สุขภาวะแบบองค์รวมในองค์กรยุคใหม่ สร้างได้ ด้วย Happy Workplace

เรื่องโดย : พงศ์ศุลี จีระวัฒนรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก : การประชุมเชิงปฏิบัติการ การสร้างเสริมสุขภาวะแบบองค์รวมในองค์กรยุคใหม่ : “องค์กรยุคใหม่ ใส่ใจสุขภาวะ”

ภาพโดย : ฐิติชญา สัมปุรณะพันธุ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

                    เนื่องจากบุคคลเป็นทรัพยากรที่มีค่าของทุกองค์กร ดังนั้นความสุขของคนในองค์กร จึงเป็นตัวแปรสำคัญและเป็นกำลังหลักต่อการแสดงศักยภาพ ไม่เพียงช่วยผลักดันสร้างเสริมองค์กรก้าวสู่การเติบโตได้อย่างเต็มที่เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงครอบครัว ชุมชน และสังคม ให้สามารถยืนอยู่บนพื้นฐานความสุขที่มีความสมดุลกับชีวิตอย่างแท้จริงเช่นกัน

                    ดังนั้น สุขภาพบุคลากรในองค์กร จึงไม่ใช่แค่เรื่องของบุคคล แต่ยังเกี่ยวข้องกับคุณภาพและประสิทธิภาพองค์กรอีกด้วย

                    Happy Workplace หรือ องค์กรแห่งความสุข เป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดี ให้กับบุคลากรในองค์กรอย่างมีเป้าหมาย ด้วยกระบวนการพัฒนา และใช้ยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และวัฒนธรรมขององค์กร ที่เอื้อต่อการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ นำองค์กรไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

                    ในเรื่องนี้ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้พัฒนาแนวคิด Happy Workplace ตั้งแต่ปี 2558 โดยร่วมกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าไทย ผลักดันการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตคนในองค์กรสู่การเป็นนโยบายสาธารณะอย่างเป็นรูปธรรมยั่งยืน ส่งผลให้มีกว่า 10,000 แห่ง ตระหนักต่อการสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร

 

                    แนวคิด Happy workplace ของ สสส. ดังกล่าว ม.ล.พัชรภากร เทวกุล ผู้อํานวยการสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กล่าวว่า ถือเป็นการออกแบบนโยบายสำหรับการทำงานและการใช้ชีวิตที่ผสมผสานกันเชิงบูรณาการแบบไร้รอยต่อ (Work – Life Integration) ตามความหมายของแต่ละกลุ่มคน (Customization) หรือรายบุคคล (Personalization) ด้วยความเข้าใจ ยืดหยุ่น ตามนิยามใหม่ The Future of workplace well-being ที่สอดรับกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ตอบโจทย์ในการพัฒนาองค์กรให้อยู่รอด ควบคู่ไปกับการสร้างความสุขของพนักงานไปพร้อมกัน

                    หากกล่าวจำเพาะถึงความสัมพันธ์การสร้างเสริมสุขภาวะแบบองค์รวมในกลุ่มองค์กรแห่งความสุข (Happy Workplace) ยุคใหม่ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า  ย่อมหนีไม่พ้นการคิดและหาทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการเกิดโรค NCDs (โรคไม่ติดต่อ) ไม่ให้เกิดขึ้นแก่บุคลากรขององค์กร

                    กล่าวถึงงานวิจัยระบุว่า จำนวนแรงงานกว่า 39 ล้านคน มากกว่าครึ่งเป็นแรงงานในระบบ เป็นโรคในกลุ่ม NCDs หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง นับเป็นภัยเงียบที่เกิดขึ้นจำนวนมากในปัจจุบัน และแนวโน้มตัวเลขยังคงเพิ่มสูงขึ้นในทุก ๆ ปี โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ป่วยคนไทยวัยแรงงานมักเสียชีวิตก่อนอายุ  60 ปี คิดเป็น 76% หรือเกือบ 4 แสนคนต่อปี  เป็นอันดับ 1  และครึ่งหนึ่งเป็นการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

                    หากคิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจของไทยถึง 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี หรือเทียบเท่ากับ 9.7% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม

                    สาเหตุใหญ่เนื่องมาจากนิสัยการดำเนินชีวิตอย่างไม่ระมัดระวัง เช่น จากการรับประทานอาหารรสจัด ทั้ง หวานจัด มันจัด เค็มจัด การไม่ออกกำลังกาย นอนดึก รวมไปถึงปัญหาความเครียด

                    สสส. สานพลังภาคี สมาคมนักสร้างสุขภาวะองค์กร และภาคีเครือข่ายองค์กรสุขภาวะ กว่า 80 องค์กร จึงคิดค้นวัตกรรมที่เรียกว่า นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะของ สสส. Happy Workplace และนำชุดความรู้ สื่อ และเครื่องมือเข้าเสริมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ ปรับทัศนคติ เปลี่ยนพฤติกรรมคนในองค์กร ลดเสี่ยง NCDs   ด้วยการส่งเสริมการมีวิถีชีวิตครอบคลุมรู้เท่าทันภัยทางสุขภาพที่สำคัญ อาทิ

                    เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ สุขภาพจิต มลพิษทางสิ่งแวดล้อม อาหาร กิจกรรมทางกาย อุบัติเหตุ รวมไปถึงปัญหาความเครียด สุขภาวะทางปัญญา  

                    ดังนั้น การหาทางเร่งป้องกันการเกิดโรค NCDs ในทุกช่วงวัย ของ สสส. โดยเฉพาะกลุ่มวัยแรงงาน สอดคล้องกับเป้าหมายของสหประชาชาติ ที่มุ่งลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรค NCDs ลง 1 ใน 3 ภายในปี 2573 อีกด้วย

                    ด้าน ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า “โรค NCDs ส่วนหนึ่งมาจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ที่ต้องใช้เวลา 10-20 ปี จึงจะปรากฏอาการ หลังจากมีพฤติกรรมเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อาทิ บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ มีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ รับประทานอาหารที่ไม่ถูกหลักตามโภชนาการ สัมผัสมลพิษทางอากาศ ดังนั้นการประชุมเชิงปฏิบัติการการสร้างเสริมสุขภาวะแบบองค์รวมในองค์กรยุคใหม่ “องค์กรยุคใหม่ ใส่ใจสุขภาวะ” (Future of Work on Wellbeing)  เท่ากับเป็นจุดเริ่มต้นของการยกระดับเครือข่ายองค์กรสุขภาวะ โดยยึดแนวคิด Happy Workplace หนึ่งในนวัตกรรมของ สสส. ที่ใช้สร้างเสริมสุขภาวะแบบองค์รวมในองค์กรยุคใหม่ สามารถปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของบุคลากร ในองค์กรเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากโรค NCDs ในระยะยาว”

                    สสส. และภาคีเครือข่ายมีความเชื่อมั่นว่าการผลักดัน แนวคิด Happy Workplace ให้เกิดขึ้นในทุกองค์กร จะสร้างความมั่นคงภายในองค์กร พร้อมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้นได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

ดังนั้น การสร้างสุขในการทำงานองค์กร ประกอบด้วย 8 เทคนิคง่าย ๆ ดังนี้  

  1. Happy Body (สุขภาพดี) สุขภาพแข็งแรงทั้งกายและจิตใจ
  2. Happy Heart (น้ำใจงาม) มีน้ำใจเอื้ออาทรต่อกันและกัน
  3. Happy Society (สังคมดี) มีความรักสามัคคีเอื้อเฟื้อต่อชุมชนที่ตนทำงานและพักอาศัย
  4. Happy Relax (ผ่อนคลาย) รู้จักผ่อนคลายต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัว
  5. Happy Brain (หาความรู้) มีการศึกษาหาความรู้พัฒนาตนเองตลอดเวลาจากแหล่งต่าง ๆ
  6. Happy Soul (ทางสงบ) มีความศรัทธาในศาสนาและมีศีลธรรมในการดำเนินชีวิต
  7. Happy Money (ปลอดหนี้) มีเงิน รู้จักเก็บ รู้จักใช้ ไม่เป็นหนี้ ใช้จ่ายแต่เท่าที่จำเป็น ยึดหลัก คำสอนการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง
  8. Happy Family (ครอบครัวดี) มีครอบครัวที่อบอุ่นและมั่นคง
Shares:
QR Code :
QR Code