สุราษฎร์ธานีโมเดล ทำจุดตัดรถไฟปลอดภัย
ที่มา : เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
สุราษฎร์ธานีโมเดล แก้ทางลักผ่าน พลังชุมชนทำจุดตัดรถไฟปลอดภัย
นายสุทธิพงศ์ คล้ายอุดม รองผวจ.สุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า สุราษฎร์ธานีได้รับงบสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการแก้ไขและป้องกันอุบัติเหตุทางถนน แบ่งเป็น 4 งานสำคัญ อาทิ แก้ไขจุดเสี่ยงแขวงทางหลวงสุราษฎร์ธานีที่ 3 (เวียงสระ) บริเวณโค้งรพ.สมเด็จพระยุพราชเวียงสระ แก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟ และจัดการความเร็วหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
โดยบูรณาการระหว่างภาครัฐและชุมชน จนประสบความสำเร็จลดอุบัติเหตุลงได้มากกว่าครึ่ง หรือ 50% เป็นต้นแบบขยายไปสู่จังหวัดอื่น ๆ ได้ โดย เฉพาะการแก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟ ที่มีรูปแบบการดำเนินงานอย่างเป็นระบบโดยบรรจุไว้ในแผนพัฒนาท้องถิ่น ตั้งแต่ปี 51 ทำให้เกิดการทำงานได้อย่างต่อเนื่องจากความร่วมมือขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยแขวงบำรุงทางบ้านส้อง
นายสุรินทร์ บุญประสพ นายกเทศมนตรีเวียงสระ กล่าวว่า สุราษฎร์ธานีมีทางข้ามและทางลักผ่านหลายแห่งกระจายใน 8 อำเภอ รวมกันมากถึง 162 แห่ง เฉพาะที่ อ.เวียงสระ 18 แห่ง เป็นจุดที่ได้รับอนุญาตเพียง 4 แห่ง ที่เหลือเป็นทางลักผ่าน 14 แห่ง จุดใหญ่ที่สุดคือ ทางลักผ่านหน้า รพ.สมเด็จพระยุพราชเวียงสระ ที่มีขบวนรถไฟผ่านต่อวันประมาณ 22 ขบวน ไม่รวมรถไฟบรรทุกสินค้า และมีผู้สัญจรมาก สถิติที่ผ่านมาจุดนี้เคยเกิดอุบัติเหตุใหญ่ขึ้น 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อปี 49 ไม่มีผู้เสียชีวิต แต่ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย ปี 50 มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บสาหัส 1 ราย เพียง 3 เดือน
ช่วงต้นปี 51 ได้แก้ปัญหาจุดเสี่ยง ด้วยการปรับขยายถนนเป็น 2 ช่องสวนทางกัน ติดตั้งป้ายหรือสัญญาณเตือน ไฟฟ้าส่องสว่าง ทำแผงกั้นจราจร มีเหล็กกั้นจำกัดความสูงรถไม่เกิน 2.5 เมตร ปรับภูมิทัศน์ 2 ข้างทางเพิ่มทัศนวิสัย สร้างป้อมยามจุดตัดทางรถไฟ และจ้างเจ้าหน้าที่ประจำป้อมยาม ตลอด 24 ชม. ซึ่งทางข้ามจุดนี้จะอยู่ถัดจากสถานีรถไฟบ้านส้องประมาณ 500 เมตร เมื่อรถไฟกำลังจะออกจากสถานี จะดูสัญญาณธงเป็นหลัก เมื่อนายสถานีส่งสัญญาณว่ารถไฟกำลังจะออกมา ใช้เวลา 2-3 นาที จะรีบมาเคลื่อนแผงและป้ายกั้นทาง ห้ามรถทุกชนิดข้ามทางรถไฟทันที
ด้าน นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ประธานคนที่ 2 คณะกรรมการ สสส. กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมา สสส. ได้ผลักดันให้ทุกภาคส่วน เข้ามาช่วยกันแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน หากสามารถบูรณาการความร่วมมือ และพัฒนาระบบการทำงานให้สอดรับกันได้ จะเกิดเป็นรูปแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่นเดียวกับผลการดำเนินงานใน จ.สุราษฎร์ธานี.