‘สุข’ จากรอบตัวสร้างคุณภาพวัยเกษียณ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพและเว็บไซต์ไทยโพสต์
ปัจจุบันปัญหาสุขภาพจิตสามารถพบได้ทั้งวัยรุ่น หนุ่มสาวออฟฟิศ ไปจนถึงผู้สูงอายุที่ป่วยโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ และที่มาของปัญหาหนีไม่พ้นเรื่องความเครียด ตลอดจนการที่คาดหวังในเรื่องต่าง ๆ มากจนเกินไป
เมื่อไม่ได้ที่ตั้งใจไว้ก็ทำให้ผู้ป่วยหมดกำลังและรู้สึกท้อแท้ในการใช้ชีวิต กระทั่งเลือกตัดช่องน้อยแต่พอตัวในที่สุด แต่อย่าลืมว่าทุกปัญหาย่อมมีทางแก้ไขเสมอ หากเรามีสติและรู้จักที่มองปัญหาให้เป็นปัญญา โดยเฉพาะการมีความสุขกับตัวเองในแบบง่าย ๆ ที่บางครั้งไม่จำเป็นต้องใช้เงินเยอะในการซื้อความสบายใจให้กับตัวเรา มีคำแนะนำจากคนรุ่นใหญ่ที่เลือกสุขภาพดีทั้งกายและใจด้วยวิธีคิดในแบบของตัวเอง ที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ทั้งคนวัยเก๋าและลูกหลานที่ต้องการทางสายกลางในการดำเนินชีวิต
เริ่มกันที่ อ.ณรงค์ เทียมเมฆ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสุขภาพจาก สสส. บอกว่า "คำว่ามีความสุขนั้นมันอยู่ที่ใจของเรา โดยจากการแสวงหาความสุขจากตัวเราเอง อย่าหลอกตัวเอง และอย่าคาดหวังในสิ่งที่ไกลเกินเอื้อม เพราะการตั้งเป้าหมายสูงเท่าไหร่ เมื่อไม่ได้มันก็จะทุกข์ใจมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นเราจำเป็นต้องลดความทะยานอยากในชีวิตลง ที่สำคัญต้องรู้จักกินใช้เท่าที่มี นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่มักชอบตั้งเป้าหมายกับลูกหลาน ไม่ว่าจะอยากให้เขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ หรือคอยเป็นกังวลและเป็นห่วงเขามากจนเกินไป สิ่งเหล่านั้นก็จะทำให้ชีวิตเป็นทุกข์เช่นกัน หรือการเป็นทุกข์จากความห่วงใยนั่นเอง
"ดังนั้นจึงควรคิดเสียว่า อันที่แล้วเราไม่สามารถที่จะไปควบคุมชีวิตของใครได้ ขณะเดียวกันก็ให้มองความเป็นห่วงที่เกินเหตุ ให้เป็น "ความเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา" เพราะถ้าว่ากันตามจริงแล้ว การไปฉุดรั้งไม่ให้สิ่งไม่ดีเกิดขึ้นกับคนในครอบครัวก็เป็นเรื่องยาก เพราะทุกสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมมีเหตุผลและปัจจัยเป็นตัวกำหนดเสมอ ดังนั้นสุดท้ายแล้วจึงทำได้แค่การปล่อยวางนั่นเอง เมื่อนั้นความเครียดและความไม่สบายใจมันก็จะน้อยลงตามไปด้วยครับ"
