สุขภาวะเด็ก คือ ฐานทุนสุขภาพตลอดช่วงชีวิต และ “สร้าง” นำ “ซ่อม” ที่แท้จริงต้องเริ่มที่วัยเด็ก
เนื่องในวันที่ 20 กันยายนของทุกปี เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ เพื่อฉายภาพการทำงานและบทบาทของ สสส.ด้านเด็กและเยาวชนให้ชัดเจนขึ้น Exclusive Interview by สสส. ชวนมาร่วมพูดคุย กับ “พี่ผึ้ง ณัฐยา บุญภักดี” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. หนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนงานสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชน โดยร่วมทำงานกับภาคีเครือข่ายด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว เพื่อมุ่งเป้าหมายในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะและทักษะจำเป็นในศตวรรษที่ 21 ของเด็กๆ
ก่อนจะพูดคุย เราอยากให้แฟนตัวยงของ สสส. รู้จัก “พี่ผึ้ง” เพิ่มมากขึ้น โดยก่อนที่พี่ผึ้งจะมาสวมหมวกในฐานะ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว หรือ สำนัก 4 แห่ง สสส. พี่ผึ้งทำงานขับเคลื่อนประเด็นเรื่องสุขภาวะทางเพศ ความเสมอภาคระหว่างเพศ สิทธิทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์รวมถึงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งท้องที่ไม่พร้อม การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โดยมีประสบการณ์ทำงานด้านสังคมกว่า 20 ปี และได้รับเลือกเป็นอโชก้าเฟลโลว์ด้านสุขภาพ เมื่อปี 2555 และเมื่อเข้ามาทำงานที่ สสส. ก็มีความสนใจเรื่องการพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นที่มีความท้าทายอย่างมาก
0-6 ปี คือโอกาสทองของการพัฒนาทุนมนุษย์
พี่ผึ้ง เริ่มต้นฉายภาพให้เห็นถึงความสำคัญของงานด้านเด็กและเยาวชนของ สสส. ว่า สสส.หนุนเสริมทุกช่วงวัยให้มีสุขภาวะ โดยให้ความสำคัญกับวัยเด็กในแง่ของการบ่มเพาะทุนชีวิต สร้างสุขนิสัย ส่งเสริมการมีสุขภาวะดี เพราะยิ่งเด็กเล็กมากยิ่งสร้างได้ง่าย และติดตัวจนเป็นผู้ใหญ่ ง่ายกว่าที่จะเปลี่ยน หรือปรับแก้พฤติกรรมเมื่อโตแล้ว เนื่องจากตั้งแต่อยู่ในท้องจนถึง 6 ปี เป็นช่วงเวลาที่เด็กพัฒนาอย่างรวดเร็วทั้งเรื่องสมอง การเคลื่อนไหว การใช้ภาษา รวมถึงทักษะทางอารมณ์และสังคม ถือเป็นโอกาสทองของการสร้างรากฐานเพื่อการเรียนรู้และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาวะและมีศักยภาพ
ถ้าเราอยากได้เด็กที่เติบโตเป็นคนที่บริหารจัดการตัวเองได้เมื่อเจอปัญหาหรือสถานการณ์ใหม่ที่ไม่คุ้นเคย เช่น เมื่อเปลี่ยนโรงเรียน เปลี่ยนที่ทำงานใหม่ มีเพื่อนใหม่ เรียนรู้สิ่งใหม่ เมื่อเริ่มทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน เมื่อเจอปัญหาที่ไม่คาดคิด เมื่อสิ่งที่ทำไม่เป็นไปตามที่คาดหมาย เมื่อต้องอดทนต่อสิ่งยั่วยุเพื่อทำงานให้สำเร็จ เด็กที่สามารถอดทนอดกลั้น มีวินัย กำกับความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมของตัวเองได้ดี ในช่วงโอกาสทองนี้ เราต้องรู้วิธีพัฒนาทักษะสมองด้านการคิดเชิงบริหารจัดการชีวิต (Brain Executive Functions – EF) แล้วเราจะได้เด็กที่พร้อมเติบโตเป็นคนที่เลือกใช้ชีวิตแบบมีสุขภาวะได้ด้วยตัวเอง
“วัยเด็กคือวัยที่เหมาะที่สุดในการสร้างรากฐานชีวิตที่มีสุขภาวะ หากจะทำงานสร้างเสริมสุขภาวะให้สำเร็จ คำว่า “สร้างนำซ่อม” ที่แท้จริงคือการสร้างรากฐานสุขภาวะในช่วงวัยนี้” พี่ผึ้งย้ำ
ในการดำเนินงานของ สสส. เกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ได้ให้ความสำคัญแก่กลุ่มเด็ก เยาวชน และครอบครัวเป็นพิเศษ เพราะถือว่าเป็นจุดศูนย์กลางของการพัฒนาคนและสังคม โดยในยุคแรกได้กำหนดเป็นนโยบายให้ทุกแผนของ สสส. ให้ความสำคัญแก่กลุ่มเป้าหมายนี้ และต่อมาในปี 2552 ได้จัดให้มีแผนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว ขึ้นมาเป็นการเฉพาะเพื่อขับเคลื่อนให้มีโฟกัสมากยิ่งขึ้น
ลงทุนกับ “เด็ก” คุ้มค่าที่สุด
สำหรับช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน สสส. ปรับเน้นงานด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัวเป็นแผนหลัก 1 ใน 15 แผน ซึ่งผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. มองว่า แนวทางจากนี้ต้องเข้มข้นขึ้น โดยโฟกัสที่ “เด็กปฐมวัย”
เนื่องจากการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคม (Social Return on Investment) ของโครงการด้านเด็กปฐมวัยที่ สสส. สนับสนุนนั้น พบอย่างชัดเจนว่ามีความคุ้มค่าสูงโดยการลงทุนแต่ละบาทได้รับผลตอบแทนกลับมาถึง 7 บาท ผลประโยชน์ของการลงทุนประมาณร้อยละ 55 ตกอยู่กับเด็กและเยาวชน โดยผู้ปกครองและชุมชนได้รับประโยชน์ประมาณร้อยละ 16
“เมื่อเด็กมีพัฒนาการดี จะเป็นฐานสำคัญในการที่จะต่อยอดการเรียนรู้ในอนาคต การมีสุขภาวะที่ดี มีร่างกาย จิตใจที่พร้อมเจริญเติบโต มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ กำกับอารมณ์และพฤติกรรมตัวเองได้ แยกแยะเป็น สร้างสรรค์และสามารถผลักดันตนเองไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้”
จุดคานงัดเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
ด้วยงบประมาณที่มีจำกัดเพราะไม่ใช่หน่วยงานหลัก ทำให้พี่ผึ้งมองบทบาทของ สสส. ว่าเป็น ผู้หนุนเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาวะของเด็ก มากกว่าจะทำงานตรงไปที่ตัวเด็กแต่ละคน แต่แน่นอนว่าต้องสามารถวัดความสำเร็จที่พัฒนาการและสุขภาวะของเด็กได้อย่างชัดเจน โดย สสส.จะทำหน้าที่ในการเชิญชวนทุกภาคส่วนมาร่วมกันเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นอุปสรรค รวมถึงการสร้างเงื่อนไขเชิงบวก เช่น มีนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว เพื่อให้สังคมไทยเป็นระบบนิเวศที่เหมาะสมแก่การพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กอย่างแท้จริง
“สสส.ไม่มีคำตอบสำเร็จรูปและไม่ใช่องค์กรที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขใหญ่ๆ ของประเทศได้ด้วยตัวเอง แต่สิ่งสำคัญคือต้อง “อ่านให้ออก”ว่าเรื่องนั้นๆ เกี่ยวข้องกับภาคส่วนไหน อย่างไร แล้วทำงานเชิงรุกในการก้าวออกไปเชื้อเชิญภาคีสำคัญให้มาร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดี” พี่ผึ้งตอกย้ำวิธีการทำงาน
เตรียมพร้อมทักษะจำเป็นสำหรับเด็กในศตวรรษที่ 21
สำหรับเป้าหมายของการทำงานด้านเด็กและเยาวชน พี่ผึ้ง บอกว่า ทักษะชีวิตที่สำคัญมากในการเผชิญโลกอันผันผวน คือ ต้องมีความยืดหยุ่นปรับตัวได้เร็ว เจอปัญหาล้มลงแล้วลุกได้ไว เพราะโลกจากนี้ไปจะต้องเผชิญปัญหาในหลายๆ ทิศทางแบบไม่คาดฝันอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้น เด็กรุ่นใหม่ที่จะอยู่ท่ามกลางสังคมเช่นนี้ ต้องมีความเข้มแข็ง มั่นคงข้างในตัวเอง มีทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ความยืดหยุ่น ปรับตัว เปิดกว้างพร้อมร่วมมือกับคนอื่น ทั้งหมดนี้เป็นทักษะจำเป็นในยุคสมัยปัจจุบัน เราต้องเตรียมเด็กให้มีคุณลักษณะเหล่านี้
"งานสร้างเสริมสุขภาวะเด็กก็เหมือนกับการเพาะต้นกล้า เด็กเป็นเมล็ดพันธุ์ที่มีพลัง สามารถดันเปลือกแข็งของเมล็ดให้แตกและงอกเป็นต้นกล้าได้ แต่เขาต้องการดิน ปุ๋ย สภาพแวดล้อมเหมาะสม อุดมสมบูรณ์ ที่จะเจริญเติบโตและพัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ”
