สู่ทศวรรษแห่งการลงมือทำ

 

แม้ว่าวันนี้  “วัยเด็ก” จะเป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลกมากขึ้นว่า”วัยเด็กยุคดิจิตัล มีสมรรถภาพทางสมองมากกว่า วัยรุ่นในยุคอนาล็อก” แต่นั่น ก็มิได้หมายความว่า “เด็กจะหมดความเป็นเด็ก” เพราะด้วยวัย  ด้วยอายุที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ขึ้นมาให้รวมเป็นชีวิตคนในวัยนี้ “เด็กย่อมมีความเป็นเด็ก” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเด็กจะฉลาด เด็กจะมีวิจารณญาณมากขึ้นแค่ไหน “ผู้ใหญ่”ก็ย่อมต้องคอย ปกป้อง ให้คำปรึกษาและ ดูแล เพื่อเติมเต็มให้สิ่งที่ยังไม่เต็มที่ในวัยเด็ก ไม่เกิดความผิดพลาดขึ้นมา

มีตัวเลขที่ผู้ใหญ่จะต้องให้ความเป็นห่วงแก่เด็ก และหาทางแก้ไขไม่ให้ปัญหาทวีความรุนแรงมากขึ้น  นั่นคือ สถิติเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่ระบุชัดเจนว่า “เด็กและเยาวชนมีตัวเลขที่เสียชีวิตมากที่สุด”โดยดูจากตัวเลขรวม แล้วแยกประเภทที่ระบุเอาไว้ว่า “คนไทยเสียชีวิตวันละ 30 คน จากอุบัติเหตุ กลุ่มที่เสียชีวิตสูงที่สุด คือเด็กและเยาวชน”

แน่นอนว่าไม่มีใคร อยากให้เกิดความสูญเสีย เช่นที่กล่าวมาโดยเฉพาะอุบัติเหตุมักเกิดขึ้นในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งจะเป็นกำลังเป็นอนาคตของชาติต่อไป

ตัวเลขที่มีการบันทึกเอาไว้ ปรากฏออกมาดังนี้สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2543-2552 เกิดอุบัติเหตุทางถนนขึ้น 983,076 ครั้งมีผู้เสียชีวิต 124,855 ราย และมีอีก 151,286 ราย บาดเจ็บสาหัสโดยในปี 2553 แบ่งแยกประเภทผู้บาดเจ็บที่พบ 1,189,133 คน มีผู้ที่สูญเสียอวัยวะ 0.9% โดย 43.5% ของกลุ่มผู้ประสบอุบัติเหตุทั้งหมด เป็นหัวหน้าครัวเรือน และ 37.2% เป็นบุตร

หากจะนับความสูญเสียนอกจากตัวเลขทางเศรษฐกิจ เชื่อว่าการเสียใคร คนใด คนหนึ่งในครอบครัวไป คงเป็นเรื่องใหญ่ และต้องเร่งหาทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำซ้อนไปเรื่อยๆ

เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ร่วมกับ มูลนิธิไทยโรดส์ ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัดและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมมือกันจัดแถลง 11 ดัชนี ชี้วัดตัวการคร่าชีวิตคนไทยบนท้องถนน สู่ทศวรรษแห่งการลงมือทำ : Time For Action” ซึ่งในช่วงปลายเดือนสิงหาคม จะมีการจัดงานสัมมนาระดับชาติเรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 10ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมนานาชาติกรุงเทพ ไบเทค บางนา เพื่อเน้นการมีส่วนร่วมเพื่อลดการตายให้ได้ครึ่งหนึ่ง ภายใน 10 ปี

ทั้งนี้ ทั้งนั้น ผู้จัดโครงการมีความคิดว่า  ความสูญเสียที่เกิดจากอุบัติเหตุ เป็นเรื่องที่ป้องกันและลดความสูญเสียชีวิตลงได้ ดังนั้นในช่วงเวลา 10 ปี ต่อจากนี้ จึงเป็นเวลาที่ประเทศไทยต้อง “ลงมือทำ” โดยใช้ความร่วมมือจากทุกฝ่ายในสังคมไทย เพื่อระดมงบประมาณและทรัพยากร เพื่อให้ความสูญเสียที่เกิดจากอุบัติเหตุลดลง

