สูดกลิ่นไอจอมบึงมาราธอน เยาวชนรู้คุณค่าการวิ่ง
อีกไม่กี่อึดใจก็จะถึงงานวิ่งระดับชาติที่ทุกคนรอคอยมาตลอดทั้งปีกับกิจกรรม "สสส. จอมบึงมาราธอน 2559 ปีที่ 31 "Thai Health Chom Bueng Marathon 2016" ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
แฟ้มภาพ
ย้ำอีกครั้ง งานนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-17 มกราคม 2559 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง อ.จอมบึง จ.ราช บุรี ภายใต้คำขวัญของงานว่า "งานประเพณีของชาวบ้านที่มีมาตรฐานสากล"
สอดคล้องกับสโลแกนของ สสส. "ลดพุง ลดโรค" มีจุดประสงค์คือช่วยสะท้อนเสียงเรียกร้องจาก "หมู่บ้านจอมบึง" ไปสู่หมู่บ้านอีกกว่า 8 หมื่นหมู่บ้านทั่วประเทศ ให้เห็นคุณค่าของการวิ่งและการออกกำลังกายด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้เด็ก เยาวชน รวมทั้งพี่น้องชาวไทยทุกเพศทุกวัยมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
อันจะนำไปสู่การลดภาวะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ได้แก่ โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ความดันโลหิต โรคอ้วน อัมพาต และอัมพฤกษ์ รวมถึงยังช่วยส่งเสริมให้องค์กรต่างๆ ได้ทำงานร่วมกันด้วยจิตอาสา ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน ตลอดจนนำรายได้เป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียน นักศึกษา และเพื่อสาธารณกุศล
อาจารย์ณรงค์ เทียมเมฆ ผู้ทรงคุณวุฒิแผนส่งเสริมกิจกรรมทางกาย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ขยายความว่า งานนี้จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 31 บรรยากาศภายในงานยังคงมีกลิ่นไอของความเป็นจอมบึง ความเป็นวิถีชาวบ้าน ความน่ารัก ไม่แต่งเติม ทำให้คนที่มาร่วมงานจะได้รับการต้อนรับจากชาวบ้านจอมบึงด้วยความอบอุ่น แต่ยังแฝงไปด้วยความมีมาตรฐานสากลที่เพิ่มขึ้น
ภายใต้การรับรองของสมาคมกรีฑาแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสหพันธ์กรีฑานานาชาติ โดยจะมีทีมอาสาสมัครด้านต่างๆ มาคอยช่วยเหลือภายในงาน อาทิเช่น ทีมอาสาแพทย์และพยาบาลกว่า 50 ชิวิต ที่จะมาร่วมดูแลความปลอดภัยและคอยปฐมพยาบาลให้กับนักวิ่งเมื่อได้รับบาดเจ็บ
ทีมอาสาเพซเซอร์ (Pacer) กลุ่มนักวิ่งนำเวลา โดยจะมีสัญลักษณ์เป็นลูกโป่งบอกเวลา ให้นักวิ่งในสนามสามารถวิ่งตามที่ตั้งเป้าไว้ได้ และทีมอาสาสวีปเปอร์ (Sweeper) กลุ่มนักวิ่งรั้งท้าย คอยช่วยให้กำลังใจและดูแลจนนักวิ่งคนสุดท้ายเข้าสู่เส้นชัย
ในงานยังมีการใช้เทคโนโลยีชิปแบบใหม่ล่าสุดจากต่างประเทศที่ไม่ยังเคยใช้ในสนามวิ่งไหนในประเทศไทย โดยจะสามารถตรวจจับตัวบุคคลได้ว่าอยู่จุดไหนในสนามวิ่ง และสามารถบอกได้ว่าคนที่กำลังจะวิ่งเข้าเส้นชัยมาเป็นใคร จึงเชื่อว่าจะมีประชาชนทั่วประเทศและชาวต่างชาติเข้าร่วมกิจกรรมไม่น้อยกว่า 10,000 คน
ขณะเดียวกันภายในงานยังมีการจัดกิจกรรมพิเศษเพื่อส่งเสริมสุขภาพอีกมากมาย อาทิ กิจกรรมขี่จักรยานรณรงค์ "จอมบึงเมืองจักรยาน", นิทรรศการจอมบึงเมืองสุขภาวะและของดีจอมบึง, เมืองท่องเที่ยวที่ห้ามพลาด,
โดยไฮไลต์ในวันนี้ (เสาร์ที่ 16 ม.ค.) จะมีการจัดตลาดนัดทางวัฒนธรรม (Culturalwalking street) ซึ่งชาวบ้านจะแต่งตัวตามกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งหมด 8 ชาติพันธุ์ พร้อมแสดงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ รวมถึงอาหารและสินค้าประจำชาติพันธุ์ ให้ผู้ร่วมงานได้จับจ่ายใช้สอย ส่วนวันอาทิตย์ที่ 17 ม.ค. จะมีชาวบ้านมาสร้างความสุขและให้กำลังใจนักวิ่งตลอดเส้นทาง นอกจากนั้นยังจะมีการประพรมน้ำพระพุทธมนต์จากพระสงฆ์บนเส้นทางผ่าน เพื่อเป็นสิริมงคลให้แก่นักวิ่ง
