สุขหรือทุกข์… อยู่ที่เลือกใช้ชีวิต

          ก่อนหน้านี้นักวิชาการ ส่วนใหญ่ให้น้ำหนักกับทฤษฎีที่ว่า ระดับความสุขของแต่ละคนนั้นถูกกำหนดไว้แล้ว เหมือนลูกบอลที่ลอยอยู่ในแท็งก์น้ำ บางคราวระดับน้ำอาจจะลดลงบ้าง แต่แน่นอนว่าในที่สุดมันก็จะกลับสู่ระดับที่เคยเป็นมา เช่นเดียวกับความสุขของมนุษย์

สุขหรือทุกข์… อยู่ที่เลือกใช้ชีวิต

          ทว่าจากงานวิจัยล่าสุดของ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ออสเตรเลีย พบว่าคนที่เราแต่งงานด้วย เป้าหมายในชีวิต ตลอดจนหน้าที่การงานล้วนมีผลต่อระดับความสุขทั้งสิ้น

          ไทม์รายงานว่า งานวิจัยดังกล่าวซึ่งศึกษาการใช้ชีวิตของชาวเยอรมัน 6 หมื่นคน เป็นเวลา 25 ปี ระบุว่า ระดับความพึงพอใจของอาสาสมัครส่วนใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้งในช่วงทำการศึกษา โดย 40% ของอาสาสมัครบอกว่า ระดับความสุขของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไป 25% ขณะที่อีก 12% ยอมรับว่า ระดับความสุขเคลื่อนไหวขึ้นลง 50% และหลายครั้งระดับความสุขที่ผันแปรไปนั้นคงอยู่อย่างถาวร

          ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อระดับความสุข  คือ การเลือกครั้งสำคัญและวิธีการใช้ชีวิต อาทิ การสมรสกับคนอารมณ์แปรปรวนเป็นสิ่งบั่นทอนความสุขอย่างมาก เมื่อเทียบกับการใช้ชีวิตคู่กับผู้มีอารมณ์มั่นคง และความเคยชินก็ไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น การใช้ชีวิตกับคนเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายเป็นเวลานานยิ่งลดทอนความสุข แต่การแต่งงานกับคนอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ยังมีผลเสียน้อยกว่าเป็นคนผีเข้าผีออกเสียเอง

          คุณเคยคิดใช่ไหมว่า ถ้างานหนักน้อยลงคงจะมีความสุขมากขึ้น แต่ผลการวิจัยกลับตรงกันข้าม โดยคนที่ทำงานน้อยกว่าความสามารถจะมีความพึงพอใจต่ำกว่าผู้ที่ทำงานหนักกว่า เพราะการที่ไม่ได้ทำงานเพียงพอจะรู้สึกกดดันมากพอกับการอยู่คนเดียว ทั้งผู้ชายและผู้หญิงที่ทำงานน้อยกว่าที่ตัวเองต้องการจะกระทบต่อความพึงพอใจในชีวิตเช่นเดียวกับ ผู้ที่ไม่ได้แต่งงานหรือมีคู่ชีวิต ดังนั้น การว่างงานจึงมีผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะสำหรับคุณผู้ชาย และการไม่มีงานทำเป็นเวลานานๆ ก็ส่งผลให้ระดับความสุขลดลงอย่างถาวร

          ทว่าผู้ที่เห็นอาชีพการงานสำคัญที่สุดกลับมีความพึงพอใจในชีวิต ต่ำกว่าคนที่เห็นครอบครัวมาเป็นอันดับหนึ่ง ขณะที่คนที่มีเป้าหมายทำประโยชน์แก่สังคมคือกลุ่มที่มีความสุขสูงสุด ด้านคนที่มีศรัทธาทางศาสนาก็มีความสุขมากกว่าคนที่ไร้ความเชื่อ

          บรูซ เฮดดี้ย์ หัวหน้าทีมวิจัยระบุว่า “เห็นได้ชัดว่าการตั้งเป้าหมายชีวิตหรือวัดระดับความสำเร็จจากปริมาณวัตถุที่ครอบครองนั้นเป็นสิ่งขัดขวางความสุข”

          อีกหนึ่งปัจจัยคือ สุขภาพอาสาสมัครที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ  มีความสุขมากกว่าคนชอบนั่ง ๆ  นอน ๆ แต่ผู้ชายที่น้ำหนักน้อยกว่าปกติมีความพึงพอใจต่ำกว่าคนที่น้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน ส่วนผู้หญิงที่น้ำหนักเกินมาตรฐานนั้นยังมีความสุขดี แต่ระดับความสุขของสตรีที่เข้าข่ายเป็น  โรคอ้วน กลับดิ่งเหว งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ว่า โรคอ้วนนั้นสร้างความทุกข์ให้กับผู้หญิงมากกว่าการไม่มีคู่เสียอีก

          อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์   ระหว่างปัจจัยข้างต้นกับความสุขนั้น ก่อให้เกิดการถกเถียงเหมือนกรณี ไข่กับไก่ เพราะฝ่ายหนึ่งเห็นว่า  ผู้ไร้สุขหรือซึมเศร้านั้นยากที่จะร่วมทำกิจกรรมกับคนอื่นหรือออกกำลังกายเป็นประจำ และผู้ที่อารมณ์ไม่คงเส้นคงวาก็มักเลือก คู่ครองที่มีนิสัยคล้ายกัน กล่าวคือ ชีวิตไม่มีความสุขอยู่แต่แรกแล้ว ไม่ใช่เพราะการเลือกใช้ชีวิตที่ทำให้ขาดแคลนความสุข

 

 

 

 

ที่มา:ประชาชาติธุรกิจ

update:14-10-53

อัพเดทเนื้อหาโดย:คีตฌาณ์ ลอยเลิศ

Shares:
QR Code :
QR Code