สูตรสำเร็จแนวคิดจัดการตนเอง ฉบับ “บ้านแฮ่ด”

จากนโยบายให้ความสำคัญในเรื่องพัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นหลัก ทำให้เทศบาลตำบลบ้านแฮ่ดได้มาตั้งหลักในเรื่องของการสร้างสุขภาวะของคนในตำบลบ้านแฮ่ดทั้ง 8 หมู่บ้านซึ่งมีประชากรเจ็ดพันกว่าคน และยังเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งศูนย์บริการสาธารณสุขโดยภาคท้องถิ่น


สูตรสำเร็จแนวคิดจัดการตนเอง ฉบับ


ศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาลตำบลบ้านแฮ่ด อำเภอบ้านแฮ่ด จังหวัดขอนแก่นเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ ที่มีคุณภาพการให้บริการเทียบเท่ากับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) ที่มาของการจัดตั้งศูนย์เนื่องจาก รพสต.บ้านแฮ่ดและ รพสต. บ้านขามเปี้ยทั้ง 2 แห่ง ตั้งอยู่ห่างไกลจากชาวบ้านหมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 3 ประชาชนลำบาก ในการเดินทางเพื่อไปรับบริการด้านสาธารณสุข จึงมีการทำประชามติต้องการให้จัดตั้งศูนย์ดังกล่าว


การจัดตั้งศูนย์บริการสาธารณสุขบ้านแฮ่ดมุ่งมั่นดำเนินการด้วยตัวเอง โดยได้รับคำปรึกษาแนะนำจากเครือข่ายด้านสาธารณสุขในพื้นที่ เมื่อจัดตั้งสำเร็จจึงได้ยื่นขอขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิตามเกณฑ์กระทรวงสาธารณสุข โดยศูนย์แห่งนี้ให้บริการประชาชนในพื้นที่ 2,000 คน ด้านการบริหารจัดการ และหลักเกณฑ์การต่างๆ ดำเนินงานภายใต้เงื่อนไขของกระทรวงสาธารณสุขทุกประการ


"ถามว่าทำไมเราถึงทำได้ ผมมองว่าการทำงานเราสามารถวางแผนเป็นระยะได้ เวลาคิดต้องมองกรอบใหญ่ ส่วนเวลาทำ เราใช้วิธีการเดินทีละก้าว เพราะทำให้เราเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละขั้น อย่างศูนย์แห่งนี้ตอนเริ่มต้น เราสร้างอาคารแค่อย่างเดียว พอมีงบประมาณ เราก็ค่อยๆ ปรับปรุง ทยอยต่อเติม หรือซื้ออุปกรณ์ใส่เข้าไป รถฉุกเฉินก็ค่อย ๆ ซื้อเพิ่ม"


ศิริพงษ์ อรุณเดชาชัย นายกเทศมนตรีตำบลบ้านแฮ่ด กล่าวต่อว่าในเรื่องความพร้อม เชื่อว่าศูนย์บริการสาธารณสุขแห่งนี้มีศักยภาพ  แต่สิ่งที่ด้อยอยู่อย่างเดียว คือบุคลากรด้านการแพทย์


"แต่ผมมองว่าสิ่งที่ได้คือ ท้องถิ่น มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น และ ท้องถิ่นมีอิสระในการบริหารตนเอง มีงบประมาณของตนเอง ดังนั้นการตอบสนองในเรื่องการให้บริการและการพัฒนาการบริการต่างๆ จึงทำได้รวดเร็ว"


การปักหลักในด้านการพัฒนาสุขภาวะของบ้านแฮ่ดยังรุกคืบไปสู่การปฏิบัติงานเชิงรุก มีการออกไปเยี่ยมเพื่อสำรวจข้อมูลสุขภาพคนในชุมชน จัดตั้งอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ จัดตั้งกลุ่มแพทย์แผนไทและแพทย์ทางเลือก ซึ่งจากการเข้าร่วมเป็นเครือข่ายสุขภาวะของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. จึงได้นำระบบ TCNAP และ RECAP ของ สสส.