สำหรับระยะทางการวิ่ง แบ่งเป็น 3 ระยะทาง คือ มาราธอน (42.195 กม.) ฮาล์ฟ มาราธอน (21.1 กม.) และมินิ มาราธอน (10 กม.) โดยมีรางวัลคือ ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สำหรับผู้ชนะเลิศระยะมาราธอนชายและหญิง นอกจากนี้ยังมีการจัดเดินเพื่อสุขภาพ ระยะทาง 3 กม. โดยไม่จำกัดอายุ และวิ่งสำหรับเด็กรุ่นอายุต่ำกว่า 12 ปี หรือ "RUN FOR KID" ระยะทาง 3 กม. มีรางวัล คือ ถ้วยรางวัลชนะเลิศชายและหญิง อันดับ 1-5 ทุกกลุ่มอายุ และ 2.เสื้อ-เหรียญ ด้วยเช่นกัน สามารถติดตามรายละเอียดได้ทาง www.chombuengmarathon.com เสน่ห์งานจอมบึงมาราธอนที่แตกต่างจากงานวิ่งอื่นๆ คือความเก่าแก่ เพราะจัดต่อเนื่องมา 31 ปี โดยเกิดจากความเข้มแข็งของคนในชุมชนจัดงานกันเองอย่างมีประสิทธิภาพ มีน้ำใสใจจริงต่อผู้มาเยือน คณะผู้จัดที่ไม่เคยลดละความพยายามกับสโลแกน "งานวิ่งชาวบ้าน มาตรฐานสากล" และในวันแข่งขันยังถือเป็นวันปิดหมู่บ้าน ปิดการจราจร 90% หน่วยอาสาทำงานกันอย่างเข้มแข็งด้วย จึงมั่นใจในความปลอดภัย
ยังมีกองเชียร์หลายตำบล 20 หมู่บ้าน นักวิ่งมาราธอนที่วิ่งไปไกลที่สุดจะได้ผ่านกองเชียร์ประมาณ 20 จุด กองเชียร์ลูกเล็กเด็กแดงจะไม่หยุดเชียร์พี่ๆ นักวิ่ง เพราะเป็นประเพณีที่พวกเขารอคอยมาทั้งปี ส่วนกองเชียร์ผู้ใหญ่ที่อยู่กำกับดูแลก็ล้วนเคยเติบโตมากับวิถีวิ่ง ถือเป็นมนต์เสน่ห์ของกองเชียร์รุ่นสู่รุ่น ขณะที่เรื่องอาหารไม่ต้องกลัว เพราะแม่ครัวนับสิบชีวิตลงมือเข้าครัวกันตั้งแต่เที่ยงคืนเพื่อเตรียมให้นักวิ่งเมื่อเข้าสู่เส้นชัย
งานดังกล่าวยังมีความพิเศษ เพราะจัดในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมกราคม ที่มีความหนาวเย็นจากเทือกเขาตะนาวศรี แผ่ปกคลุมพื้นที่ อ.สวนผึ้ง-อ.จอมบึง อุณหภูมิโดยเฉลี่ย 17-18 องศาเซลเซียส แต่บางปีอาจจะลงไปถึง 15 องศา ตอนย่ำรุ่งเมื่อเหงื่อออกเรียกความอบอุ่นจากร่างกาย ปะทะกับอากาศเย็น ถือเป็นประสบการณ์ที่นักวิ่งต้องไปสัมผัสเอง เพราะความสุขนี้ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณร้อยกว่ากิโลเมตรเท่านั้น
ที่สำคัญยังเป็นสถานที่รวมตัวของดารา ศิลปิน และเหล่าเซเลบของเมืองไทยมาร่วมกิจกรรมอย่างคักคัก โดยเฉพาะ "ตูน" อาทิวราห์ คงมาลัย นักร้องนำแห่งวงบอดี้สแลม ถือเป็นขาประจำของรายการวิ่งนี้
ในแง่ของสุขภาพ อาจารย์ณรงค์ ย้ำว่า การวิ่งยังช่วยลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ เช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์ อุบัติเหตุ ควบคู่กับการเพิ่มปัจจัยเสริม โดยส่งเสริมกิจกรรมทางกายและการออกกำลังกาย เพื่อให้ชาวไทยมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อันจะนำไปสู่การลดภาวะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ความดันโลหิต โรคอ้วน อัมพาตและอัมพฤกษ์ ซึ่งสอดคล้องกับแคมเปญ "ลดพุง ลดโรค" ของ สสส.
ซึ่งจากผลการสำรวจข้อมูลกิจกรรมทางกายคนไทย ปี 2558 โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล โครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย จำนวน 7,713 ราย พบว่า คนไทยมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 66.3 ในปี 2555 เป็นร้อยละ 71.6 ในปี 2558 หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 7 เห็นแต่ข้อดีของการวิ่งแล้ว วันที่ 17 มกราคมนี้ พร้อมกันที่งาน "วิ่ง สสส.จอมบึงมาราธอน"
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์