สุดยอดไอเดียเยาวชนใน “เทศกาลปล่อยแสง 6”

อิสระทางความคิด ที่ได้ปลดปล่อย

สุดยอดไอเดียเยาวชนใน “เทศกาลปล่อยแสง 6”

  

          “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้”(imagination is more important than knowledge) คือหนึ่งในคมวาทะอมตะของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่ความหมายแท้จริงต้องการสื่อว่า จินตนาการและความรู้คือสิ่งที่ควรดำเนินไปคู่กัน เพราะจินตนาการจะทำให้คนคนนั้นไขว่คว้าหาความรู้ เพื่อทำสิ่งที่คิดให้กลายเป็นจริง

 

          แต่คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าตัวแปรสำคัญที่จะต่อยอดความคิดให้กลายเป็นความจริงได้ก็คือ”การได้รับโอกาส”

 

          วันก่อนไปเดินดูสุดยอดไอเดียคั้นสดจากเยาวชนไทยในงาน”เทศกาลปล่อยแสง 6 : คิด/ทำ/กิน ตอน คบเด็ก สร้างชาติ” มาค่ะเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการ”creative thailand สร้างเศรษฐกิจไทยด้วยความคิดสร้างสรรค์” โดย ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (tcdc) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกันจัดขึ้น เพื่อเปิดพื้นที่อิสระทางความคิดให้เยาวชนร่วมประกวด โชว์ไอเดีย นำเสนอผลงานอย่างอิสระ เรียกว่าเดินดูไม่มีเบื่อเลยเห็นแล้วก็อดปลื้มใจแทนเยาวชนคนมีของ(ดีทางความคิด) มาปล่อยไม่ได้

 

          โดยหลังจากที่ tcdc ได้เปิดรับสมัครนักศึกษาระดับ ปวช. ปวส. ปริญญาตรี และปริญญาโทจากทุกสาขาวิชาที่เพิ่งจบการศึกษาในปี 2553 ให้ส่งผลงานความคิดสร้างสรรค์ มีจุดขาย สามารถต่อยอดทางธุรกิจ โดยให้อิสระทางความคิด ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.- 30 เม.ย. ที่ผ่านมานั้น

 

          ปรากฏว่ามีเยาวชนให้ความสนใจส่งผลงานมาเป็นจำนวนมากซึ่งทางคณะกรรมการก็ได้คัดเลือกเหลือเพียง 150 ผลงาน มาอวดสายตาประชาชน อาทิ ผลิตภัณฑ์ส่งเสริมให้เด็กก่อนวัยเรียนสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตัวเอง ชุดอุปกรณ์ออกกำลังกายสำหรับสุนัข เป็นต้น ซึ่งทั้ง 150 ผลงานนี้จะจัดแสดงพื้นที่ภายในลานปล่อยแสงฟรี 1 ตารางเมตรต่อ 1 ผลงาน

 

          กิจกรรมครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการสนับสนุนการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์แล้ว ยังเป็นการติดอาวุธทางปัญญาให้กับเยาวชนสามารถขยายโอกาสได้พบกับผู้ผลิต ผู้จ้างงาน สู่อาชีพธุรกิจ

 

          โดยคณะกรรมการจะทำการคัดเลือก 30 ผลงานเพื่อฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การสานต่อความคิดสร้างสรรค์สู่ธุรกิจ” พร้อมทั้งจะได้ร่วมทำกิจกรรมworkshop กับผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาสินค้าสู่ตลาดธุรกิจในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ จำนวน 100 แห่ง ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ สสส. ได้ผลักดันเพื่อให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์และกระตุ้นการเรียนรู้

 

          เพราะพื้นที่สร้างสรรค์จะเกิดขึ้นได้ต้องประกอบด้วย1. แหล่งเรียนรู้ที่ดี 2. มีสื่อสร้างสรรค์ที่ดี 3. มีกลไกการทำงานที่ดี4. ส่งเสริมสายสัมพันธ์ที่ดี และ 5. การคุ้มครองที่ดี ให้พ้นจากปัจจัยเสี่ยง

 

          นอกจากนี้ 30 ผลงานที่ผ่านการคัดเลือกยังได้เผยแพร่ผ่านทางนิตยสาร aday ฉบับประจำเดือน ก.ค. 2553 ตลอดจนสื่อต่างๆ และช่องทางการสื่อสารการตลาดอีกด้วย ถือเป็นการปูทางสู่อนาคตที่สดใสให้แก่เยาวชนผู้เข้ารอบ

 

          ใครสนใจอยากไปเดินชมไอเดียเด็กไทย เพื่อร่วมอุดหนุนกำลังใจให้พวกเขาก็ไปงานนี้ได้เลยเพราะจะจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 27 มิ.ย. 2553 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการชมงานเลย

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด

 

 

 

update: 10-06-53

อัพเดตเนื้อหาโดย: คมสัน ไชยองค์การ

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code