“สุนทรียสนทนา” ตัวแก้ไขให้คนในสังคมหันมองหน้ากัน

วันนี้ถ้าเราจะมาดูกันว่า คนในสังคมมีเหตุ มีผลในการปฏิสัณฐาน กันมากขึ้นหรือน้อยลง เสียงส่วนใหญ่คงลงความเห็นกันว่า ในแวดวงสนทนาพูดคุยกัน มักจะมีเหตุมีผลจนทำให้เกิดความเลื่อมใสมากขึ้น แต่เป็นเรื่องแปลกว่า แต่ทำไม? แวดวงการสนทนาเพื่อให้เกิดการยอมรับซึ่งกันและกันกลับน้อยลง

ด้วยความตั้งใจที่อยากให้ผู้คนได้เรียนรู้ทักษะการสื่อสารและเห็นคุณค่าของการฟังเพิ่มขึ้น เพื่อรู้จักตนเองและเปิดใจรับฟัง คนรอบข้างให้มากขึ้น ธนาคารจิตอาสา จึงจัดกิจกรรม “เพื่อนอาสา volunteer dialogue ครั้งที่ 12” กิจกรรมดีดี สุนทรียสนทนาสร้างเสริมให้หัวใจมีพลัง” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมี อาจารย์ธนัญธร เปรมใจชื่น วิทยากรจากธนาคารจิตอาสา เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมสุนทรียสนทนา ในครั้งนี้

รูปแบบของการจัดกิจกรรมในวันนั้นถูกจัดขึ้นที่บริเวณชั้น 2 ของบ้านพักกรุงเทพคริสเตียน ศาลาแดง บรรยากาศเป็น กันเองและอบอวลไปด้วยรอยยิ้ม กิจกรรมสุนทรียสนทนาได้เริ่มขึ้น โดยมีผู้ร่วมกิจกรรมจากหลากหลายอาชีพ มานั่งล้อมวงกันเป็นวงกลม และเริ่มกิจกรรมด้วยการนั่งสมาธิเพื่อทำให้จิตใจสงบ และผ่อนคลาย หลังจากนั้นก็ทำความรู้จักกับคนรอบข้างและ ต่างแลกเปลี่ยนเรื่องราวของบุคคลที่เป็นต้นแบบของตัวเราเองให้กันและกันฟัง โดยตัวเราเป็นผู้พูดและรับฟังอย่างตั้งใจจริง โดยเรียก กิจกรรมนี้ว่า “สุนทรียสนทนา”

“สุนทรียสนทนา (dialogue )” เป็นการสนทนาเพื่อการคิดร่วมกัน ตามแนวทางของ “เดวิด โบห์ม” นักวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ ที่สนใจเรื่องสมาธิภาวนาและการฝึกจิตเป็นกิจกรรม เรียนรู้ทักษะการสื่อสาร รับฟังวิธีคิด การให้คุณค่าและความหมายของคนอื่นต่อสิ่งที่เขาพูด เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ยอมรับซึ่งกัน และกัน รวมถึงปล่อยวางสิ่งที่แต่ละคนยึดถือ เพื่อข้ามกำแพงของตัวเองไปพร้อมๆ กัน ซึ่งการสนทนาด้วยวิธีนี้กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว อีกทั้งยังเหมาะสำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการระดมความคิดเพื่อค้นหาวิธีการและความรู้ใหม่ๆ ในการทำงาน รวมทั้งสามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ดีอีกด้วย

อาจารย์ ธนัญธร เปรมใจชื่น วิทยากรจากธนาคารจิตอาสาบอกว่า ปัจจุบันมนุษย์โหยหาความเข้าใจ คุณค่า การรับรู้และการได้ยินอย่างชัดเจน แต่ในขณะเดียวกันกลับพบว่าพื้นที่ให้เราได้สื่อสารหรือรับฟังกันมีน้อยลง เพราะทุกคนต่างรีบเร่ง การรับฟัง จึงเป็นแค่ฟังเพื่อผ่านไปเท่านั้นยิ่งถ้าในสังคมไม่เปิดโอกาสและ เปิดพื้นที่สำหรับผู้พูดและผู้ฟัง คนในสังคมก็จะยิ่งทุกข์ ซึ่งเป็นทุกข์จากภายในจิตใจทำให้ต้องการระบายหรือพูดออกมา และ เมื่อใดที่พูดแต่ไม่มีคนฟัง หรือพูดแทรก กระแทก พูดจาเสียดสี มองผ่านหรือเพิกเฉยไป เขาก็จะยิ่งพยายามสร้างตัวตน เพื่อต้องการให้ผู้คนยอมรับฟังมากขึ้น เนื่องจากการฟังอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่การนั่งฟังแล้วพยักหน้าเพียงเท่านั้น แต่ควรเป็นการฟังอย่างเปิดใจให้กว้างและยอมรับด้วยกิจกรรม สุนทรียสนทนา เรียบง่ายและสามารถทำให้ตัวเรารู้จักรับผิดชอบต่อตัวเองมากขึ้น เคารพในความคิดของตัวเอง ขัดเกลาความรู้สึกนึกคิดของตน และเมื่อไหร่ที่ตัวเราสามารถทำได้ เราจะให้ความเคารพและเปิดใจยอมรับฟังคนรอบข้างได้อย่างแท้จริง ซึ่งการสนทนาวิธีนี้ จะส่งผลโดยตรงกับคนที่ฟังเรา หรือที่อยากได้รับความเข้าใจจากเรา ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อนร่วมงาน เพื่อนสนิท หรือแม้แต่คนรักก็ตาม

ผู้ที่เข้ามาร่วมกิจกรรม พูดในทำนองเดียวกัน เมื่อเสร็จสิ้น กิจกรรมดังกล่าวนี้ ว่า ทุกครั้งที่เข้าร่วมกิจกรรมเหมือนเป็นการเติมพลังชีวิตให้กับตัวเอง สิ่งที่ได้กลับมาคือการเรียนรู้ที่จะรับฟัง และเข้าใจตัวเองมากขึ้น เมื่อเรากลับมาใส่ใจตัวเอง เราก็จะยอมรับฟัง และเปิดใจให้ผู้อื่นง่ายขึ้นด้วย

“ปานมณี” ได้รับรู้อย่างนี้แล้ว ความข้องใจที่ว่า ทำไมคนในสังคมจึงไม่ค่อยชอบสนทนากันคงจะค่อยๆ หายไปจากสังคม เพราะเมื่อหัวใจของทุกคนรู้จัก “คุณค่า” ของการฟัง จนเกิดการยอมรับและเข้าใจกันและกันแล้ว คนในสังคมก็จะมีการปฏิสัณฐานกันมากขึ้น สังคมก็คงจะน่าอยู่ขึ้นอีกไม่น้อยเลยทีเดียว

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า โดยปานมณี

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