ส่งรักออนไลน์ห่างไกลโควิด-19
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
เเฟ้มภาพ
13 เมษายนของทุกปี นอกจากเป็น “วันสงกรานต์” ยังเป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” ถัดมาอีกวัน 14 เมษายนก็เป็น “วันครอบครัว” ซึ่งเป็นช่วงที่คนไทยถือเป็นโอกาสรวมญาติ รวมครอบครัว ทำบุญ รดน้ำดำหัว ขอพรผู้เฒ่าผู้แก่ เพื่อเสริมสิริมงคล แต่ด้วยปีนี้สถานการณ์ของโรคโควิด-19 ทำให้ทุกครอบครัวต้องปรับตัวปฏิบัติตามมาตรการรัฐบาลเว้นระยะห่างในการรวมญาติ
หลายหน่วยงานงดจัดกิจกรรม หรือปรับรูปแบบให้เข้ากับสถานการณ์ โดยเฉพาะ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้ออกประกาศเรื่อง แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับเทศกาลประเพณีสงกรานต์ ซึ่งรวมถึงวันผู้สูงอายุ และวันครอบครัว โดยให้งดเว้นการจัดงานสงกรานต์ในทุกระดับ งดเว้นการเดินทางกลับภูมิลำเนา งดเว้น การรดน้ำญาติผู้ใหญ่ทุกกรณีงดการเข้าร่วมกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนหมู่มาก หรือเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโดยเด็ดขาด และเพื่อสืบสานประเพณีสงกรานต์ ให้ปฏิบัติโดยการสรงน้ำพระพุทธรูปที่บ้าน การแสดงความกตัญญูต่อพ่อแม่ และญาติผู้ใหญ่ที่อาศัยอยู่บ้านเดียวกัน ใช้วิธีการกราบไหว้และขอพร โดยเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 1-2 เมตร และปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ สมาชิกในครอบครัวทุกคนต้องสวมใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย และการแสดงความกตัญญูและขอพรต่อพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ที่อยู่ห่างไกลกัน ให้แสดงออกผ่านช่องทางโทรศัพท์หรือสื่อออนไลน์
ขณะที่ กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ อธิบดี ผส.กล่าวว่า “ปีนี้ ผส.และกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ได้บูรณาการจัดงานภายใต้แนวคิด “ผู้สูงวัยผูกพัน สายสัมพันธ์ ครอบครัว : Sharing and Caring” เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนเห็นความสำคัญของสายสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวกับผู้สูงอายุ โดยปรับรูปแบบเน้นสื่อสารประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งในรูปแบบคลิปวิดีโอ การทำหนังสือเอกสารต่างๆเผยแพร่ ทั้งนี้ การแบ่งปันและความเอื้ออาทร เป็นจุดสำคัญที่นำไปสู่การสร้างสังคมไทยเข้มแข็ง ความห่วงใยเอื้ออาทรเป็นวัฒนธรรมไทยที่ต้องสื่อสารเพื่อให้ดำรงอยู่ รวมทั้งต้องแบ่งปัน ซึ่งไม่ใช่การมีทรัพย์สมบัติเพื่อแบ่งกัน แต่เป็นการแบ่งปันเวลา เพื่อให้ผู้สูงอายุได้เห็นว่าตัวเองยังมีคุณค่ามีศักยภาพ เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยแบ่งปันแบ่งเบาสิ่งต่างๆให้กับคนในครอบครัว”
“การแสดงความกตัญญูกตเวที เป็นสิ่งสำคัญที่ยังคงมีอยู่ แต่ต้องเปลี่ยนรูปลักษณ์เป็นการ “ส่งรักผ่านไลน์ ส่งความห่วงใยผ่านมือถือ” โดยส่งเสริมให้ทุกคนสื่อสารในครอบครัว โดย เฉพาะอย่างยิ่งกับคุณพ่อคุณแม่และผู้สูงอายุ ต้องสื่อสารต่อกันแม้จะไม่ใช่ช่วงเทศกาลก็ตาม เพราะการสื่อสารเป็นสิ่งที่สร้างความผูกพันกันอย่างต่อเนื่อง” นางสุจิตรา กล่าว
