‘สุข’ ของพนักงาน ‘สุข’ ขององค์กร
“ความสุข” ของผู้เขียนที่ได้สนทนา สัมภาษณ์ หรือร่วมฟังการนำเสนอผลงานสร้างสุขในแต่ละองค์กรก็คือ การได้รับการจุดประกายความคิดใหม่ๆ ที่สามารถ นำไปถ่ายทอดต่อ รวมถึงไปปรับใช้ในองค์กรของตนเอง
หนึ่งในตัวอย่างนวัตกรรมสร้างสุข ที่จุดประกาย ผู้เขียนได้ไม่น้อย นั่นคือ การส่งเสริมความเข้มแข็งของครอบครัวพนักงาน ที่ คุณสุริยา เสาวดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท มารศรี โปรดักส์ จำกัด อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำพริกสำหรับเป็นของฝาก 7 ชนิด ได้แก่ น้ำพริกตาแดง น้ำพริกปลาร้าสับ น้ำพริกกะปิกุ้ง น้ำพริก เผากุ้งไทยแท้ น้ำพริกหนุ่ม และน้ำปลาหวานได้ริเริ่มขึ้นจากความรัก และความห่วงใยในพนักงาน ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นผู้หญิง และหลายคนต้องทำหน้าที่เป็นเสาหลัก ของครอบครัว มีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก จึง ริเริ่มกิจกรรมที่มุ่งไปที่การทำให้พนักงานมีรายจ่ายลด รายได้เพิ่ม และ ครอบครัวแข็งแรง
ในด้านส่งเสริมให้พนักงานมีรายได้ บริษัทมีนโยบายให้พนักงานนำลูกหลาน มาทำงาน part time ช่วงปิดเทอม หรือวันหยุดเรียน เพื่อให้ลูกของพนักงาน มีรายได้ พ่อแม่ก็ไม่ต้องห่วงลูกช่วงที่หยุดเรียนหรือ ปิดเทอม นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ครอบครัวพนักงานที่ว่างงานปลูก พริก กระเทียม แล้วนำมาขายให้บริษัทด้านการลดค่าใช้จ่ายของพนักงาน บริษัทจะเลี้ยงอาหารเย็นพนักงานทุกครั้งที่ทำงานล่วงเวลา โดยผู้บริหารมาร่วมรับประทานบางครั้งก็เลี้ยงอาหารกลางวันให้กับพนักงานเพิ่ม
ด้านการส่งเสริมให้พนักงานได้อยู่ร่วมกับครอบครัว บริษัทจะอนุญาต ให้พนักงานกลับไปดูแลครอบครัวในช่วงกลางวัน และอนุญาตให้นำลูกๆ จะมาวิ่งเล่นที่บริษัทนอกจากนี้ เมื่อบริษัทมีงานเลี้ยง เช่น จัดงานเลี้ยงปีใหม่ บริษัทก็จะชวนครอบครัวของพนักงานมาร่วมด้วย ทุกครั้ง และยังอนุญาตให้ลูกหลานพนักงาน มาทำงานในวันหยุดได้ด้วย โดยบริษัทจะจ่ายค่าตอบแทนให้ ซึ่งแม้ว่าบริษัทจะมีเงินซื้อเครื่องจักรสำหรับติดฉลากผลิตภัณฑ์ แต่บริษัทเลือกที่จะจ้างให้เด็กๆ มาทำงานมากกว่า ทั้งนี้ เพราะสังเกตเห็นว่า เด็กจะภาคภูมิใจที่หาเงินได้เอง
เมื่อถึงเวลาเปิดเทอมก็จะซื้ออุปกรณ์การเรียนหรือ สิ่งของที่จำเป็นให้แก่ลูกพนักงานอย่างเท่าเทียมกัน
อีกหนึ่งนวัตกรรมสร้างสุข ที่จุดประกายความคิดได้มากเช่นกัน ก็คือ โครงการสู่อนาคต ที่ฝ่ายเครดิต ของบริษัท เธียรสุรัตน์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินธุรกิจผลิต และจำหน่ายเครื่องกรองน้ำได้ริเริ่มขึ้น โดยนอกจากจะมีกิจกรรมสร้างสุข ตามเมนูสร้างสุขทั้ง 8 ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แล้ว ฝ่ายเครดิตซึ่งทำหน้าที่ บริการรับค่าผ่อนชำระสินค้าของลูกค้า ยังมีกิจกรรมเชิงรุกเพื่อสร้างสุข ให้พนักงานอย่างยั่งยืน โดย คุณพรชัย สิทธิศักดิ์ ผู้จัดการฝ่าย ได้คิดรูปแบบการกระตุ้น และส่งเสริม ให้พนักงานของเขา ที่ต้องอยู่กับเรื่อง เงินๆ ทองๆ และได้ค่าตอบแทนสูง ได้รู้จักการบริหารจัดการเงินของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ และมีเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจน ลดโอกาสประพฤติผิด หรือดำเนินชีวิตผิดพลาด เช่นใช้จ่ายเงินเกินตัว หรือ ทุจริต
คุณพรชัย ได้กำหนดนโยบายว่าพนักงานทุกคนในฝ่ายต้องมีเงินเก็บ โดยต้องนำสมุดเงินฝากมาให้ดูทุกสิ้นเดือน ถ้าจะใช้เงินก็ต้องชี้แจงว่านำไปทำอะไรบ้าง เพื่อป้องกันการนำไปเล่นการพนัน หรือใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายอันจะนำไปสู่การคิดทุจริตได้ นอกจากนี้ ก็ยังให้พนักงานตั้งเป้าหมายว่า จะมีเงินเก็บเท่าไหร่ มีรถยี่ห้ออะไร มีบ้านราคาเท่าไหร่ และจะมีเมื่อไหร่ และเมื่อทำสำเร็จหรือถึงกำหนดจะต้องนำหลักฐานมาแสดง (รูปถ่ายหรือเอกสารหลักฐาน) แต่ถ้ายังไม่ได้ก็จะมีการให้กำลังใจกัน ส่วนผู้ที่สามารถทำได้ตามเป้าหมายจะมีมุมประกาศความสำเร็จ “เป้าหมายชีวิต พิชิตฝัน” เพื่อเป็นแรงผลักดันเพื่อนพนักงานคนอื่นๆ ส่วนกรณีที่มีคนทุจริต ก็จะมีมุมผู้หลงผิด พร้อมใบประกาศจับและจุดจบเป็นอุทาหรณ์
กิจกรรมที่มุ่งสร้างอนาคตให้พนักงานของบริษัท “ด้วยใจจริง” นี้ทำให้ฝ่ายงานอื่นๆ เช่น ฝ่ายขาย ซึ่งได้ค่าตอบแทนสูงเช่นกัน นำไปใช้ในฝ่ายด้วยเห็นคุณค่าของการเข้าไปช่วยดูแลบริการจัดการทางการเงิน และเป้าหมายชีวิตให้พนักงาน ขณะที่ผู้บริหารองค์กร ฝ่ายทรัพยากรบุคล ก็ให้การสนับสนุน เพราะเชื่อว่า เมื่อพนักงานพกความสุขมาทำงาน ก็จะทำงานอย่างมีความสุข
เมื่อพนักงานมีความสุขในการทำงาน ประสิทธิผลในการทำงานก็จะเพิ่มขึ้น ตามมานั่นเอง
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โดย พิมพร ศิริวรรณ