ส่งต่ออาหารแล้ว ต้องไม่ลืมสร้างเสริมสุขภาพ “ไรเดอร์

                  หลังจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เดินหน้าส่งเสริมให้กลุ่มไรเดอร์ สร้างความตระหนักรู้ เกี่ยวกับผลกระทบ และสุขภาพที่ได้รับจากการทำงาน แม้แต่แรงงานอิสระนอกระบบ แต่พบภาวะเครียด และออฟฟิตซินโดรม ไม่ต่างจากพนักงานบริษัท  จึงสร้างเครือข่าย ไรเดอร์สร้างสุขภาพเฟส 2 กับ แพลตฟอร์มโรบินฮู๊ด และกรุงเทพมหานคร นำตัวแทนไรเดอร์มาตรวจสุขภาพ และนำความรู้สุขภาพ ที่ได้ไปแชร์กับเพื่อนร่วมงานในกลุ่ม หวังสร้างความตระหนักรู้

                  สืบเนื่องจากรายงานการพัฒนาแนวทางสร้างเสริมสุขภาวะไรเดอร์ ปี 2565 โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย ร่วมกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบไรเดอร์จำนวน 518 คน ทั่วประเทศ พบปัญหาสุขภาพสำคัญ 3 เรื่องคือ 1.ปัญหาสุขภาพร่างกาย เช่น ปวดหลัง ปวดเอว ปวดข้อมือ ปวดคอบ่าไหล่ ที่มาจากการขับขี่รถเป็นเวลานาน 2.ปัญหาความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เพราะต้องแข่งกับเวลาในการส่งของ 3.ปัญหาสุขภาพจิตจากความเครียดระหว่างทำงาน กับลูกค้า ร้านค้า และสภาพอากาศ และพบไรเดอร์มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิต ภูมิแพ้ หอบหืด เบาหวาน และไขมันสูง ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต

                  นายฉัตรชัย เจิดศรี  กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้ร่วมกิจกรรมนี้ เพราะเป็นการตรวจสุขภาพฟรี แต่หากต้องทิ้งงานไปเสียค่าใช้จ่ายตรวจสุขภาพเองก็ไม่คุ้มค่า เพราะแต่ละวันต้องวิ่งรถส่งอาหาร พยายามทำรายได้ให้ถึง 700-900 บาทต่อวัน  ส่วนจุดเริ่มต้นของการมาเป็นไรเดอร์ เนื่องจากวิกฤตโควิด ทำให้งานประจำที่ทำอยู่เลิกจ้าง จึงหันมาเป็นไรเดอร์ ส่วนการตรวจสุขภาพยอมรับว่า ละเลย และมักมีปัญหาปวดคอ บ่า ไหล่ เนื่องจากการขับรถ ส่วนวิธีการจัดการกับภาวะเครียดจากลูกค้าอารมณ์เสียใส่ ใช้วิธีปล่อยวาง  ไม่เก็บมาใส่ใจ

                  เช่นเดียวกับนายกมล บริสุทธิ์ เล่าว่า มีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และเคยป่วย หลอดเลือดสมอง เพราะเคยประสบอุบัติเหตุมาก่อน การตรวจสุขภาพครั้งนี้นับว่าเป็นเรื่องดี ทำให้เกิดความตระหนักในการดูแลสุขภาพมากขึ้น เพราะการทำงานของไรเดอร์ ต้องใช้การขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นหลัก ด้วยท่าการขับขี่ทำให้ปวดคอบ่าไหล่ ส่วนเรื่องอุบัติเหตุมีการซื้อประกันอุบัติเหตุเพิ่ม พร้อมกับส่งประกันสังคมต่อเนื่อง