สำหรับมาตรการดูแลป้องกันผู้สูงอายุให้ปลอดภัยจากโรคโควิด-19นั้น อธิบดี ผส.กล่าวว่า “ได้มอบแนวทางให้ศูนย์พัฒนาการจัด สวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ (ศพส.) ทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งดูแลผู้สูงอายุ 1,200 คน ถือปฏิบัติดูแลทั้งตัวผู้สูงอายุ บุคลากรและอาคาร สถานที่ ต้องใส่ใจปฏิบัติตามคำแนะนำของ สธ.อย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นจุดสัมผัสต่างๆ ต้องสะอาด อาคารสถานที่ อุปกรณ์ต่างๆ ต้องทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ตัวผู้สูงอายุต้องมีการวัดไข้ทุกวันเช้า-บ่าย และดูแลเรื่องอาหารที่ให้จัดเป็นรายบุคคล โดยมีระยะห่างในการอยู่ร่วมกันและการทำกิจกรรมอย่างน้อย 1.5-2 เมตร และใส่หน้ากากอนามัย ส่วนผู้สูงอายุภายนอกได้ร่วมมือกับเครือข่ายในพื้นที่ โดยส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดในการส่งมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการดูแลความปลอดภัยผู้สูงอายุเพื่อให้ช่วยประชาสัมพันธ์ โดยให้สั่งการผ่านพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) และ ศพส.ในพื้นที่ช่วยดูแล”
ขณะที่ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2536 ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ประกาศเกียรติคุณยกย่องเป็นผู้สูงอายุแห่งชาติประจำปี 2563 ให้ข้อคิดว่า “ผู้สูงวัยจะต้องมีความรู้ มีวัยวุฒิ ซึ่งเปรียบเสมือนข้าวงอกออกรวง และยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ผู้สูงอายุมีความอ่อนไหวมาก จนเกิดความตระหนก จึงต้องมีสติ เพื่อตระ-หนักรู้ และเปิดรับข่าวสารประจำวัน ที่สำคัญเราต้องช่วยกันปฏิบัติตนตามแนวทางที่จะช่วยป้องกันโรค และป้องกันตนเอง ที่ทำได้ง่ายที่สุด คือ อยู่บ้าน ซึ่งจะทำให้เราได้รู้จักตัวเราเอง มีเวลาเจริญสติ ได้ระลึกที่จะรู้ มีสมาธิ อีกทั้งยังได้วิปัสสนา หรือรู้ได้ว่าสิ่งที่รู้นั้นเป็นจริง ได้รู้จักคำว่า “ครอบครัว” ซึ่งเป็นพื้นฐานของชีวิตขั้นต้นที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข นอกจากนี้ สิ่งที่ผู้สูงอายุหลายคนกังวล คือ เรื่องอายุที่มากขึ้น จึงอยากนำสิ่งที่ท่านพุทธทาสภิกขุบอกไว้ว่า ควรยกเลิกอายุอย่าไปสนใจและพะวงกับคำๆนี้ ชีวิตเราต้องอยู่กับความเป็นจริง ซึ่งไม่ต้องมีการปรุงแต่ง แม้จะแก่ แต่ถ้าเข้าใจในความเป็นไป ก็จะไม่บั่นทอนตัวเอง”
ด้าน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงคำแนะนำสำหรับผู้สูงอายุในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ว่า “ผู้สูงอายุมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่น ส่วนมากจะติดจากบุตรหลานวัยทำงาน ที่น่าห่วงผู้สูงอายุที่ติดเชื้อมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่ากลุ่มอื่น เพื่อลดโอกาสการรับเชื้อแนะนำผู้สูงอายุควรงดออกนอกบ้าน หมั่นล้างมือ ด้วยน้ำและสบู่ ก่อนรับประทานอาหารและหลังใช้ห้องส้วมไม่ใช้มือสัมผัส ใบหน้า ตา ปาก จมูก แยกสำรับอาหารและแยกของใช้ส่วนตัวที่จำเป็น อยู่ห่างจากบุตรหลานและผู้อื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร และเปลี่ยนวิธีการติดต่อสื่อสารกับบุตรหลานด้วยการใช้โทรศัพท์ หรือไลน์”