สุขในใจเยาวชนและคนทำงาน จ.แพร่
การพูดคุยกันหลายครั้ง เกี่ยวกับเครือข่ายการสร้างสุขภาวะทางปัญญาในงานเยาวชน ภายใต้โครงการสุขแท้ด้วยปัญญา ปีที่ 4 เครือข่ายพุทธิกา ทั้งในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคกลาง มีความเห็นไปในแนวทางเดียวกันว่า “สิ่งสำคัญ คือ การเติมกำลังใจให้กัน ทั้งในส่วนของฅนทำงาน และกลุ่มเป้าหมายเยาวชน”
สถาบันปัญญาปีติ ซึ่งอาสารับประสานเครือข่ายงานสุขแท้ด้วยปัญญาในพื้นที่ภาคเหนือ ได้สื่อสารสัมพันธ์และออกเดินทางเยี่ยมหาตามกำลังที่ทำได้ ในครั้งนี้มีจุดหมายปลายทางที่ วัดห้วยกี้ ตำบลไผ่โทน อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ มีหลวงพี่โอและหลวงพี่เพิก เป็นหลักในการจัดกระบวนการเรียนรู้แก่เด็กเยาวชนในท้องถิ่นดังกล่าว โดยระหว่างการเดินทางไปยังจุดหมายได้มีการแวะทักทายกลุ่มเรือนเพาะชำ ชายหนุ่มผู้มีรอยยิ้มเป็นสัญลักษณ์ และเรียนรู้การทำงานของกลุ่มกับองค์กรภาคีในจังหวัดแพร่บางแง่มุมด้วย
การเปลี่ยนแปลงที่ได้รับฟังจากเด็กๆ ซึ่งผ่านกระบวนการเรียนรู้ ที่จัดขึ้นโดยหลวงพี่โอและหลวงพี่เพิก สะท้อนถึงความสุขที่เกิดขึ้นในใจของเขาเหล่านั้น มีเรื่องที่น่าสนใจเนื่องจากเป็นความสุขที่ได้สัมผัสตรงจากการทำกิจกรรมของเด็กๆ เช่น น้องสา เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้การนั่งสมาธิ เป็นสิ่งที่ดี แต่ทำได้ยาก เนื่องจากต้องพยายามควบคุมตัวเองอย่างมากในการนั่งสมาธิ แต่เมื่อเรียนรู้และทำกิจกรรมผ่อนพักตระหนักรู้ มีการเปิดเพลงบรรเลงและฟังเสียงจากธรรมชาติ ช่วยให้น้องสาเกิดความรู้สึกผ่อนคลาย มีความสบายและสามารถติดตามลมหายใจเข้าออกได้ดี เมื่อนั่งสมาธิก็ทำได้ดีขึ้น ไม่ต้องพยายามมาก”
นอกจากนี้ น้องสายังบอกเล่าให้ฟังถึงบทเรียนที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด ตัดสินผู้อื่นจากภายนอกไว้อย่างน่าสนใจ ว่า ในการเข้าค่ายที่มีรุ่นน้องจากต่างพื้นที่ ซึ่งชอบเล่นและคุยกันในระหว่างการทำกิจกรรม ทำให้ตนรู้สึกรำคาญและไม่พอใจน้องกลุ่มนี้ แต่เมื่อทางหลวงพี่ทั้งสองให้ เดินทางเข้าไปในชุมชนไปทำกิจกรรม กลับพบว่าเด็กกลุ่มดังกล่าวตั้งใจทำกิจกรรมและดูแลบีบนวดยายไว ซึ่งอาศัยอยู่ลำพังในบ้านคนเดียว อีกทั้งช่วยยายกวาดบ้าน ถูบ้าน เหมือนกับเป็นลูกหลานแท้ๆ ของยาย ทำให้น้องสาเกิดมุมมองใหม่ ว่า “ไม่อาจตัดสินคนจากสิ่งที่เราเห็นเพียงอย่างเดียว”
น้องสาจึงนำแนวคิดดังกล่าวกลับไปใช้ในชีวิตการเรียนหนังสือในโรงเรียน โดยไม่ตัดสินเพื่อนที่ตนไม่เคยเข้ากลุ่มด้วย เพราะความไม่ชอบใจบางอย่างที่ตนเคยพบเห็นมาในอดีต ทำให้ปัจจุบันน้องสา มีเพื่อนหลายกลุ่มมากขึ้นกว่าเดิม (ก่อนเข้าค่ายเรียนรู้) สามารถทำรายงานและเข้ากลุ่มทำกิจกรรมกับเพื่อนได้ง่ายขึ้น มีความสุขในการเรียนรู้ในโรงเรียนมากขึ้น
น้องจุ๊บแจง เป็นเยาวชนอีกคนหนึ่ง ซึ่งบอกเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงจากการเข้าเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงของตนเองได้อย่างมีพลัง ว่า จากการทำกิจกรรมเขียนจดหมายถึงป้าในช่วงวันพ่อเนื่องจากตนอาศัยอยู่กับป้า ส่งผลสำคัญต่อการแสดงความรู้สึกที่ไม่เคยบอกป้า ว่าตนรู้สึกกับป้าอย่างไร ทำให้ความสัมพันธ์ของตนกับป้าดีขึ้น มีความสุขขึ้น และการเรียนรู้ในค่ายยังส่งผลให้เกิดแรงบันดาลใจอยากทำอะไรเพื่อผู้อื่น เพราะเป็นโอกาสที่ตนเองจะได้เรียนรู้มากขึ้น
โดยปัจจุบัน จุ๊บแจงกำลังพยายามชวนเพื่อนๆ สร้างห้องสมุดชนเผ่าขึ้นในอำเภอสอง จังหวัดแพร่