นอกจากนี้ การสร้างความสุขอย่างง่าย ๆ ของคนวัยหลัก 5 หลัก 6 ในฐานะพุทธศาสนิกชน "การเข้าวัด" ก็ช่วยทำให้เกิดความปีติสุขใจได้ทางหนึ่ง แต่ต้องพิจารณาถึงจุดประสงค์ในการเข้าวัดเช่นกัน เพราะถ้าหากไปวัดเพื่อหาวัตถุมงคล หรือไปเพื่อเป่า เสก หรือร้องขอสิ่งต่าง ๆ ตรงนี้ก็จะไม่มีประโยชน์ แต่ถ้าเราไปหาธรรมะจริง ๆ เช่น การสวดมนต์ หรือปฏิบัติธรรม และแผ่เมตตา วิธีนี้ย่อมทำให้จิตของผู้สูงอายุสงบนิ่ง และลดความฟุ้งซ่านอันเกิดจากสภาพแวดล้อมใกล้ตัวได้ หรือแม้แต่การที่เราอยู่บ้าน แต่เรามีธรรมะในใจ และรู้จักการบริหารศีล สมาธิ อีกทั้งปัญญาได้ สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงช่วยดับทุกข์ แต่ยังเป็นแนวทางในการใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขกับสิ่งที่เรามีและเราเป็นได้ครับ"
ถัดมาที่เจ้าของฉายา "ป้าแป๋วแบ็กแพ็ก" หรือ ป้าแป๋ว-กาญจนา พันธุเตชะ ข้าราชการเกษียณอายุที่รักการท่องเที่ยวผจญภัยในต่างแดน และเจ้าของเพจ "ป้าแบ็กแพ็ก" บอกถึงวิธีการสร้างความสุขที่ได้จากการท่องเที่ยวอย่าง "การอ่านหนังสือคู่มือเดินทาง" ที่ถือเป็นการสร้างความสงบในใจที่ไม่ยุ่งยาก และสามารถสร้างสุขภาพจิตที่ดีได้แม้อยู่บ้าน
"ความสุขของป้าในวัย 66 ปี คิดว่าเป็นสิ่งที่เราสามารถสร้างมันได้ด้วยตัวเอง อย่างการอ่านหนังสือที่เป็นข้อมูลท่องเที่ยว เพราะป้าเป็นคนที่ชอบการเดินสไตล์แบ็กแพ็ก ดังนั้นก่อนที่จะไปเที่ยวที่ไหนก็จำเป็นต้องอ่านหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของประเทศนั้น เพื่อให้รู้ความเป็นมาเป็นไปของเขา เนื่องจากเป็นคนชอบเที่ยวในสถานที่เชิงประวัติศาสตร์ เพราะสิ่งที่ได้จากการศึกษาข้อมูลจะทำให้เรารู้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยขณะเดินทางไปสัมผัส ที่สำคัญการอ่านหนังสือในสไตล์ที่เราชอบก็สามารถทำให้สมองของเราได้ทำงาน และมีความรู้เพิ่มพูนขึ้นอีกด้วย สิ่งสำคัญที่นอกจากการอ่าน แต่การได้มาเห็นของจริง ก็จะยิ่งทำให้เราอิ่มเอมใจค่ะ ดังนั้นวิธีการสร้างสุขของคนวัยเกษียณแต่ละคนอาจจะแตกต่างกันออกไป แต่ขอให้ทุกคนทำในสิ่งที่รักและชอบ แน่นอนว่าสิ่งนั้นจะสร้างทั้งพลังกายและพลังใจให้เราได้ค่ะ ซึ่งนั่นจะทำให้เราเป็นคนวัยเกษียณที่มีคุณภาพค่ะ"
ป้าแป๋ว บอกอีกว่า สิ่งที่เจ้าตัวได้จากท่องเที่ยว อย่างแรกคือความสุขด้านจิตใจจากการที่ได้ออกไปเห็นโลกกว้าง และได้ความรู้ ได้ฝึกสมองจากการอ่าน ที่สำคัญเวลาไปท่องเที่ยวในต่างแดนเพียงลำพัง ยังเป็นการฝึกสมองในแง่ของการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อขณะที่เราเดินทาง ซึ่งเรียกได้ว่าไม่มีจุดสิ้นสุด ดังนั้นเราจึงต้องเตรียมพร้อมในการใช้ชีวิตอยู่เสมอและทุก ๆ เรื่องค่ะ
ทว่าการสร้างสุขของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน แต่สิ่งสำคัญคือการตั้งมั่นอยู่กับความพอดี รู้จักการสร้างความปีติจากสิ่งใกล้ตัวที่สนใจ และไม่ประมาทในการใช้ชีวิต…เห็นด้วยไหมคะ