นำมาปรับใช้พัฒนาฐานข้อมูลประชากรในชุมชน ที่ต่อมาถูกนำมาปรับใช้เป็นนโยบายของ ทต.บ้านแฮ่ด การดำเนินการยังขยายผลไปสู่การเข้าถึงการบริการด้านการแพทย์ของคนในท้องถิ่นดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรังด้อยโอกาส ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและคนยากไร้ในชุมชน


"ปกติกลุ่มผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องไปหาตามที่นัด โดยว่าจ้างรถเพื่อไปหาหมอ เสียค่าใช้แต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 500-600 บาท จึงมาขอใช้บริการรถกู้ภัยฉุกเฉินของศูนย์ แต่ตามกฏเราไม่สามารถนำรถฉุกเฉินออกไปให้บริการได้ เทศบาลจึงได้เสนอมติต่อสภาชุมชน ขออนุมัติจัดซื้อรถสำหรับรับส่งผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว" นายศิริพงษ์ กล่าวว่าผลจากการดำเนินงานมาสองปี ประเมินพบว่ากลุ่มผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอาการกำเริบจากโรคน้อยลง เนื่องจากได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องดีขึ้น ขณะเดียวกัน งานพัฒนาอีกด้านคือการรณรงค์คัดแยกขยะครัวเรือนยังเห็นผลเป็นรูปธรรม ไม่เพียงปัญหาสิ่งแวดล้อมลดลง แต่ชาวบ้านมีสุขภาพดีขึ้นและยังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจัดตั้งธนาคารขยะ และการนำขยะมาสร้างมูลค่าเพิ่ม


สามสี่ปีที่แล้วขยะในชุมชนมีปริมาณถึงวันละ 6 ตัน แต่ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 3 ตันต่อวัน โดยในจำนวนนี้ ร้อยละ 60 ยังเป็นขยะอินทรีย์ ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ ทางเทศบาลกำลังขยายผลโดยส่งเสริมโครงการผลิตปุ๋ยชีวภาพจากขยะสูตรสำเร็จแนวคิดจัดการตนเอง ฉบับ อินทรีย์เพิ่มเติม


ทุกวันนี้บ้านแฮ่ดเปลี่ยนจากรถเก็บขยะคันโต เหลือเพียงรถซาเล้งคันจิ๋วไล่ล่าหาขยะในชุมชน และล่าสุดบ้านแฮ่ดกำลังจะเปลี่ยนโมเดลเก็บขยะอีกครั้ง ด้วยพาหนะที่ลดขนาดลงเหลือเพียงรถเข็นหนึ่งคัน และไม้กวาด 1 ชุดเท่านั้น


"เราตั้งชื่อไว้ว่า "ชุดปรับปรุงสิ่งแวดล้อมชุมชน" ซึ่งเร็วๆ นี้ ผมจะแจกจ่ายให้หมู่บ้าน 1 ชุมชน ต่อ 1 คัน แต่ละหมู่บ้านต้องรับผิดชอบเรื่องขยะกันเอง เพราะต่อไปบ้านแฮ่ดจะไม่มีเจ้าหน้าที่เก็บขยะ"


กลยุทธ์สำคัญที่สามารถชักชวนให้ชาวบ้านแยกขยะอย่างเบ็ดเสร็จ จนมีรางวัล Zero Waste 1 ใน 5 ของประเทศการันตีนายกฯ บ้านแฮ่ดเปิดใจว่า "กระบวนการ มีส่วนร่วม" มีส่วนต่อความสำเร็จอย่างมาก


"เราต้องแสดงให้ชาวบ้านเห็นว่า เราทำจริง สร้างการรับรู้และความเข้าใจ เมื่อเขาเชื่อก็จะยอมร่วมมือ เมื่อก่อนเรื่องขยะ ต้องทำให้หมด ขนาดถังขยะล้มยัง โทรเรียกมาเก็บให้ แต่วันนี้ พฤติกรรมคนในชุมชนเปลี่ยน จำนวนขยะลดลง ทุกอย่างลดลง สิ่งเดียวที่เพิ่มคือคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน


"ต่อไปหน้าที่เราคือการไปจัดกระบวนการให้เขาเท่านั้น  ทุกวันนี้เราไม่ต้องใช้รถเก็บขยะวิ่งตามหมู่บ้านอีกแล้ว ถังขยะริมถนนเราเก็บออกหมด เมื่อทำแล้วเกิดผลดีเรื่อยๆ ยิ่งชุมชนได้รับรางวัลเขายิ่งภาคภูมิใจมาก"


ความสำเร็จของ "บ้านแฮ่ดโมเดล" นายกฯ ศิริพงษ์เผยว่า บ้านแฮ่ดก็ไม่ได้เก่งมาตั้งแต่เกิด แต่อาศัยการเรียนรู้จากเครือข่าย ที่แม้จะมีข้อจำกัดในเรื่องลักษณะบริบทแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่ได้รับถ่ายทอดคือกระบวนการและวิธีคิด


"เราเป็นเครือข่ายร่วมกับป่าโมง แน่นอนพื้นที่ไม่เหมือนกันเลย พอกลับมา เรานำจุดเด่นที่เราได้เรียนรู้มาออกแบบให้เป็นในแบบของบ้านแฮ่ด แต่สิ่งที่ต้องเข้าใจอย่างแรกสุดคือวัฒนธรรมของเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคนหรือพื้นที่"


ถามถึงเป้าหมายต่อไปของบ้านแฮ่ดที่วางไว้ นายกฯ สามสมัย ตอบว่า


"ถ้าเป็นด้านสาธารณสุข ตอนนี้เป็นเหมือนงานประจำของเราไปแล้ว มีการวางแผนเป็นขั้นตอนไว้หมด อย่างเช่นปี 2560 ตั้งเป้าไว้ว่าถังขยะต้องหมดจากเทศบาล เป็นต้น แต่สิ่งที่ผมอยากทำจริงๆ ตามบ้านแฮ่ด โมเดล คือ ผมอยากพัฒนาบ้านแฮ่ดตามแนวทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ซึ่งเรานำมาเป็นยุทธศาสตร์หลัก ในการดำเนินงาน ซึ่งวิเคราะห์แล้วว่า ยุทธศาสตร์การส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้คนตลอดชีวิต คือหัวใจสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน"


แต่อย่างไรก็ตาม นายกฯ บ้านแฮ่ดยอมรับว่า การพัฒนาที่เกิดขึ้นในวันนี้ จะยั่งยืนต่อไปได้ จำเป็นต้องปูทางไปสู่การพัฒนาอย่างเป็นระบบ


"เคยมีพระรูปหนึ่งท่านบอกกับผมว่า ผมกำลังทำบาป เพราะผมทำให้ชาวบ้านเชื่อและศรัทธา และเสพย์ติดการพัฒนาของผม ถ้าวันหนึ่งผมไม่อยู่แล้วชาวบ้านจะทำอย่างไร จากสิ่งที่พระท่านกล่าววันนั้น จุดประกายให้ผมปรับแนวคิดใหม่ว่าเราต้องพัฒนาคน โดยการสร้างระบบให้เกิดขึ้น ต้องมีการจัดการตนเอง ซึ่งถ้าชุมชนทำตรงนี้ได้ ระบบก็สามารถเดินไปได้เอง ไม่ว่าใครเข้ามา


"ซึ่งเชื่อว่าคนในบ้านแฮ่ดทุกคนมีประสบการณ์อยู่แล้ว ถามว่าชาวบ้านเขามีความรู้ไหม ผมว่าเขามีและมีเยอะด้วย เพียงแต่เขาขาดวิธีการพัฒนาและการจัดกระบวนการที่ถูกต้อง ถ้าเราสามารถเสริมการเรียนรู้การจัดการให้เขาได้ ผมเชื่อว่าผลลัพธ์จะออกมาดี"


        


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Shares:
QR Code :
QR Code