สูงวัยไทยแลนด์ อยู่อย่างไรในยุค 4.0
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
ภาพประกอบจากเว็บไซต์มติชนออนไลน์
สมาคมบ้านปันรัก ร่วมกับสถาบันส่งเสริมภาคประชาสังคม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เปิดเวทีเสวนา "สังคมสูงวัย ประชาสังคมไทย (CSO) ต้องช่วยกัน" เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลมุมมองที่มีประโยชน์ ต้อนรับสังคมผู้สูงวัยในยุคประเทศไทย 4.0
สุวิมล มีแสง หัวหน้างานพัฒนาองค์ความรู้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เผยปัจจุบันอัตราเกิดและอัตราตายของสังคมไทยอยู่ในสภาวะที่เกือบเท่ากัน คนมีบุตรน้อยลงเทคโนโลยีช่วยให้มีอายุยาวนานขึ้นและภายในปี 64 นี้ ไทยจะก้าวสู่ความเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว นั่นคือ ใน 100 คน มีคนสูงอายุ20 คน คำถามคือวันนี้เรามีความพร้อมกันมากน้อยแค่ไหน หรือเราได้เตรียมออกแบบชีวิต กันไว้ดีอย่างไร คงเป็นคำถามที่ต้องการการขยายและบอกต่อซึ่งจะเป็นประโยชน์ เนื่องจากเป็นเรื่องราวที่น่าวิตกหากคนในสังคมยังไม่ได้มีการเตรียมการใดไว้รองรับ
จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติได้นำเสนอ มุมมองความสุขของผู้สูงวัยว่าผู้สูงวัยจะพึงพอใจกับอนาคตของตน ด้วย 4 บริบทคือ มีสุขภาพที่ดี มีรายได้ที่เพียงพอ มีเงินออม และสุดท้ายสามารถอยู่ร่วมและดำเนินกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขดังนั้น คือการได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และสอดคล้องไปกับสังคมที่เปลี่ยนไป หากทำได้ เชื่อเหลือเกินว่าคนสูงวัยจะมีความสุขไปตามการก้าวทันของกาลเวลาแน่นอน
ผศ.ดร.วีรณัฐ โรจนประภา นักวิชาการด้านสังคมผู้สูงวัย ในฐานะนายกสมาคมบ้านปันรัก ระบุปัญหาสังคมสูงวัยนี้การแก้ไขสำคัญต้องมาจากชุมชนร่วมกันสร้างความอบอุ่นมั่นคงขึ้นในพื้นที่ นั่นถึงจะเป็นการสร้างหลักประกันยั่งยืนให้กับผู้สูงอายุอย่างแท้จริง ซึ่งสิ่งนี้จะมั่นคงยิ่งกว่าจะไปพึ่งเพียงเบี้ยยังชีพหรือ แม้แต่ระบบประกันสังคมจากภาครัฐ
สำหรับแนวทางแก้ปัญหาเรื่องผู้สูงวัยนั้น จุดแรกต้องเริ่มตั้งแต่ปรับเปลี่ยนวิธีคิด เพราะหากเริ่มต้นด้วยวิธีคิดที่ไม่ถูก ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ อย่างเรื่องจำนวนเงินออมที่ต้องมีเมื่ออายุ 60 นั้นหากคิดแบบทุนนิยมแม้จะมี 4 ล้าน 6 ล้านจริงตามโปรแกรมที่คำนวณได้ แต่สุดท้าย ใจมันก็จะยังวิตกอยู่ยังกลัวอยู่ วิธีวางแผนเรื่องนี้จึงมิใช่เพียงออมเงินแต่สร้างความมั่นคงทางปัจจัย 4 ในการดำรงชีพ นอกจากนี้ ยังต้องมาดูบริบทที่ผู้สูงอายุยุคนี้ต้องใช้ชีวิตอยู่ นั่นคือ เป็นบริบทของประเทศไทย 4.0 ที่เรื่องเทคโนโลยีมีบทบาทมาก
ผู้สูงอายุจำเป็นต้องเรียนรู้และยอมรับเพราะยิ่งเทคโนโลยีพัฒนาไปไกลเท่าใด ก็ยิ่งเป็นการผลักให้ผู้สูงวัยหลุดออกไปจากสังคมไกลเท่านั้น ซึ่งนี่เป็นกิจกรรมหลักของสมาคมบ้านปันรักคือลดช่องว่างที่เทคโนโลยีสร้างไว้ในชีวิตผู้สูงอายุ
และอีกภารกิจหลักคือปรับภาระเป็นพลังกระตุ้นให้ผู้สูงอายุจากการเป็นผู้รับให้เปลี่ยนมาเป็นผู้ให้ เป็นผู้สูงวัยที่มีคุณภาพออกมาแบ่งปันให้สังคมด้วยวิชาความรู้ที่แต่ละท่านมีอยู่ในตัว
ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย ภาษี การเงิน สุขภาพ หรือศิลปะ เพื่อจะได้รองรับสังคม Knowledge Base Society หรือสังคมแห่งฐานความรู้ อันเป็นคุณสมบัติจำเป็นของผู้สูงวัยที่ต้องมีองค์ความรู้ที่สามารถสร้างพลังในตนเองขึ้นมาใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าใน ยุค Aged Society
ชุมชนจึงควรสร้างพื้นที่ของการเรียนการสอนวิชาต่างๆ แก่ผู้สูงวัย จัดให้มี Informal Education หรือเรียกว่าการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้สูงวัยได้เรียนรู้และให้ความรู้ตามความสนใจ ตามความถนัด ตามความฝัน ซึ่งทั้งหมดนี้ คือสิ่งที่จะทำให้เราได้มีผู้สูงวัยที่เปี่ยมสุขและมีคุณภาพอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ถึงเวลาที่ภาคชุมชนจะรวมพลังและร่วมมือกันจัดสรรดูแลกันและกันในชุมชนเพื่อให้เกิดหลักประกันตามวิถีของแต่ละชุมชน ซึ่งนั่นจะเป็นการสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและสร้างความอบอุ่น ใกล้ชิดให้เกิดขึ้น อันเป็นการลดความเป็นทุนนิยม สู่วิถีแห่งความสุข เกื้อหนุนและแบ่งปัน