สูตรลับพัฒนาทักษะสมองด้วย EF
เรื่องโดย ฐิติพร โยทาพันธ์ Team content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลบางส่วนจาก คู่มือกิจกรรมนับเราด้วยคนครั้งที่ 4 เรียนรู้ด้วยใจ ก้าวไปพร้อมกัน
ให้สัมภาษณ์โดย นางสาวจุฑาทิพย์ ท้องทากาศ หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลพญาเม็งราย อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย
แพทย์หญิงอัมพวัน ศรีครุฑรานันท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาเม็งราย อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย
นางสาวประพาฬรัตย์ คชเสนา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส.
ภาพโดย นัฐพร ชุ่มลือ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
แฟ้มภาพ
ใบหน้าเปื้อนยิ้มและเสียงหัวเราะอันสดใส ของเหล่าบรรดาเด็กๆตัวน้อย บ่งบอกถึงความสุข พัฒนาการที่ร่าเริงสดใสสมวัย มีสุขภาพกายใจที่แข็งแรง…
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลพญาเม็งราย อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย ถือเป็นพื้นที่ต้นแบบที่ส่งเสริมการใช้ EF ในการพัฒนาองค์ความรู้และขับเคลื่อนการส่งเสริมการพัฒนาทักษะสมองเพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชนในชุมชนได้สำเร็จ ภายใต้แนวคิด “สร้างบ้านแปงเมืองด้วยการสร้างเด็ก” และ “พลังสมองเด็กไทย สร้างด้วยพลังชุมชน”
EF ย่อมาจากคำว่า Executive Functions เป็นชุดกระบวนการทางความคิดที่ทำงานในสมองส่วนหน้า ทำหน้าที่เกี่ยวกับการคิด การรู้สึก และการกระทำของมนุษย์ ซึ่งกระบวนการ EF จะช่วยให้มนุษย์คิดเป็น ทำเป็นอย่างมีเหตุมีผล จัดการกับอารมณ์และพฤติกรรมของตนเองได้ เปรียบเสมือนการให้วัคซีนทางความคิด ซึ่ง EF จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มทักษะ คือ 1. ทักษะพื้นฐาน 2. ทักษะกำกับตนเอง และ 3. ทักษะปฏิบัติ โดยมีแนวทางการพัฒนา 7 วิธี ในการนำมาประยุกต์ใช้การบูรณาการร่วมกับการเรียนรู้ในทุกศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของอำเภอพญาเม็งราย
องค์ความรู้ 7 วิธี มีอะไรบ้าง
1. กิน คือ การกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ 3 มื้อ กินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
2. การนอน คือ การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
3. การกอด คือ การสร้างสัมพันธภาพที่ดี ให้ความรัก ความอบอุ่น
4. การเล่น คือ เล่นอย่างอิสระ เล่นอย่างสนุกสนานและสร้างการเรียนรู้
5. การเล่า คือ การเล่านิทานเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการด้านภาษา
6. การช่วยเหลือตนเอง สามารถใช้ชีวิตได้ด้วยตนเอง เช่น ใส่เสื้อผ้าเอง กินข้าวเอง
7. การช่วยเหลืองานบ้าน คือ ฝึกให้เด็กได้มีส่วนช่วยเหลือผู้ปกครอง มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่
นางสาวจุฑาทิพย์ ท้องทากาศ หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลพญาเม็งราย เล่าว่า หลังจากที่เราไปเรียนรู้กระบวนการ EF แล้วนำกลับมาใช้กับเด็ก เราพบว่าการกอดเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้เด็กไว้วางใจเราการกอดคือการสร้างสัมพันธภาพที่ดี เราสามารถที่จะสอนหรือป้อนความรู้ให้กับเขาได้ รับฟังความคิดเห็นของเขา เมื่อเขาถามเราก็ตอบ เด็กจะมีความคิดไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ และจะฝึกให้เขาช่วยเหลือตนเองที่นี่เด็กสามารถใส่เสื้อผ้าได้ด้วยตัวเองตั้งแต่สองขวบ ทานอาหารเองโดยที่ครูไม่ต้องป้อน ให้โอกาสเด็กได้ทำ ได้เล่น ได้แก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง โดยที่มีครูดูแลและคอยให้คำปรึกษา เพื่อฝึกให้ช่วยเหลือตัวเองได้และเกิดความภูมิใจใน
