‘สุขสงกรานต์’ งดสุราหยุดคุกคามทางเพศ

ที่มา : หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย 


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


'สุขสงกรานต์' งดสุราหยุดคุกคามทางเพศ thaihealth


พม.จับมือสสส.-ภาคีเครือข่ายรณรงค์ 'สุขสงกรานต์' งดสุราหยุดคุกคามทางเพศ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันก่อนก.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) โดยนายไมตรี อินทุสุต ปลัด พม. แถลงข่าวรณรงค์ "สุขสงกรานต์ :งดสุรา หยุดคุกคามทางเพศ" ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กทม.และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ว่า เทศกาลสงกรานต์ ถือเป็นประเพณีการเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ของไทย เป็นเทศกาลที่สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทั้งในครอบครัว ชุมชน และสังคม เนื่องจากปัจจุบันเทศกาลสงกรานต์มีการเปลี่ยนแปลงไป มีพื้นที่มีการดื่มสุรา ไม่เคารพให้เกียรติ ล่วงเกินสตรี ส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น การทะเลาะวิวาท การคุกคามทางเพศ อุบัติเหตุทางถนน ทำให้เกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน และมักพบการลวนลามหรือคุกคามทางเพศจากผลการสำรวจเมื่อปี 2559 พบว่า สตรีร้อยละ 51.9 เคยถูกฉวยโอกาสคุกคามทางเพศในระหว่างการเล่นน้ำสงกรานต์


นายไมตรี กล่าวว่า หลายภาคส่วนมีความตระหนักและให้ความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว พม.โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) จึงร่วมกับหลายหน่วยงานและเครือข่ายดังกล่าว จัดโครงการฯ "สุขสงกรานต์ : งดสุรา หยุดคุกคามทางเพศ" มีกิจกรรม เช่น ในระดับประเทศให้ พมจ. ดำเนินการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ สร้างกระแส ยุติการคุกคามทางเพศ ตลอดช่วงเทศกาลสงกรานต์ และจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังรับแจ้งเหตุ ร่วมกับภาคีเครือข่ายองค์กรงดเหล้าประสานฝ่ายตำรวจและฝ่ายปกครอง รวมทั้งมอบหมายให้ศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 เป็นหน่วยรับแจ้งเหตุด้วย  ในกทม. ถือป้ายประชาสัมพันธ์ แจกสติกเกอร์ เพื่อสร้างกระแสการรับรู้ให้สังคมเกิดความตระหนัก ในวันที่ 11 เม.ย.  เวลา 11.00 น. บริเวณถนนข้าวสาร โดยมีจุดเริ่มที่หน้า สน.ชนะสงคราม หวังว่าจะช่วยทำให้การเล่นน้ำสงกรานต์มีความปลอดภัยต่อผู้หญิง เด็ก และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และสื่อถึงประเพณีวัฒนธรรมของสังคมไทย ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ


นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส.และภาคีเครือข่าย ได้รณรงค์กระตุ้นเตือนความปลอดภัยช่วงสงกรานต์อย่างต่อเนื่องมีพื้นที่โซนนิ่งเล่นน้ำปลอดภัยมากกว่า 10 ปี สอดรับนโยบายนายกรัฐมนตรีที่มุ่งไปสู่สงกรานต์ที่สร้างสรรค์ รักษาขนมธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันเปลี่ยนค่านิยม เช่น เล่นน้ำที่ไม่สร้างสรรค์ เกินเลย ฉวยโอกาส อนาจาร คุกคามทางเพศ ที่สำคัญคือมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอุบัติเหตุ


นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า มูลนิธิฯ ได้สำรวจทัศนคติผู้หญิงไทยต่อเทศกาลสงกรานต์เมื่อปี 2559 จากกลุ่มตัวอย่างผู้หญิง 1,793 ราย อายุระหว่าง 10-40 ปี พบว่า เกือบทั้งหมดหรือร้อยละ 85.9 เห็นว่า ไม่ควรฉวยโอกาสลวนลามในช่วงสงกรานต์และควรมีมาตรการควบคุมป้องกัน

Shares:
QR Code :
QR Code