สูบบุหรี่ ระวังให้ดี เพราะมีผลต่อหัวใจ !!

ที่มา : โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาการุณย์

สูบบุหรี่ ระวังให้ดี เพราะมีผลต่อหัวใจ

                    การสูบบุหรี่ อย่างที่เราทราบกันดี ก็คือจะมีโทษต่อร่างกายตัวเองอย่างมากมาย และต่อผู้อื่นด้วย และนอกจากนี้ บุหรี่ ยังส่งผลให้หัวใจทำงานหนักมากขึ้นด้วย ซึ่งทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบ หัวใจเต้นเร็ว และความดันโลหิตสูงขึ้น ดังนั้น บุหรี่จึงเป็นปัจจัยทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน เนื่องจากในควันบุหรี่มีสารพิษหลายชนิดที่เป็นอันตรายต่อหลอดเลือด และหัวใจ ได้แก่ นิโคติน และ คาร์บอนมอนอนกไซด์ โดยองค์การอนามัยโลก ได้ระบุว่า 1 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นผลมาจากการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะสตรีที่สูบบุหรี่ร่วมกับการกินยาคุมกำเนิด จะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจเพิ่มขึ้นอีกด้วย

นิโคติน

                    นิโคติน เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดอาการติดบุหรี่ และเป็นปัจจัยที่ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น และอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น หลอดเลือดที่เลี้ยงหัวใจจะหดและเกร็งตัว ซึ่งจะทำให้เลือดไม่สามารถเลี้ยงหัวใจได้ ทำให้หัวใจต้องการออกซิเจนมากขึ้น

คาร์บอนมอนอกไซด์

                    สารคาร์บอนมอนอกไซด์ จะเข้าไปจับตัวกับเม็ดเลือดแดง ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อหัวใจได้รับออกซิเจนน้อยลง ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น และทำงานหนักขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้เลือดนำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างพอเพียง

เลิกบุหรี่ หัวใจดีขึ้นจริงหรือไม่

                    ในบุหรี่มีสารเคมีมากกว่า 4,800 ชนิด ซึ่งเป็นอันตรายต่อหัวใจและหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบตันได้ง่าย ผู้ที่เคยสูบบุหรี่น้อยกว่า 20 มวนต่อวัน และหยุดการสูบบุหรี่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจขาดเลือดได้ ซึ่งถ้าหากเลิสูบบุหรี่นานกว่า 10 ปี โอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจจะเทียบเท่าได้กับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ สำหรับผู้เคยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือหัวใจขาดเลือด หากเลิกสูบบุหรี่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจซ้ำ และลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 36 เมื่อเทียบกับผู้ที่ยังสูบบุหรี่ต่อไปเรื่อย ๆ

อยากเลิกบุหรี่ ต้องทำอย่างไร

1 . ตั้งใจให้แน่วแน่ว่าต้องการเลิกสูบบุหรี่ด้วยตัวเอง

2 . กำหนดวันไม่สูบบุหรี่ของตัวเอง อาจเป็นวันพระ วันเกิดตัวเอง หรือคนในครอบครัว แต่ไม่ควรเลือกช่วงเวลาที่มีความเครียด

3 . ทิ้งอุปกรณ์สูบบุหรี่ทั้งหมด เพื่อลดการกระตุ้นความอยากบุหรี่

4 . บอกเล่าความตั้งใจในการเลิกบุหรี่ให้ทุกคนรับรู้ เพื่อเป็นกำลงใจในการเลิกบุหรี่ให้สำเร็จ

5 . งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ อาหารรสจัด ไม่รับประทานอาหารให้อิ่มเกินไป ไม่นั่งโต๊ะอาหารนาน ๆ เพราะหลังรับประทานอาหาร อาจเกิดความรู้สึกอยากบุหรี่ได้

6 . ในช่วงแรกของการเลิกบุหรี่อาจจะรู้สึกหงุดหงิด ให้สูดหายใจเข้า – ออกลึก ๆ และดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อช่วยลดความอยากบุหรี่ หรืออาบน้ำให้ร่างกายรู้สึกสบายมากขึ้น

7 . ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พยายามหางานอดิเรกทำ เพื่อคลายเครียด เพราะส่วนใหญ่แล้ว หลังเลิกสูบบุหรี่อาจจะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้น การออกกำลังกาย การควบคุมอาหาร และลดการรับประทานอาหารรสหวานจะช่วยควบคุมน้ำหนักได้ด้วย

สามารถติดตามบทความและข้อมูลอ้างอิงต่อได้ที่… โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาการุณย์

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