สูบบุหรี่พร้อมดื่มเหล้า เสี่ยง ‘มะเร็งช่องปาก’
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
ภาพประกอบจากเว็บไซต์กรมอนามัย
สูบบุหรี่พร้อมดื่มเหล้า เสี่ยง..มะเร็งช่องปากเพิ่ม 15 เท่า
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า โรคมะเร็งช่องปากพบมากเป็นอันดับ 6 ของโรคมะเร็งทั้งหมด จากการสำรวจของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ก.สาธารณสุขปี 58 พบร้อยละ 95 ที่พบเป็นชนิดสแควมัสเซลล์คาร์ซิโนมาที่รุนแรง ทำให้ผู้ป่วยมีอัตราตายสูงมากกว่าร้อยละ 90
โรคนี้จึงเป็นปัญหาสำคัญทางการแพทย์ที่มีผลกระทบโดยตรงกับสุขภาพผู้ป่วย รวมถึงครอบครัวและสังคม แต่ละปีรัฐต้องสูญเสียงบฯ ดูแลรักษาผู้ป่วยจำนวนมาก
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุสำคัญอันดับต้นๆ คือ สูบบุหรี่ รวมถึงยาเส้น และดื่มเหล้า แต่หากสูบบุหรี่ร่วมกับดื่มเหล้าจะมีความเสี่ยงมะเร็งช่องปากเพิ่มขึ้นถึง 15 เท่า
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่ เคี้ยวหมาก ติดเชื้อไวรัส HPV กินผักและผลไม้น้อย บริโภคเนื้อสัตว์แปรรูป มีอนามัยช่องปากไม่ดี เป็นต้น โดยกลุ่มเสี่ยงคือ ผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป มีประวัติสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เคี้ยวหมาก หรือบุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็น
ทั้งนี้ กรมอนามัย โดยสำนักทันตสาธารณสุข ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ และเครือข่ายวิชาชีพทันตแพทย์ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมมือกันจัด โครงการทันตแพทย์ไทยต้านภัยยาสูบ ตรวจคัดกรองรอยโรคในช่องปากแก่ผู้ที่มารับบริการทันตกรรมทั้งจากทันตแพทย์หรือตรวจคัดกรองโรคด้วยตนเอง เพราะหากตรวจพบมะเร็งชนิดนี้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก จะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาได้เร็ว ช่วยลดความรุนแรง และเพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้มากขึ้น
ศ.ทพ.ดร.อะนัฆ เอี่ยมอรุณ คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ที่ปรึกษาโครงการคัดกรองรอยโรคฯ กล่าวว่า 4 สัญญาณเตือน ของรอยโรคมะเร็งช่องปากระยะแรกที่สังเกตได้ง่ายๆ คือ "แดงขาว แผล ก้อน" ได้แก่ 1.รอยโรคสีแดงหรือแดงปนขาวเกิดขึ้นที่เนื้อเยื่อช่องปาก 2.มีแผ่นฝ้าสีขาวเช็ดไม่ออกบริเวณเนื้อเยื่อช่องปาก 3.มีแผลเรื้อรังในช่องปากที่เป็นแล้วไม่หายภายใน 2 สัปดาห์ 4.มีก้อนในช่องปาก มีลักษณะแข็งเป็นไตไม่เจ็บ
นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณเตือนอื่นๆ ของมะเร็งช่องปากระยะแรกที่สังเกตได้อีก เช่น เจ็บคอเรื้อรัง เสียงแหบ กลืนลำบาก ชาที่ลิ้น ฟันปลอมที่เคยใส่ใช้ไม่ได้ หรือไม่พอดีเหมือนเดิม หากมีอาการดังกล่าว หรือตรวจช่องปากดูแล้วพบว่ามีลักษณะที่น่าสงสัย ให้รีบไปพบแพทย์หรือทันตแพทย์ เพื่อตรวจที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทันที