สูงวัยอยู่อย่างไร ให้พอเพียง
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
แฟ้มภาพ
ดร.สุเมธ เผยสูงวัยอยู่อย่างไรให้พอเพียง ย้ำ “อย่าหยุดการทำงาน” พรสุดท้ายของในหลวงร.9 พบอีก 4 ปี ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ ขณะที่แรงงานไทย 63% ขาดหลักประกันรายได้ยามเกษียณ เปิดกับดักมนุษย์เงินเดือนเสี่ยงเงินไม่พอใช้ยามชรา ด้าน 16 องค์กรของรัฐตาม พ.ร.บ. เฉพาะจับมือทำข้อเสนอรองรับสังคมสูงวัย
เมื่อวันที่ 15 มี.ค. ที่อาคารสุขภาพแห่งชาติ ในการประชุมวิชาการที่ประชุมผู้บริหารองค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ (ทอพ.) 16 องค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ ครั้งที่ 4 หัวข้อ “ประชารัฐร่วมใจ สู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ” มี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “สูงวัยอย่างมีคุณค่า น้อมพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง” โดยในปีนี้ สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นใหม่ตาม พ.ร.บ.เฉพาะ ได้เข้าร่วมเป็นองค์กรที่ 16
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในฐานะประธาน ทอพ. กล่าวว่า องค์กรที่รัฐจัดตั้งตามพรบ.เฉพาะเป็นกลไกบริหารจัดการสาธารณะใหม่ หรือ New Public Management ที่เกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมกลไกรัฐเดิม เช่น ระบบราชการ หรือรัฐวิสาหกิจเพื่อเป็นกลไกตอบสนองช่องว่างในกิจการสาธารณะ ที่ระบบเดิมมีข้อจำกัดซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก สำหรับประเทศไทยได้เริ่มกลไกใหม่นี้ราวปี 2535 การรวมประชาคมขององค์กรรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.เฉพาะ หรือ ทอพ. จึงเป็นจุดประสานกลางเพื่อทำงานร่วมกันผ่านการบริหารจัดการใหม่และร่วมสร้างประโยชน์ร่วมกันต่อประเทศ นำไปสู่การพัฒนาประเทศทั้ง 5 มิติ ได้แก่ ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ กองทุนสนับสนุน และด้านสื่อเพื่อหนุนเสริมซึ่งกันและกัน
ดร.สุปรีดา กล่าวว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัย ขณะนี้มี 3 ประเทศในอาเซียนที่เป็นสังคมสูงวัยแล้ว อันดับ 1 คือ สิงคโปร์ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปอยู่ที่ 18% อันดับ 2 คือ ไทย มีสัดส่วนผู้สูงอายุอยู่ที่ 16% หรือจำนวน 10.3 ล้านคน และอันดับ 3 เวียดนามอยู่ที่ 10% ซึ่งคาดว่าในอีก 4 ปีข้างหน้าไทยจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุอยู่ที่ 20% และส่งผลให้อัตราการพึ่งพิงจะหนักขึ้นเป็นผู้สูงอายุ 1 คน ต่อวัยแรงงาน 3.2 คน ทำให้โครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่มีผู้สูงวัยมากขึ้น
“ปัจจุบันยังพบช่องว่างในการเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยเฉพาะหลักประกันรายได้ยามเกษียณอายุ ที่พบว่า 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน หรือรายได้ต่ำกว่า 2,647 บาทต่อเดือน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ โจทย์ใหญ่ที่จะตามมาคือ แรงงานไทย 63% ที่ไม่อยู่ในระบบการออมเพื่อเป็นหลักประกันรายได้ยามเกษียณ และยังพบกับดักมนุษย์เงินเดือน โดยรายจ่ายของมนุษย์เงินเดือนสูงกว่าเงินสนับสนุนของรัฐขั้นพื้นฐานจากประกันสังคมและเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเมื่อเกษียณ อยู่ที่ 8,100 บาทต่อเดือน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตหากไม่มีการออมสมทบ รวมถึงระบบรองรับข้อมูลด้านสุขภาพและด้านสังคม จึงเกิดความร่วมมือในหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะทั้ง 16 หน่วยงานในการพัฒนาระบบรองรับสังคมสูงวัย ทั้งการจัดระบบและบริการสุขภาพ การสร้างเสริมสุขภาพ การศึกษาวิจัยและการจัดการความรู้ การพัฒนานโยบายสาธารณะและสร้างเครือข่าย การพัฒนามาตรฐาน และการสื่อสารสังคม เพื่อรองรับสังคมสูงวัยให้เป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ” ประธาน ทอพ. กล่าว
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “สูงวัยอย่างมีคุณค่า น้อมพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง”ว่า ตนไม่รู้ตัวว่าประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว การเตรียมการระดับชาติก็ไม่รู้ตัวนัก การที่ 16 องค์กรทำเรื่องผู้สูงอายุถือเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นและสำคัญ เพราะคนเกิดน้อยลง ผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้นและอายุยืนขึ้นจึงเป็นภาระที่กระอักกระอ่วน สิ่งแรกที่ผู้สูงอายุต้องมีคือสติ ใช้ความพอเพียงในการนำทาง รู้จักดูแลสุขภาพกายเพราะร่างกายแข็งแรงเพื่อทำงานอย่างอื่นได้ ซึ่งในสมัยที่อายุ 60 ปี ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระชนมายุ 72 พรรษา ได้กราบทูลลาท่านเพื่อเกษียณอายุ ท่านจึงตรัสว่า “เกษียณหรอ แล้วชั้นล่ะ” จากนั้นจึงไม่มีคำว่าเกษียณอีกเลย โดยทำงาน 7 วัน ไม่มีคำว่าเสาร์อาทิตย์ ไม่มีวันเกิด ไม่มีวันปีใหม่ ดังนั้นผู้สูงอายุควรอยู่อย่างสง่า ตายอย่างสงบ ตอนมีชีวิตอยู่ต้องใช้ชีวิตอย่างสง่างามในตัวเอง ช่วยตัวเองได้ มีคนเคารพนับถือ เมื่อถึงเวลาก็ตายอย่างสงบ และมีภาวะจิตที่ดี
“ผู้สูงอายุควรยึดหลักทศพิธราชธรรม หนึ่งในนั้นคืออโกรธะ ความไม่โกรธ เพราะโกรธแล้วจะเสียหายหากคุมอารมณ์ไม่อยู่ในเรื่องไร้สาระ หลักทศพิธราชธรรมจึงเป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุควรปฏิบัติ อวิโรธนะ คือการดำรงอยู่ในความถูกต้องเสมอ ไม่ใช่ผิดหรือถูกกฎหมายเท่านั้น บางอย่างอ้างว่าถูกกฎหมายแต่เจตนาเลวจึงต้องดูที่เจตนา มีหลายเหตุการณ์ที่ทำถูกกฎหมายแต่ผิดจรรยาบรรณอย่างแรง จึงต้องรักษาธรรมะนั่นคือการทำความดีและความถูกต้อง ผู้สูงอายุจึงควรรักษากายไว้ เงินทองไม่ได้ช่วยอะไร เอาแค่พอเพียงต่อการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ และจิตต้องโปร่งใส อย่าขุ่นมัว สะกดจิตตัวเอง คำนึงว่าเวลาอยู่ในโลกสั้นลงจึงต้องใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างมีความสุข อย่าอยู่คนเดียวและอย่าพัก ในวันที่อายุ 72 ปี ได้เข้าไปกราบบังคมทูลเพื่อขอพร ซึ่งขณะนั้นในหลวงมีพระชนมายุ 84 พรรษา ท่านทรงนิ่ง พอเหลือบมองขึ้นมา พระหัตถ์มาเขย่าที่ไหล่แล้วตรัสว่า สุเมธ งานยังไม่เสร็จ ทรงตรัสถึง 3 ครั้ง ซึ่งเป็นพรสุดท้ายที่พระองค์พระราชทาน มีคนถามผมว่าเมื่อไหร่งานถึงเสร็จ ไม่รู้ตามงานเอาเองแล้วกัน ทำไป จึงขอแนะนำผู้สูงอายุอย่าหยุดทำงาน เพราะถ้าหยุดร่างกายก็จะหยุดตาม อย่าหยุดด้วยจิตใจและกาย ยึดประโยชน์สุขเป็นเป้าหมายในชีวิต ทำแต่สิ่งที่มีประโยชน์ สิ่งที่จะได้รับคือตัวเราและคนรอบข้างคือความสุข”ดร.สุเมธ กล่าว
รศ.ดร.อภิศักดิ์ ธีระวิสิษฐ์ ประธานคณะทำงานด้านการจัดการความรู้และประชุมวิชาการ ทอพ. กล่าวว่า ประเทศไทยยังมีช่องว่างด้านการเตรียมความพร้อมของประชากรและการพัฒนาระบบเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัย อาทิ ในด้านสุขภาพ พบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ 95% มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง และเบาหวาน และมีโอกาสเกิดโรคประจำตัวสูงขึ้นในบั้นปลาย ส่วนด้านเศรษฐกิจ พบว่า ผู้สูงอายุถึงร้อยละ34% มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน และมีเพียง 15 ล้านคน ที่อยู่ในระบบการออมเพื่อเป็นหลักประกันรายได้ยามเกษียณ จากประชากรวัยทำงานกว่า 40 ล้านคน รวมถึงผลกระทบด้านสังคม พบว่า ผู้สูงอายุที่ต้องอยู่เพียงลำพังคนเดียวหรืออยู่ตามลำพังกับคู่สมรสมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงคนรุ่นใหม่ยังมีทัศนคติเชิงลบต่อผู้สูงอายุ
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายในการเตรียมความพร้อมของประชากรเพื่อเป็นผู้สูงอายุของ ทอพ.ทั้ง 16 องค์กร โดยจะมีการพัฒนาระบบรองรับสังคมสูงวัย 2 มาตรการสำคัญ ประกอบด้วย 1. การเตรียมความพร้อมของประชากรเพื่อผู้สูงอายุที่มีคุณภาพในอนาคตตามความเหมาะสมในแต่ละช่วงวัย โดยส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้สูงอายุและทุกช่วงวัยในการเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ ส่งเสริมการออมที่เหมาะสมเพื่อเป็นหลักประกันรายได้ที่มั่นคงยามชรา สร้างเสริมสุขภาวะสำหรับผู้สูงวัย และวางแผนชีวิตของผู้สูงอายุและครอบครัวอย่างเหมาะสมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย 2. พัฒนาระบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัยให้มีประสิทธิภาพ โดยจัดระบบและการเข้าถึงบริการสุขภาพ บริการสาธารณะ สวัสดิการเพื่อรองรับผู้สูงอายุและการมีส่วนร่วมพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุในระดับชุมชน ส่งเสริมการออมยามเกษียณโดยบูรณาการระบบที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการวิจัยการจัดการความรู้ พัฒนาศักยภาพบุคลากรทุกภาคส่วนและนวัตกรรมเพื่อรองรับการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ พร้อมกับกลไกการอภิบาลระบบเพื่อรองรับผู้สูงอายุ รวมทั้งจัดทำฐานข้อมูลผู้สูงอายุให้สามารถเชื่อมต่อกันได้ระหว่างหน่วยงาน
ทั้งนี้ องค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. เฉพาะ ทั้ง 16 องค์กร ถือเป็นรูปแบบใหม่ขององค์กรรัฐที่สามารถดำเนินงานได้อย่างยืดหยุ่นคล่องตัวกว่าหน่วยงานที่อยู่ในระบบราชการปัจจุบัน เพื่อการรองรับและตอบสนองต่อการปฏิรูปประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพในหลากหลายด้าน อันประกอบด้วย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา สถาบันอนุญาโตตุลาการ และสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์