นอกจากนี้บทเรียนที่สามเณรบิ๊ก (สามเณรชนเผ่าปกาเกอะญอจาก อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน) ซึ่งมีโอกาสมาร่วมเรียนรู้ในกิจกรรมเพียงครั้งเดียวในค่ายทั้งหมด 3 ครั้ง ได้สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงให้ได้ทราบถึงความมั่นใจในตนเองและการก้าวออกจากความกลัวมาสู่ความกล้า ไว้ว่า ช่วงที่ทำกิจกรรมตีบอล เป็นกิจกรรมที่ยาก และเมื่อเกิดบทเรียนอยากบอกเล่า แบ่งปันให้เพื่อนฟังแต่ไม่กล้า เนื่องจากทำกิจกรรมเรียนรู้อยู่กับกลุ่มฆราวาส และพูดภาษาไม่ชัดเหมือนเพื่อน แต่เมื่อรวบรวมความกล้าเพียงครั้งเดียวในค่ายครั้งแรก ทำให้เกิดแรงระเบิดจากภายในนำเสนอเรื่องราวแบ่งปันบทเรียนของตนกับเพื่อน รู้สึกถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงทัศนคติวิธีคิด ที่มีพลังความรู้สึกอยู่ด้วย
ส่งผลให้สามเณรกลับไปทำกิจกรรมในวัดได้อย่างมั่นใจ จนกระทั่งได้รับมอบหมายจากพระอาจารย์และเพื่อนสามเณรด้วยกัน ให้เป็นผู้นำในหลายกิจกรรม เป็นอีกการเปลี่ยนแปลงที่บอกเล่าด้วยน้ำเสียงหนักแน่น และแววตามั่นใจ ในเรื่องที่ได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงมาด้วยตนเอง
เรื่องราวการเปลี่ยนแปลงจากการสอบถามพูดคุยจากกลุ่มเป้าหมายบางราย ที่เข้าร่วมเรียนรู้ในกิจกรรมค่าย ซึ่งจัดโดยหลวงพี่โอและหลวงพี่เพิก ช่วยให้เห็นพลังของการจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างใส่ใจการเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้นต่อทัศนคติ วิธีคิดของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งหลวงพี่โอได้เล่าถึงการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ไว้ว่า การจัดกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งออกแบบจากการศึกษาความเป็นไปของสังคมท้องถิ่น จังหวัดแพร่ และสถานการณ์ที่เด็กเยาวชนกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน นำมาสู่การกำหนดการจัดกิจกรรมค่ายทั้ง 3 ครั้ง โดยครั้งแรกเน้นให้เกิดการเรียนรู้ตนเอง เข้าใจผู้อื่น สามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตครอบครัว และการเรียนรู้ในโรงเรียนได้ ส่วนครั้งที่ 2 เน้นให้เกิดการเรียนรู้จากท้องถิ่น เข้าถึงความสัมพันธ์ของอยู่อาศัยร่วมกันในชุมชนที่มีการดูแลเกื้อกูลกัน ครั้งที่ 3 เป็นการขมวดบทเรียนเพื่อส่งมอบการเรียนให้เกิดการปรับใช้ในชีวิตให้มากที่สุด นานที่สุดเท่าที่จะสืบเนื่องต่อไปได้
หลวงพี่เพิกยังได้เสริมความเห็นเพิ่มต่อการการจัดกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวมาอีกว่า การจัดกิจกรรมที่วางเงื่อนไขไปหากลุ่มเป้าหมายมาสู่การจัดกระบวนการเรียนรู้นั้น ส่งผลต่อภาระและความยากลำบากต่อผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งควรปรับการดำเนินงานเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายที่มีความต้องการและมีความสนใจ ได้มีส่วนกำหนดวาระการเรียนรู้ ว่าต้องการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองอย่างไร (เนื้อหาอะไร กี่วัน ช่วงไหน ที่ไหน) และเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการให้เกิดปัจจัยเอื้อต่อกระบวนการเรียนรู้ เช่นการกินอยู่ การพักค้าง หรือการดูแลสถานที่ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งเป็นอีกโอกาสสำคัญที่จะสร้างเงื่อนไขและขัดเกลาฝึกฝนกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีคุณค่า
การเรียนรู้ในการเยี่ยมหาเพื่อถามไถ่ถึงความสุขในใจตน เยาวชน และ ฅนทำงาน จ.แพร่ เป็นเรื่องราวที่ทีมงานได้เรียนรู้ จนมีความรู้สึกร่วมกันของทุกคน ทั้งผู้มาเยี่ยมและเยาวชน ว่าวันเวลาที่ได้มาเยี่ยมหาแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน ดูเหมือนจะนานมาก เหมือนเรามาคุยกัน 3-4 วัน แต่ในความเป็นจริงเราพูคุยกันแค่เพียง 2 วันเท่านั้นเอง ความรู้สึกดังกล่าวจึงเป็นการเติมเต็มพลังในการทำงานและการใช้ชีวิตที่มีอยู่ให้เป็นไปอย่างมีความหมายและพลัง อันเป็นผลมาจาก….สุขแท้ด้วยปัญญา
ที่มา: โครงการสุขแท้ด้วยปัญญา เครือข่ายพุทธิกา