                  ส่วนนางเกียรติพร ปิ่นโต เล่าว่า อดีตเป็นพนักงานโรงแรม มีสวัสดิการ เมื่อถูกเลิกจ้างในช่วงโควิดก็ผันตัวมาเป็นไรเดอร์ส่งอาหาร ด้วยอาชีพอิสระมีเวลารับส่งลูกมากขึ้น แต่ก็พ่วงมากับภาระการหารายได้ให้ได้ตามเป้าในแต่ละวัน ที่ต้องได้อย่างน้อย 700 บาท ตั้งแต่ทำมายังไม่เคยประสบอุบัติเหตุ ในแต่ละวันต้องพบกับลูกค้าหัวร้อนบ้าง ทำให้ต้องบริหารอารมณ์ปล่อยวางความคิด ไม่ใส่ใจโต้ตอบ และพยายามยิ้มสู้  ส่วนปัญหาสุขภาพมีความอ่อนล้า ปวดเมื่อยคอ บ่า ไหล่ เมื่อกลับถึงบ้านจะใช้การผ่อนคลายกล้ามเนื้อด้วยวิธียืดเหยียด และมองว่าการบริการตรวจสุขภาพในกลุ่มไรเดอร์ จะช่วยให้หลายคนตระหนักเรื่องสุขภาพมากขึ้น

                  นายพงษ์ศักดิ์ สกุลทักษิณ ผู้รับผิดชอบโครงการ Health Rider กล่าวว่า เมื่อต้นปี 2567 ได้มีการสำรวจปัญหาสุขภาพของกลุ่มไรเดอร์ พบว่า ไรเดอร์มีทั้งภาวะความเครียด สุขภาพจิต ปวดคอบ่าไหล่ พบอุบัติเหตุ และมีภาวะอ้วนลงพุง จึงสื่อสารข้อมูลผ่านสสส. และเกิดแนวคิดให้ผู้ให้บริการ และผู้รับบริการมาพบกันในการตรวจสุขภาพ และส่งต่อข้อมูล จนเกิดเครือข่ายสุขภาพดีในกลุ่มไรเดอร์ โดยสสส. ประสาน กทม. ให้ร่วมดูแลสุขภาพ ทั้งการตรวจระดับน้ำตาล, ความดันโลหิต, องค์ประกอบร่างกาย, ความเสี่ยงสุขภาพจิต, ความเสี่ยงการใช้สารเสพติด โดยเฉพาะใบกระท่อม จากความเชื่อว่าทำให้ทำงานสู้แดด ซึ่งเรื่องนี้เป็นความเชื่อที่ผิด และส่งผลเสียต่อร่างกายได้ เมื่อไรเดอร์มาพบแพทย์ จะได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง

                  “การที่ไรเดอร์มีสุขภาพดี ไม่อ้วนลงพุง ส่งผลให้การบริการเป็นไปด้วยดี เพราะขับขี่ปลอดภัย ไม่อ่อนเพลีย ส่งผลดีต่อตัวเอง และการให้บริการสินค้า อาหารก็อยู่ในสภาพดีเพราะไม่เกิดอุบัติเหตุ และเมื่อส่งเสริมสุขอนามัย ก็ทำให้ไรเดอร์รู้จักดูแลตนเอง ส่งผลให้คนรับอาหารสุขภาพดีตามไปด้วย เพราะส่งต่ออาหารด้วยความระมัดระวัง ไม่มีการปนเปื้อน” นายพงษ์ศักดิ์  กล่าว

                  นพ.ธีรวีร์ วีรวรรณ ผู้อำนวยการกองสร้างเสริมสุขภาพ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การตรวจสุขภาพแกนนำไรเดอร์ ทั้ง 53 คน จาก 30,000 คน ช่วยให้เกิดความตระหนักต่อความเสี่ยงเกิดโรคต่างๆ  และ นำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงแก้พฤติกรรมที่ส่งผลกับสุขภาพของตนเอง ซึ่งปัญหาสุขภาพของไรเดอร์ เบื้องต้นพบพักผ่อนน้อย สูบบุหรี่ และมีปัญหาสายตา เนื่องจากขับขี่ท่ามกลางแสงแดดจ้า เมื่อแกนนำไรเดอร์ได้รับการตรวจสุขภาพแล้ว จะไปชักชวนเพื่อนไรเดอร์ด้วยกันมาตรวจสุขภาพเพิ่ม โดย กทม. จะจัดหาสถานที่ที่เหมาะสมออกหน่วยตรวจทุกวันพุธ และศุกร์ ตามห้างสรรพสินค้า เพื่อความสะดวกในการมารับบริการ และใช้เวลาไม่นานเพียง 1-2 ชั่วโมงเท่านั้นในการตรวจสุขภาพ  ซึ่งบริการตรวจสุขภาพนี้ เป็นไปตามสิทธิ์การส่งเสริมป้องกันโรค ของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่คนไทยทุกคนสามารถรับบริการได้ ไม่จำกัดว่าต้องอยู่ในสิทธิ์ใด และคาดจะเริ่มตรวจได้ในเดือนกรกฎาคมนี้

