สเตียรอยด์แฝงภัยร้าย…ถ้าใช้ผิด
ที่มา : หนังสือสเตียรอยด์แฝงภัยร้าย…ถ้าใช้ผิด โดยศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ฃ
แฟ้มภาพ
สเตียรอยด์เป็นชื่อคุ้นหูอยู่ว่าเป็นยารักษาโรคในทางการแพทย์ ซึ่งสรรพคุณเหมือนเป็นยาวิเศษ รักษาโรคหรือภาวะต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย แต่ที่น่ากลัวก็คือ มีการนำสเตียรอยด์มาปลอมปนในผลิตภัณฑ์ยาหรือเครื่องสำอางเพื่ออวดอ้างสรรพคุณผลิตภัณฑ์นั้นๆ ซึ่งการมีสเตียรอยด์อยู่ในร่างกายนานวันเข้ามีแต่ส่งผลร้าย เราจึงควรรู้เท่าทันดักจับสเตียรอยด์ให้อยู่หมัดก่อนจะเข้าถึงตัวเรา
เวทมนตร์ของสเตียรอยด์
ยาสเตียรอยด์มีฤทธิ์ต้านการอักเสบลดอาการปวดต่างๆ หรือแม้แต่ช่วยให้ความผ่อนคลายร่างกาย ลดความอ่อนเพลียได้อย่างรวดเร็ว และอื่นๆ อีกครอบจักรวาล ยาสเตียรอยด์เป็นสารสังเคราะห์เลียนแบบสเตียรอยด์ธรรมชาติซึ่งจัดเป็นกลุ่มฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่อยู่ในร่างกายของเรา เพื่อทำหน้าที่ควบคุมระบบต่างๆ ในร่างกายให้ทำงานเป็นปกติอยู่เสมอ
ทางการแพทย์สารสเตียรอยด์จึงมีประโยชน์มากต่อการรักษาโรค โดยเฉพาะการรักษาแบบเฉพาะทาง เช่น โรคข้ออักเสบเวทมนตร์ของสเตียรอยด์โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ หรือผู้ป่วยที่ต้องการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ เป็นต้นโดยยาสเตียรอยด์ที่มักได้ยินชื่อก็คือเดกซาเมทาโซน และเพรดนิโซโลน
แต่รู้ไหมว่า…หมอจะใช้สเตียรอยด์ก็ต่อเมื่อเป็นทางเลือกสุดท้ายเท่านั้น หรือในกรณีที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาชนิดอื่นเพราะสเตียรอยด์ถือเป็นยาที่มีฤทธิ์แรงให้ทั้งคุณและโทษ
โทษก็คือ…สเตียรอยด์ส่งผลต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย ถ้าใช้เกินพอดีหรือในทางที่ผิด
ภัยร้ายที่เกิดจากการ ‘ติด’ สเตียรอยด์ระยะแรกไม่สามารถสังเกตเห็นอาการผิดปกติ แต่เมื่อทานไปนานๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ
1.ภูมิคุ้มกันลดลง ทำให้ติดเชื้อง่าย เป็นแผลที่ผิวหนังตามร่างกาย แขน ขา นิ้วมือและแผลหายช้า บางรายลุกลามไปทั่วร่างกายจนเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดทำให้เสียชีวิต
2.เยื่อบุกระเพาะอาหารบาง จนอาจทำให้กระเพาะอาหารทะลุหรือเลือดออกในกระเพาะอาหาร โดยไม่มีอาการปวดท้องมาก่อน
3.ผู้ป่วยเบาหวานไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในช่วงปกติได้ โดยระดับน้ำตาลจะสูงขึ้น
4.ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงไม่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในช่วงปกติได้ โดยความดันโลหิตจะสูงขึ้นแต่ไม่มีอาการเตือน นับเป็นภัยเงียบ
5.กระดูกพรุนและแตกหักง่าย ซึ่งเสี่ยงต่อผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคไขกระดูก ผู้ที่อยู่ในวัยทอง ไม่ควรใช้สเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานาน
6.อ่อนเพลีย กล้ามเนื้อแขนขาไร้เรี่ยวแรงหัวใจเต้นผิดจังหวะ
7.ต้อหิน หากใช้ยาหยอดตาที่ผสมสเตียรอยด์ หรือเป็นต้อกระจก จะทำให้ติดเชื้อที่ตาได้ง่ายอาจถึงขั้นตาบอด
8.ผิวหนังบาง หากใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดทาภายนอกติดต่อกันนานๆ โดยผิวหนังจะมีลักษณะเป็นมัน อักเสบมีผื่นแดง เกิดรอยแตกสีม่วงแดงตามผิวหนังที่หน้าท้องและต้นขา บางรายอาจเป็นสิวเห่อขึ้นทั้งตัว
9.คุชชิ่งซินโดรม (Cushing Syndrome) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของการใช้สเตียรอยด์ในปริมาณที่มาก อาการที่สังเกตได้คือใบหน้ากลมคล้ายพระจันทร์ ไขมันพอกต้นคอ ด้านหลังเป็นหนอก ผิวหนังบาง มีรอยแตกสีม่วงแดงตามผิวหนังที่หน้าท้องและต้นขา
10.ร่างกายหยุดใช้สารสเตียรอยด์ธรรมชาติที่เคยสร้างเอง เมื่อได้รับสารสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ดังนั้นถ้าผู้ใช้หยุดยานี้อย่างกะทันหันจะทำให้ร่างกายขาดสเตียรอยด์ฉับพลัน อาจเกิดภาวะช็อกหมดสติ และเสียชีวิตได้
ดักจับสเตียรอยด์
ลักษณะยาหรืออาหารเสริมที่มีสเตียรอยด์
– มักมาในรูปแบบของยาสมุนไพรหรือยาแผนโบราณ ทั้งในรูปแบบยาลูกกลอน ยาผง ยาผงบรรจุแคปซูล ยาชุด เช่น ยาชุดลดความอ้วน ยาชุดเจริญอาหาร หรือยาชุดสรรพคุณวิเศษต่างๆ ฯลฯ
– สรรพคุณวิเศษอวดอ้างเกินจริง เหมือนยาครอบจักรวาล เช่น ลดไข้ฉับพลัน แก้ปวดเมื่อยเนื้อตัวและข้อกระดูกได้ชะงัก แก้โรคภูมิแพ้ ฯลฯ
– มักอ้างว่ารักษาอาการที่การแพทย์แผนปัจจุบันรักษาไม่หายขาด เช่น โรคเบาหวาน มะเร็ง อัมพาต ฯลฯ
– หลังทานหรือใช้ผลิตภัณฑ์ตัวนั้น ผู้ใช้มักรู้สึกพึงพอใจกับผลของยาที่ออกฤทธิ์เร็ว รู้สึกเหมือนอาการดีขึ้น และติดใจใช้ยาชนิดนั้นๆ ต่อเนื่องทั้งที่ความจริงแล้วไม่ได้รักษาอาการของโรคโดยตรง และเมื่อใช้ยาชนิดนั้นต่อเนื่องเป็นเวลานานจะเริ่มมีอาการติดสเตียรอยด์ที่แสดงออกมาภายนอกเช่น แผลหายช้า อ่อนเพลีย ผิวหนังบาง ฯลฯ
– การขายผลิตภัณฑ์มักบอกต่อกัน
– ไม่มีแหล่งที่อยู่ของสินค้าที่ชัดเจน เช่น สั่งสินค้าผ่านการส่งทางไปรษณีย์
– ไม่มีเลขทะเบียนยาหรือใช้เลขทะเบียนยาปลอม