งว่า จะส่งทีมใดไปเมื่อไรอย่างไร
นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการปลัด สธ. กล่าวว่า ขณะนี้ สธ. ได้เตรียมส่งทีมแพทย์ประกอบไปด้วยศัลยแพทย์ แพทย์กระดูก และจิตแพทย์ จากกรมการแพทย์ 1 ทีม สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 1 ทีม และ รพ.ศิริราช อีก 1 ทีม ไปตั้ง รพ. สนาม เพื่อรักษาพยาบาลผู้ประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาล พร้อมด้วยยาและเวชภัณฑ์จากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่ด้วยซึ่งคาดว่าน่าจะสามารถเดินทางได้ใน 2 วันนี้
นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ในส่วนของ สธฉ. และ สพฉ. จัดเตรียมหน่วยแพทย์ครบชุด ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักวิชาการสุขาภิบาล นักวิชาการควบคุมโรค นักจิตวิทยาพร้อมเวชภัณฑ์ ยารักษาโรค โดยเฉพาะยาฆ่าเชื้อ วัคซีนป้องกันโรค เช่น บาดทะยัก รวมทั้งชุดทำแผลต่างๆ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่มีบาดแผลซึ่งคาดว่าจะมีความจำเป็นมาก โดยทีมชุดแรกมีประมาณ 30 คน พร้อมจะเดินทางตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป นอกจากนี้ ให้ตั้งศูนย์ปฎิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่สำนักงานปลัด สธ. เพื่อเป็นศูนย์กลางประสานงานความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายใน อาทิ กรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต ทีมส่วนภูมิภาคในสังกัด และสหวิชาชีพจากหน่วยงานภายนอก อาทิ ศิริราช รามาธิบดี โรงพยาบาลภูมิพลฯ โรงพยาบาลในสังกัด กทม. เป็นต้น จำนวน 3 ทีม พร้อมสามารถปฏิบัติงานได้ในพื้นที่ 3 จุด และติดตามประเมินสถานการณ์ผลกระทบด้านสุขภาพประชาชนอย่างใกล้ชิด
“การให้ความช่วยเหลือประเทศเนปาลของหน่วยแพทย์ไทยได้วางแผนไว้ 4 เรื่อง ประกอบด้วย 1. การรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วย อาจมีทั้งการให้เจ้าหน้าที่ไทยร่วมปฏิบัติงานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของเนปาลในโรงพยาบาลเนปาล ที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่รับความเสียหาย หรืออาจปรับให้เป็นโรงพยาบาลสนามขนาดย่อยๆ 1 โรงพยาบาล หรืออาจปฏิบัติเป็นหน่วยแพทย์บริการเคลื่อนที่ขนาดเท่ากับแผนกผู้ป่วยนอก ของโรงพยาบาลชุมชน รูปแบบขึ้นอยู่กับสถานการณ์จริงในพื้นที่ 2. การควบคุมโรค และการรักษาความสะอาด ของสุขาภิบาลอาหารและน้ำดื่ม เพื่อป้องกันโรคไม่ให้เกิดซ้ำเติม ที่สำคัญได้แก่ โรคอุจจาระร่วง 3. การดูแลสุขภาพจิตประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่สูญเสีย ไร้ญาติ ผู้สูงอายุ เด็ก และอาจร่วมค้นหาผู้รอดชีวิต 4. การจัดการศพ และการพิสูจน์เอกลักษณ์ศพ เป็นต้น” นพ.สุรเชษฐ์ กล่าว
นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า ในการวางแผนการช่วยเหลือแต่ละด้าน สธ.จะส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ลงไปประเมินสถานการณ์ เพื่อนำมาวางแผนจัดระบบการช่วยเหลืออย่างครบถ้วน ขณะเดียวกัน ได้ระดมหน่วยแพทย์สำรองไว้อย่างเต็มที่ พร้อมที่จะเดินทางไปสับเปลี่ยนหรือเสริมการปฏิบัติงานเพิ่มเติมในจุดที่จำเป็น โดยจะให้แต่ละทีมอยู่ปฏิบัติการทีมละ 2 สัปดาห์ เตรียมเครื่องมือเครื่องใช้ภาคสนามไปให้พร้อม เช่น อาหาร น้ำ เครื่องครัว เครื่องปั่นไฟ ระบบการสื่อสาร เพื่อความคล่องตัว ไม่เป็นภาระของประเทศเนปาล
ที่มา: เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต