สุ่มตรวจคุณภาพอากาศ โรงแรม-โรงหนังมีฝุ่นเชื้อรา
สำนักอนามัย (สนอ.) เผยผลการสุ่มตรวจคุณภาพอากาศในอาคาร เช่น โรงแรม โรงหนัง พบมีคุณภาพอากาศไม่ถูกสุขลักษณะตาม พรบ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535
นางอินจิรา นิยมธูร ผู้อำนวยการกองสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย (สนอ.) เปิดเผยว่า เนื่องจากที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีการสุ่มตรวจคุณภาพอากาศในอาคารหลากหลายประเภท เช่น โรงแรม โรงภาพยนตร์ อาคารสำนักงาน เป็นต้น พบว่ายังมีอาคารที่มีลักษณะคุณภาพอากาศที่ไม่ถูกสุขลักษณะตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 หมวด 4 ว่าด้วยสุขลักษณะอาคารได้กำหนดให้เจ้าของอาคารจะต้องดูแลอาคารให้ถูกต้องด้วยสุขลักษณะ เพื่อมิให้มีสภาพชำรุดทรุดโทรม หรือปล่อยให้มีสภาพรกรุงรังจนอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย ส่วนใหญ่พบว่ามีฝุ่นละออง เชื้อแบคทีเรียและเชื้อราชนิดต่าง ๆ ที่เกิด จากการระบายอากาศหรือการปรับอากาศ รวมถึงการไม่ดูแลพรมที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งทำให้ผู้เข้าไปใช้บริการหรืออยู่อาศัยเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยโดยเฉพาะโรคปอด
ซึ่ง กทม.ตระหนักถึงปัญหานี้ จึงจัดอบรมการตรวจรับรองคุณภาพอากาศในอาคาร ให้แก่เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตและบุคคลภายนอก จำนวน 100 คน ในวันที่ 26 มิ.ย. นี้ ที่ห้องปริ๊นซ์บอลรูม 2 โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ มหานาค โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ทราบทิศทางการส่งเสริมคุณภาพอากาศในอาคารของสนอ.และมีเครือข่ายดำเนินการด้านคุณภาพอากาศในอาคาร นำเสนอค่าแนะนำคุณภาพอากาศในอาคารและแนวทางการตรวจรับรองคุณภาพอากาศในอาคารสำนักงาน และรับฟังความคิดเห็นต่อการดำเนินการด้านคุณภาพอากาศในอาคารที่เหมาะสม
นอกจากนี้ สนอ. ได้จัดทำคำแนะนำคุณภาพอากาศในอาคาร ตามพระราชบัญญัติฯ ที่กำหนดว่าในอาคารทั่วไปควรมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 1,000 ppm. ฝุ่นละอองขนาด 10 ไมครอน (pm10) ไม่เกิน 150 ตg/m3 แบคทีเรียหรือเชื้อราในอาคาร ไม่เกิน 500 cfu/m3 อาคารที่มีการใช้สารเคมีหรือตกแต่งอาคารใหม่ควรมีสารฟอร์มัลดีไฮด์ ไม่เกิน 0.1 ppm. สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายรวมไม่เกิน 3 ppm. เป็นต้น พร้อมทั้งยังได้จัดทำแนวทางปฏิบัติในการตรวจรับรองคุณภาพอากาศในอาคารสำนักงาน ที่ผู้ดูแลอาคารและประชาชนสามารถนำไปใช้ดูแลอาคารให้มีคุณภาพอากาศที่เหมาะสม
นางอินจิรา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้จากการตรวจสอบสุ่มตรวจในภาพรวมพบว่าขณะนี้ฝุ่นละอองในอาคารยังไม่น่าเป็นห่วงเท่าใดนัก แต่แนวโน้มในอนาคตนั้นค่อนข้างเสี่ยง เนื่องจากปัญหาความแออัดของเมืองที่จะมีมากขึ้น ทั้งอาคารและรถยนต์ ซึ่ง กทม.กำลังเร่งแก้ปัญหาด้วยการแนะนำให้เจ้าของอาคารดำเนินการดูแลตามคู่มือดังกล่าวรวมถึงการเตรียมตรวจสอบเพื่อออกป้ายรับรองมาตรฐานตามโครงการ คลีนแอนด์กรีน ของ กทม. เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยหรือผู้ที่จะใช้บริการมีความเชื่อมั่นว่าอาคารได้รับการตรวจสอบคุณภาพทางอากาศแล้ว
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์