ถ้าจะหันไปดูทางภาครัฐ พบว่า มี มติ ครม.เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2554 ได้มีการประกาศให้ปี 2554 เป็นปีแห่งการส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัยและให้หน่วยงานภาครัฐทุกแห่ง กำหนดให้บริเวณสถานที่ราชการ เป็นพื้นที่สวมหมวกนิรภัย 100%โดยมีคำสั่งให้ผู้ว่าราชการทุกแห่งแจ้งให้หน่วยงานในพื้นที่ร่วมมืออย่างเคร่งครัด

การกระทำดังกล่าวนี้ สอดคล้องกับปฏิญญามอสโก ในเรื่องการป้องกันความสูญเสียจากอุบัติเหตุที่มีกรอบประกอบด้วย  5เสาหลัก เพื่อเป็นแนวทางการทำงาน คือ 1.การบริหารจัดการ 2.ความปลอดภัยด้านโครงสร้างถนน 3.ความปลอดภัยด้านยานพาหนะ 4.ด้านสมรรถนะและพฤติกรรมผู้ขับขี่ และ 5.ด้านการช่วยเหลือรักษา

ขณะนี้ไทยได้ประกาศให้ตั้งแต่ปี 2554-2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน ซึ่งได้กำหนดให้ลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศให้ต่ำกว่า 10 คน ต่อประชากร 1แสนคน ภายในปี 2563

ผศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียอธิบายถึงการรวบรวมสถานการณ์อุบัติเหตุของไทยว่า เป็นความพยายามหาสาเหตุของปัญหา เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันในทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อนำไปสู่การคมนาคมขนส่งที่ปลอดภัย ซึ่งได้พบว่าพฤติกรรมเสี่ยงหลักๆ ที่เกิดขึ้น ยังเป็นการใช้ความเร็วเกินกำหนดเมาแล้วขับ การไม่สวมหมวกนิรภัย การไม่คาดเข็มขัดนิรภัย เป็นต้นส่วนปัจจัยอื่นๆ ยังคงมี อาทิ ลักษณะของถนน ความเสี่ยงเฉพาะตัวของรถบางประเภท เป็นต้น

มี ดัชนีชี้วัดความปลอดภัยทางถนน 11ด้าน ที่จะมีการตีแผ่อย่างละเอียด ในงานสัมมนาระดับชาติเรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 10 ภายใต้หัวข้อ “สู่ทศวรรษแห่งการลงมือทำ :Time For Action” จะชี้ภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า อะไรที่เป็นสาเหตุแล้วจะนำไปสู่การแก้ไขอย่างไร

ดัชนีที่สำคัญ คือ 1.การเสียชีวิตบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน 2.ความรุนแรงของอุบัติเหตุทางถนน 3.อุบัติเหตุในช่วงเทศกาล4.ความเสี่ยงจากการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน  5.กลุ่มเสี่ยงต่ออุบัติเหตุและการบาดเจ็บ 6.การใช้ความเร็ว 7.เมาแล้วขับ 8.การใช้อุปกรณ์นิรภัย 9.การคมนาคมขนส่งทางถนนและความปลอดภัยในการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะ 10.การเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ 11.จุดอันตราย และจุดเสี่ยงบนท้องถนน

จากดัชนีเหล่านี้ ทำให้ พบว่าคนไทยเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุที่รุนแรงมากขึ้น หมายถึงการเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้งเสี่ยงที่จะเกิดการเสียชีวิตมากขึ้น จากพฤติกรรมเสี่ยงหลายอย่าง เช่น ขับรถเร็ว พบว่าผู้ขับขี่ 60-70% ยอมรับว่าเคยขับรถเร็วในเขตเมือง ขณะที่อัตราการสวมหมวกนิรภัยมีเพียง 53% และคาดเข็มขัดนิรภัย มีเพียง 61% เป็นต้น

การแก้ปัญหาจึงต้องคิดอย่างเป็นระบบและทุกภาคส่วนให้ความสำคัญในการร่วมกัน “คิดและลงมือทำ”

พูดมาตั้งยืดยาว สรุปแบบภาษาบ้านๆ คงจะสร้างให้เป็นประโยคสวยๆได้ว่า “คนไทยนั้นดีแต่คิด ดีแต่พูด แต่ไม่มีใครอยากลงมือทำ จึงอยากขอร้องในบัดนี้ จงลงมือทำกันในวันนี้เถอะ”

 

 

ที่มา หนังสือพิมพ์แนวหน้า โดย ปานมณี

Shares:
QR Code :
QR Code