สู้ภัยเงียบ โรคหลอดเลือดหัวใจ
ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐ
แฟ้มภาพ
นับวันยิ่งเป็นเสมือนภัยเงียบซึ่งคร่าชีวิตคนไทยที่สร้างความหวาดกลัวจากจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเพศชายซึ่งพบอัตราการเสียชีวิตมากกว่าเพศหญิง โดยมี 4 ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง และ การสูบบุหรี่ ขณะที่พฤติกรรมขาดการออกกำลังกาย รับประทานอาหารจำพวกฟาสต์ฟู้ด ก็ล้วนเป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้เกิดโรคได้เช่นกัน
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในปี 2559 พบผู้เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจ 19,030 คน คิดเป็นอัตราตายอยู่ที่ 29.09 ต่อประชากรแสนคน ส่วนผู้ป่วยโรคหัวใจรายใหม่อยู่ที่ 98,148 ราย หรืออุบัติการณ์อยู่ที่ 150.1 ต่อประชากรแสนคน สถานการณ์ของผู้ป่วยและเสียชีวิตที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นนั้น สะท้อนให้เห็นถึงภัยเงียบจากเพชฌฆาตร้ายอย่างโรคหลอดเลือดหัวใจที่ทุกคนต้องไม่มองข้าม
และนั่นส่งผลให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมีการตื่นตัวในการรณรงค์ให้ความรู้และตื่นตัวกับการป้องกันและรักษาโรคมากขึ้น
โดย รศ.นพ.วสันต์ อุทัยเฉลิม นายกสมาคมแพทย์มัณฑนากรหัวใจและหลอดเลือดแห่งประเทศไทย เล่าว่า โรคหลอดเลือดหัวใจ เกิดจากหลอดเลือดที่เลี้ยงหัวใจแคบลงหรือตีบตัน ซึ่งเกิดจากการที่มีไขมันเข้าไปแทรกอยู่ในผนังหลอดเลือด หรือเรียกว่า ตะกรัน โดยตะกรันจะค่อยๆสะสมในผนังจนทำให้ผนังค่อยๆตีบแคบขึ้น ซึ่งสามารถพบได้ในหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย แต่ หากพบในสมองจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ทั้งนี้หากพบในหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจก็ทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด
หากไม่ทำการรักษาจะพบอาการได้ 2 แบบ คือ 1.กลุ่มอาการคงที่เป็นอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป และหากตีบถึง 70% ของผนังหลอดเลือดก็จะเริ่มมีอาการหัวใจขาดเลือด และ 2.กลุ่มแบบเฉียบพลันหรือฮาร์ทแอทแทค เกิดจากตะกรันที่ตีบซึ่งอาจตีบแค่ 45-50% แต่เกิดการแตกของตะกรัน จนทำให้ของที่อยู่ในตะกรันแตกออกมาอยู่ในหลอดเลือดและกระตุ้นทำให้เกิดการแข็งตัวของเลือด กลายเป็นลิ่มเลือดอุดตันเฉียบพลันขึ้นซึ่งกลุ่มที่ 2 อาการจะรุนแรงกว่า หากอุดตันแบบสนิทแล้วไม่สามารถเปิดเส้นเลือดได้ก็จะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายแบบเฉียบพลัน
“สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมีหลายปัจจัยร่วมกันแต่หากมีครบทั้ง 4 ปัจจัย คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูงไขมันสูง และการสูบบุหรี่ จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนี้ได้มากกว่าคนปกติถึง 15-20 เท่า ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่น่ากังวลคือพบผู้ป่วยมีอายุน้อยลงคืออายุ 30-40 ปีทั้งยังพบด้วยว่าส่วนใหญ่มีอาการแบบกลุ่มที่2ทั้งที่จากเดิมเคยพบในช่วงอายุ 50-60 ปี สำหรับอาการของโรคที่พบบ่อยที่สุด คือ มีอาการเจ็บแน่นตรงกลางหน้าอกเหมือนมีอะไรมากดทับ บีบรัด เฉียบพลันรุนแรง โดยอาการเหล่านี้จะเป็นอยู่ 1-2 นาที พักแล้วจะดีขึ้น มักพบในกลุ่มอาการเรื้อรัง