" ศูนย์ของเราให้ความใส่ใจเด็ก ไม่ใช่แค่นำเด็กมาเลี้ยงหรือดูแลแบบเช้ามาแล้วเย็นกลับบ้านอย่างเดียวแต่เรามีกิจกรรมให้ได้ทำและฝึกทักษะต่างๆ ให้ได้เรียนรู้การแก้ปัญหา และมีเป้าหมายของตนเอง "
แพทย์หญิงอัมพวัน ศรีครุฑรานันท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาเม็งราย เล่าภาพรวมให้ฟังว่า โรงพยาบาลพญาเม็งรายได้สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่รวมถึงอำเภอข้างเคียงจัดทำแผนร่วมกันในการสร้างภูมิคุ้มกันในเด็ก ส่งเสริมให้ใช้ EF เป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม EF ตอบโจทย์เราได้ว่าสามารถสร้างภูมิคุ้มกันทางความคิดที่แข็งแรงได้ เราเริ่มจากการพัฒนาผู้ปกครอง ครู ก่อนเพื่อให้เข้าใจในองค์ความรู้นี้
" EF ไม่ได้สำคัญกับเด็กเพียงเท่านั้น แต่ยังสำคัญกับทุกคน ทำให้คนคิดเป็น ทำเป็น อย่างมีเหตุผลเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย ซึ่งช่วงอายุที่ดีจะอยู่ในช่วง 3 – 6 ขวบ เมื่อนำ EF มาบูรณาการในการดูแลเด็กจะทำให้เด็กมีทักษะสมองที่ดี ทำให้เด็กคิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น อยู่กับคนอื่นเป็น มีความสุขเป็น และที่สำคัญตอบโจทย์ในเรื่องของการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนในชุมชน ด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดและการพัฒนาชีวิตทุกช่วงวัย เพราะเราเชื่อว่าภูมิคุ้มกันทางความคิดที่ดี คือ การสร้างรากฐานชีวิตที่ดีให้กับเด็กและเยาวชน "
เหตุผลที่อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงรายเป็นพื้นที่ตัวอย่างนั้น เนื่องด้วยเป็นพื้นที่ที่มีความเข้มแข็งของเครือข่ายระบบสุขภาพอำเภอ โดยมีเครือข่ายระบบสุขภาพอำเภอพญาเม็งรายเป็นพื้นที่ที่มีการส่งเสริมการใช้ EF แบบบูรณาการอย่างจริงจัง และมีบุคลากรที่เข้าใจองค์ความรู้ EF พร้อมทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนองค์ความรู้นี้ให้ขยายผลต่อไปในพื้นที่จังหวัดอื่นทั่วประเทศต่อไป
นางสาวประพาฬรัตย์ คชเสนา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า EF คือ ความสามารถของสมองส่วนหน้าในการควบคุมอารมณ์ ควบคุมความคิด ควบคุมพฤติกรรมของตนเองให้ไปถึงจุดมุ่งหมายและความสำเร็จที่ตั้งไว้ ซึ่งสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัวได้ทำงานร่วมกับสถาบันรักลูก และโรงพยาบาลพญาเม็งราย ในการดำเนินงานในเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ซึ่งอำเภอพญาเม็งรายถือว่าเป็นพื้นที่ต้นแบบส่งเสริมการใช้ EF เป็นตัวขับเคลื่อนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก ผลักดันภายใต้แนวคิดที่ว่า “เด็กทุกคนต้องรับการดูแลจากคนในชุมชน ทุกคน ทุกส่วน” โดยเริ่มจากพ่อแม่ ครู และทุกภาคส่วนในชุมชน ตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึงเติบโตเป็นวัยผู้ใหญ่
สสส.และภาคีเครือข่ายสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการใช้ EF บูรณาการร่วมกับการเรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย ให้เข้าใจง่ายและเป็นรูปธรรม เพราะเชื่อว่าการมีภูมิคุ้มกันทางความคิดที่ดีจะนำไปสู่ชีวิตที่มีความสุขอย่างยั่งยืน