สุขแท้ด้วยการให้…สรรสร้างสังคมให้น่าอยู่
ด้วยภาวะความกดดัน วิถีชีวิตที่เร่งรีบ การพยายามโหมทำงานเร่งหารายได้มาจับจ่ายซื้อของที่ตนเองต้องการ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลทำให้เกิดความเครียดและในบางครั้งคนเราลืมสนใจคนที่อยู่รอบๆ ตัว โดยสิ่งที่สามารถสะท้อนภาวะที่คนไทยมีความสุขน้อยลงได้อย่างเด่นชัด คือ เมื่อเร็วๆ นี้ ทางศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เผยถึงผลวิจัยแนวโน้มความสุขมวลรวม gdh ของคนไทยภายในประเทศประจำเดือน ม.ค. 2553 ว่า เมื่อเปรียบเทียบในช่วงต้นปี 2553 กับช่วงสิ้นปี 2552 ค่าความสุขของคนไทยลดต่ำลงจาก 7.26 ตกลงมาอยู่ที่ 6.52 นอกจากนี้ยังพบว่าสุขภาพใจของประชาชนตกลงจาก 7.96 มาอยู่ที่ 7.58
ดังนั้นแล้วเพื่อสรรสร้างสังคมให้น่าอยู่มากขึ้น ทางโครงการสุขแท้ด้วยปัญญา ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงจัดสัมมนาสรุปผลและถอดบทเรียน โครงการสุขแท้ด้วยปัญญา ปี 2 ขึ้นเมื่อวันที่ 28 – 31 มกราคม ที่ผ่านมา เพื่อแบ่งประสบการณ์ดีๆ ที่เกิดระหว่างทำงานมาให้กับผู้คนในสังคม โดยบรรยากาศภายในงานนั้นมากมายไปด้วยรอยยิ้มและความปรารถนาดีที่ทุกคนต่างนำมามอบให้กัน ซึ่งสะท้อนผ่านคำพูดจากประสบการณ์ที่เกิดหลังทุกคนได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ
ทั่งนี้ก่อนเริ่มงานผู้ร่วมโครงการจากทั่วทุกภาคของประเทศไทยต่างทยอยเดินทางมาร่วมตัวกันที่จุดนัดหมาย ก่อนที่ พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จะเริ่มให้พรและแนวทางในการดำเนินชีวิตประจำวันตามหลักพระพุทธศาสนาที่มุ่งเน้นให้ทำดีละเว้นความชั่ว ลดความเป็นตัวตนลง คิดอย่างมีเหตุผล ฟังคนอื่นให้มากขึ้นและฝึกยอมรับในความเปลี่ยนแปลง เพื่อที่จะได้ไม่ตกอยู่ในความทุกข์ และในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมที่จะหยิบยื่นสิ่งดีๆ ให้แก่ผู้อื่นด้วย
จากนั้นแต่ละโครงการก็นำแสดงกิจกรรมเด่นๆ ที่มุ่งเน้นการแบ่งปันและให้ความสุขแก่ผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทนและในขณะเดียวกันก็ได้ขัดเกลาจิตใจของตนเองด้วย ซึ่งนายวิโรจน์ วงศ์เสนา ตัวแทนจากโครงการสุขแท้ด้วยจิตอาสา จ.ชัยภูมิ ได้เล่าถึงความเป็นมาก่อนเข้าร่วมกิจกรรม ว่า ด้วยหน้าที่การงานที่ต้องรับผิดชอบ ทำให้ก่อนหน้านี้ยังไม่มีโอกาสทำงานเพื่อสังคม แต่เมื่อเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างผู้เฒ่าผู้แก่และเด็กๆ ในชุมชนเริ่มห่างเหินและกลายเป็นคนแปลกหน้ากันมากขึ้น จึงเริ่มหาวิธีกระชับความสัมพันธ์ผ่านกิจกรรมในโครงการ อาทิ ‘สปาเท้า’ โดยให้ผู้เฒ่าผู้แก่ นั่งแช่เท้าลงไปในน้ำสมุนไพร แล้วให้เด็กๆ ใช้สมุนไพรนวดและบีบเท้าผู้สูงอายุ พร้อมรับพรด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นการแบ่งปันและมอบสิ่งดีๆ ให้กัน โดยไม่หวังผลตอบแทนในรูปตัวเงิน มากไปกว่านั้นยังถือเป็นการสร้างทัศนคติแห่งสำนึกในการให้ต่อผู้อื่นและตนเอง
เช่นเดียวกับ น.ส.บูรณา แสงทอง โครงการเด็กรักบ้าน จ.อุบลราชธานี เธอเล่าให้ฟังถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังเข้าร่วมโครงการว่า ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะต้องทำงานร่วมกับเด็กๆ เพราะโดยนิสัยส่วนตัวแล้วเป็นคนใจร้อน หงุดหงิดง่าย แต่เมื่อต้องมาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการก็ต้องเริ่มปรับตัวและสภาพจิตใจ โดยค่อยๆ มองหาเหตุผลและข้อดีของการทำงานร่วมกับเด็กๆ จนเห็นแง่มุมบางอย่างที่ทำให้เข้าใจได้ว่าพลังของเยาวชนในชุมชน คือ พลังแห่งการสร้างสรรค์ที่สามารถขับเคลื่อนสังคมให้น่าอยู่ได้มากขึ้น เพียงแต่ต้องได้รับการขัดเกลาและชี้แนะอย่างถูกต้อง ด้วยเหตุผลนี้เองจึงทำให้ค่อยๆ ควบคุมอารมณ์ของตัวเองและกลายเป็นคนใจเย็นและมีเหตุผลมากกว่าเดิม
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมดีๆ อีกมากมายที่ทั้ง 56 โครงการนำมาแลกเปลี่ยนกัน อาทิ เครื่องดนตรีนานาชนิดจากขวดน้ำพลาสติกรีไซต์เคิลของโครงการศิลปะติดดิน ศิลปินติด การถักตาข่ายดักฝันของโครงการมิตรภาพแห่งขุนเขา การฟ้อนอนุรักษ์วัฒนธรรมภาคเหนือจากโครงการปลูกระดมและวิดีโอหนังสั้นอีกมากมายจากโครงการต่างๆ
มากไปกว่านั้นทุกการกระทำ ทุกคำบอกเล่าในประสบการณ์ที่ทุกคนนำมาแลกเปลี่ยนกัน ถือยังเป็นเป็นสิ่งล้ำค่าที่สามารถนำไปพัฒนาและแตกยอดให้เกิดประโยชน์กับสังคมไทยได้ แน่นอนว่าการรักตัวเองเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องคำนึงถึง แต่การตอบแทนและทำให้สังคมน่าอยู่ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากเช่นกัน
สังคมจะดีขึ้นได้ ถ้าทุกคนไม่นิ่งเฉยและพร้อมที่จะช่วยเหลือและหยิบยื่นสิ่งดีๆ ให้กับคนรอบข้าง
ที่มา : สำนักข่าว สสส.
update 09-02-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : นพรัตน์ นริสรานนท์