ดังนั้น โครงการหรือแนวทางที่ สสส.จะสนับสนุน ในการพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชน จะแบ่งเป็น 2 แนวทางคู่ขนานกัน ได้แก่ 1. โครงการเชิงปฏิบัติการที่มุ่งไปที่เด็ก ครอบครัว และชุมชนโดยตรง โดยจะต้องเป็นโครงการที่สร้างแนวทางใหม่เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูเด็ก ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว โรงเรียน ชุมชน มีศักยภาพในการเลี้ยงดูแบบส่งเสริมพัฒนาการและสุขภาวะ โครงการต้องไปให้ถึงคำว่า “เลี้ยงเด็กหนึ่งคนใช้คนทั้งหมู่บ้าน” เพื่อให้เด็กทุกคนเป็นเด็กที่มีความสุขและได้รับการพัฒนาให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 โดยทำให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้วให้เปิดเป็นความรู้สาธารณะที่ทุกคนเข้ามาเรียนรู้และนำไปปรับใช้ และ 2. โครงการที่สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างสังคม เช่น การพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับครอบครัวรูปแบบต่างๆเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของครอบครัว การพัฒนาแนวนโยบายใหม่ๆที่เป็นมิตรต่อเด็กและครอบครัว เป็นต้น
สสส. องค์กรที่มีความยืดหยุ่นสูง
และการที่ พี่ผึ้ง ผ่านประสบการณ์การทำงานด้านเด็กและเยาวชนในองค์กรที่หลากหลายรูปแบบทั้งองค์กรขนาดเล็กที่เน้นทำงานลงพื้นที่ถึงกลุ่มเป้าหมาย การทำวิจัยค้นหาคำตอบใหม่ๆ เพื่อนำไปผลักดันนโยบายที่เป็นรูปธรรม ไปจนถึงงานในองค์กรระหว่างประเทศที่เน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ จนมาถึงการทำงานที่องค์กรแบบ สสส. ทำให้เห็นถึงรูปแบบการทำงานที่หลากหลาย และพบว่า สสส.เป็นองค์กรที่ถูกออกแบบให้ทำงานในลักษณะที่มีความยืดหยุ่นสูง สามารถเป็นกาว แพลตฟอร์ม ชานชาลา โอเพ่นสเปซ ลานวัด ศาลาประชาคม ที่เชิญชวนคนเข้ามาร่วมมือกันและริเริ่มลงมือทำสิ่งใหม่ที่แก้ปัญหาเดิมๆ ได้ ถือเป็นจุดแข็งของ สสส. เพื่อให้ทำงานร่วมไปกับภาคส่วนต่างๆ ของประเทศ และสามารถร่วมกันส่งมอบผลงานที่ตอบโจทย์ชีวิตคนมากขึ้น เหมาะแก่การทำเรื่องที่ยากและซับซ้อนซึ่งต้องการความร่วมมือจากหลายฝ่าย การออกแบบองค์กรแบบ สสส. จะช่วยเอื้อให้เกิดการสานและเสริมพลัง(Collective Impact)
“สิ่งที่จะต้องสร้างความเข้าใจกับสังคม คือ การให้ทุนเป็นเพียงหนึ่งในวิธีทำงานของ สสส. สสส.ยังมีการทำงานอีกหลายรูปแบบ เป็นภาคี เป็นพาร์ทเนอร์ เป็นเครือข่าย เพื่อดึงพลังหรือจุดแข็งของทุกฝ่ายมาช่วยกันทำเรื่องยากๆ ให้สำเร็จ”
ต้องฟังเด็กให้เป็น และต้องฟังให้มากขึ้น
สำหรับสถานการณ์เด็กและเยาวชนในปัจจุบัน พี่ผึ้งมองว่าเด็กต้องเผชิญกับการแข่งขันค่อนข้างสูงโดยเฉพาะด้านการศึกษา ผู้ปกครองเองก็เจอกับความบีบคั้นในการทำมาหากิน ถ้าอยากได้การศึกษาที่ดีมีคุณภาพ หรืออยากได้งานที่ดีที่ช่วยฉุดชีวิตความเป็นอยู่ก็ต้องมุ่งหน้าเข้าสู่เมืองใหญ่ บางชุมชนมีมากกว่า 60 %ที่เด็กเติบโตโดยไม่ได้อยู่ร่วมบ้านกับพ่อแม่ ครอบครัวไม่อาจเป็นฐานของชีวิตที่ผาสุข ความเหลื่อมล้ำมีสูงและมีมากขึ้น ผู้คนสะสมความไม่พอใจต่อสภาพสังคมที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาอย่างเสมอภาค ยากที่จะส่งเสริมสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดี จึงจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันสร้างเงื่อนไขเชิงโครงสร้างสังคมเพื่อเอื้อโอกาสให้เด็กได้รับความคุ้มครองดูแลและส่งเสริมให้พัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ
ท้ายที่สุดในโอกาสวันเยาวชนแห่งชาติปี 2563 พี่ผึ้ง ฝากว่า ขอให้ผู้ใหญ่ฟังเด็กให้มากขึ้น และฟังด้วยหัวใจ ด้วยความจริงใจ และด้วยความเคารพว่านี่คือเสียงจากมนุษย์คนหนึ่งที่รู้ร้อนรู้หนาว เพราะเราล้วนเชื่อว่าเด็กทุกคนมีคุณค่าและมีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองและสังคมหากได้รับโอกาส