                  “ตอนนี้ทางกทม. ได้เชิญโรงพยาบาลและศูนย์อนามัยในสังกัด กทม. มาคุยกับแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อจูงใจไรเดอร์ให้มาตรวจสุขภาพ โดยจะออกแบบการตรวจสุขภาพ ให้ตรงกับสภาพปัญหาที่ไรเดอร์เป็นอยู่ ทั้งปัญหาสายตา การตรวจน้ำตาลหาความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวาน การเอ็กซ์เรย์ปอด เพื่อดูการทำงานของปอดจากการขับขี่พื้นที่ต่างๆ ที่อาจเผชิญกับมลพิษ รวมถึงพฤติกรรมสุขภาพที่มาจากการสูบบุหรี่” นพ.ธีรวีร์ กล่าว

                  นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สร้างเสริมสุขภาพสำหรับกลุ่มไรเดอร์  คนอาจมองจำกัดว่ามีแค่ปัญหาเรื่องการขับขี่เท่านั้น แต่จากการสำรวจสุขภาพของไรเดอร์พบว่า มีทั้งภาวะความเครียดจากความเร่งรีบ การปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ จากการที่อยู่ในอิริยาบทเดิมๆ เป็นเวลานาน ในท่าขับขี่ และอุบัติเหตุจากความเสี่ยงเรื่องจราจร และความร้อน

                  การส่งเสริมให้ไรเดอร์มีสุขภาพดี ทำให้การทำงานของไรเดอร์ รับของส่งของได้อย่างตรงเวลาและไม่เกิดความเครียด ทั้งผู้รับบริการ ร้านค้า ลูกค้า ทั้งนี้ สสส. ยังเตรียมประสานเครือข่ายแพลตฟอร์มอื่นที่สนใจเรื่องสุขภาพของไรเดอร์มาจับคู่กับหน่วยบริการสุขภาพ เพื่อรับการตรวจสุขภาพพื้นฐานด้วย

                  “แม้ว่า อาชีพไรเดอร์จะเป็นอาชีพอิสระ และถูกแยกออกจากกลุ่มอาชีพอื่น ๆ แต่ความจริงแล้วการดูแลสุขภาพเป็นเรื่องพื้นฐาน เป็นเรื่องที่นายจ้าง หรือต้นสังกัด หรือสถานที่ทำงานที่ใดก็ตามควรมีบทบาทช่วยดูแลสุขภาพ อาจเป็นรูปแบบของตรวจสุขภาพพื้นฐาน จากนั้นค่อยแยกความเสี่ยงเฉพาะของการเกิดโรคในแต่ละคน” นางภรณี กล่าว

                  ด้วยรูปแบบการทำงานของไรเดอร์ ภาระด้านสุขภาพจึงถือเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ที่เจ้าตัวต้องใส่ใจดูแล ต้องตระหนักรู้เพื่อป้องกันโรค เนื่องจากไม่มีสวัสดิการตรวจสุขภาพ แต่หากเจ้าของแพลตฟอร์มใส่ใจดูแล และใช้สิทธิประโยชน์พื้นฐานจากบริการส่งเสริมป้องกันโรค ในระบบหลักประกันสุขภาพที่ครอบคลุมคนไทยทุกสิทธิ์ ก็จะช่วยหนุนเสริมสุขภาพให้คนทำงานในแพลตฟอร์มในสังกัดได้

Shares:
QR Code :
QR Code