ส่วนกลุ่มอาการเฉียบพลันมักเป็นขึ้นมาทันทีและอาการจะรุนแรงกว่ารวมถึงเจ็บนาน 15-30 นาที นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการเจ็บแน่นร้าวขึ้นกรามอาจร้าวไปถึงไหล่และแขนทั้ง 2 ข้าง มักเกิดขึ้นขณะออกกำลังกาย เวลารีบเร่ง หรือร่างกายต้องทำงานหนัก หัวใจต้องการเลือดมาเลี้ยงมากขึ้นก็มักจะมีอาการ แต่ในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานมักจะไม่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก แต่จะมีอาการเหนื่อยง่าย ต้องพักเดินเพราะเดินต่อไม่ไหว หายใจไม่ทัน และมีเหงื่อออกร่วมด้วย ซึ่งอาการคล้ายกรดไหลย้อนหรือโรคกระเพาะจนไม่ได้ตรวจรักษามาอีกครั้ง อาการก็จะรุนแรงจนเสียโอกาสทางการรักษา ดังนั้นหากมีอาการเหล่านี้ต้องรีบพบแพทย์”รศ.นพ.วสันต์ ขยายภาพปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคและวิธีการสังเกตอาการ
ส่วนวิธีการรักษานั้น หลักๆมี 3 วิธี ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค ได้แก่ 1.รับประทานยา ใช้รักษาในกรณีเป็นแบบเรื้อรังหรือควบคุมอาการได้ รับประทานยาแล้วไม่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อย หรือหลอดเลือดไม่มีการตีบมากในจุดสำคัญ
2.ทำบอลลูนและใส่ขดลวดไปขยายหลอดเลือด ใช้รักษาในกลุ่มที่รุนแรงกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันมีการตีบต้องรีบรักษาโดยเปิดเส้นเลือดให้เร็วที่สุด ซึ่งปัจจุบันมี 2 วิธี คือให้ยาละลายลิ่มเลือด และการใส่บอลลูนหรือสายสวนเพื่อขยายหลอดเลือดขณะที่อุดตันเฉียบพลัน แต่ต้องทำก่อนกล้ามเนื้อจะเสียไปหมด ยิ่งทำได้เร็วยิ่งดี เพราะจะช่วยรักษากล้ามเนื้อให้เป็นปกติที่สุด โดยเฉพาะทำภายใน 1-3 ชั่วโมงหรือภายใน6 ชั่วโมง หลังจากเริ่มมีการอุดตันของเส้นเลือด เพราะยิ่งช้ากล้ามเนื้อก็จะได้รับความสูญเสียมีภาวะแทรกซ้อน เช่น หัวใจวาย เป็นต้นและ
3.การผ่าตัดทำทางเบี่ยงของเส้นเลือดหรือทำบายพาส จะทำเมื่อไม่สามารถใช้วิธีการรักษา 2 วิธีแรกได้ ส่วนการรักษานั้นครอบคลุมทั้ง 3 สิทธิ คือ บัตรทอง ประกันสังคม และข้าราชการ แต่จะกำจัดเรื่องการใช้อุปกรณ์บ้าง เช่น สิทธิบัตรทองจะจำกัดอุปกรณ์ใช้ตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจัดหาให้ส่วนสิทธิข้าราชการจะมีเพดานราคาหากเกินก็ต้องร่วมจ่ายส่วนเกินบ้าง
“สิ่งสำคัญของการรักษาโรคนี้คือยิ่งรักษาเร็วยิ่งดี หากอาการเข้าขั้นวิกฤติสามารถใช้สิทธิเข้ารักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ ซึ่งรัฐจะรับผิดชอบค่ารักษาภายใน 72 ชั่วโมงให้ และขอย้ำว่าการใส่สายสวนมีความปลอดภัยสูงแม้จะมีผลข้างเคียง แต่ไม่ถึงขั้นเสียชีวิตโดยเฉพาะในกลุ่มเรื้อรัง ส่วนในการดูแล เนื่องจากการใส่ขดลวดอาจมีการตีบซ้ำที่อาจพบได้ในช่วง 3 เดือน-1 ปีแรกแต่ก็มีโอกาสน้อยกว่า 10% ที่เหลือจะไม่มีปัญหา ภายหลังการใส่นั้นไม่ต้องกังวลเพราะขดลวดมีขนาดเล็กมากจึงไม่ค่อยมีปัญหาแต่ต้องรับประทานยาและปฏิบัติตัวตามแพทย์แนะนำ ทั้งนี้ อีกสิ่งสำคัญคือการลด 4 ปัจจัยเสี่ยง” รศ.นพ.วสันต์ กล่าวถึงวิธีการรักษา