สุขภาวะเด็กปฐมวัย..คุณภาพที่สร้างได้
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
การอบรมเลี้ยงดูในระยะปฐมวัยจะมีผลต่อการพัฒนาศักยภาพของเด็กในอนาคต ดังนั้นการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์อย่างคุ้มค่าที่สุดจึงต้องเริ่มต้นตั้งแต่วัยเด็ก
เนื่องจากการพัฒนาที่ถูกต้องและไม่ล่าช้าจะช่วยให้เด็กมีทักษะทางกายภาพ ความฉลาดทางสติปัญญา และความมั่นคงทางอารมณ์ นำไปสู่การเติบโตเป็นประชากรที่ดีมีคุณภาพ ประสบความสำเร็จในการศึกษาและอาชีพการงาน เป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติต่อไปในอนาคต
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุมวิชาการ "สานพลังร่วมสร้างสุขภาวะเด็กปฐมวัย: ขยายผลสู่การขับเคลื่อนระบบและกลไกระดับจังหวัด" ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ขึ้น โดยมีองค์กรภาครัฐ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิชาการ ครู อาจารย์ ผู้ปกครองและผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 1,000 คน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ เครือข่ายที่ทำงานเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย สู่การผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนระบบและกลไกการทำงานเพื่อเด็กปฐมวัยระดับจังหวัดที่เป็นรูปธรรม
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ช่วงปฐมวัย หรือ 6 ปีแรกของชีวิต เป็นช่วงโอกาสทองในการพัฒนาของเด็ก เพราะเป็นช่วงที่สมองพัฒนาถึง 80% จึงเป็นโอกาสสำคัญในการจัดการเรียนรู้และเสริมสร้างพัฒนาการให้เหมาะสมกับวัย อย่างไรก็ตามยังมีเด็กปฐมวัยอีก 12% ที่ขาดโอกาสในการเตรียมความพร้อม ซึ่งจากข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2555 พบว่ามีเด็กจำนวน 365,506 คน จากจำนวนเด็กช่วงอายุ 0-5 ปี 4,585,759 คน หรือคิดเป็น 12% ของเด็กในช่วงอายุ 2-5 ปีที่ไม่ได้รับโอกาสในการเข้าเรียนในศูนย์เด็กเล็กหรือโรงเรียนอนุบาลเพื่อเตรียมความพร้อมในช่วงปฐมวัย นอกจากนี้ยังพบ 1 ใน 5 ของเด็กปฐมวัยมีพัฒนาการล่าช้า จากการตรวจคัดกรองพัฒนาการเด็กอายุ 3.5 ปีทั่วประเทศ โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
"การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิตเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ได้มีมติให้คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับจังหวัด ภายในปี 2559 กลไกการทำงานของจังหวัดจึงเป็นรูปแบบการทำงานที่น่าสนใจที่ท้องถิ่นลุกขึ้นเป็นเจ้าของรับผิดชอบและดูแลลูกหลานของเขาเอง สสส.ในฐานะองค์กรที่มุ่งสร้างเสริมสุขภาพของคนไทย ด้วยการพัฒนาองค์ความรู้เชิงระบบและเครือข่ายการทำงาน จึงสนับสนุนตัวอย่างกลไกเด็กปฐมวัยในระดับจังหวัด เพื่อให้เกิดรูปธรรมในการทำงานที่เชื่อมโยงกันระหว่างพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สาธารณสุข ท้องถิ่น และกรรมการศึกษาธิการจังหวัด เวทีแลกเปลี่ยนในครั้งนี้จึงเป็นการนำองค์ความรู้จากการทำงานเพื่อสร้างเครือข่ายให้เกิดกลไกระดับจังหวัดทั้ง 23 จังหวัด ได้แก่ ลำพูน น่าน เชียงราย สุโขทัย เชียงใหม่ ลำปาง พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี นครนายก นครปฐม จันทบุรี มหาสารคาม อุดรธานี นครราชสีมา อุบลราชธานี หนองบัวลำภู ภูเก็ต สงขลา พัทลุง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสตูล ที่กระจายทุกภูมิภาคของประเทศ รวมถึงการจัดทำข้อเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติด้าน เด็กปฐมวัยและแผนปฏิบัติการพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับจังหวัด" ผู้จัดการสสส.เผย
โดยการมีนโยบายให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับจังหวัด เพื่อกำหนดนโยบายติดตามผลการทำงานสนับสนุนความรู้และทรัพยากรในการพัฒนาเด็กปฐมวัย ถือเป็นโอกาสที่ดีในการปิดช่องว่างและทำให้เกิดการเชื่อมโยงการทำงานในระดับจังหวัด ซึ่งจากการศึกษาพบว่ากลไกของจังหวัดควรมีองค์ประกอบสำคัญใน 6 ระบบ โดยแบ่งเป็น ระบบสนับสนุน 3 ระบบ ได้แก่ 1.การบริหารจัดการ 2.สารสนเทศ 3.การมีส่วนร่วมของภาคีและเครือข่าย ระบบหลัก 3 ระบบ ได้แก่ 1.การจัดทำแผนการพัฒนาเด็กปฐมวัย 2.ฐานข้อมูล 3.การพัฒนาเด็กปฐมวัยในระดับพื้นที่ ทั้งนี้ระบบฐานข้อมูลคือหัวใจในการนำมาวิเคราะห์ นโยบาย วิสัยทัศน์ ซึ่งเป็นข้อมูลที่แสดงให้เห็นสถานการณ์เด็กจากข้อมูลที่เป็นจริงสอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ขณะเดียวกัน ปัญหาพฤติกรรมในเด็กปฐมวัยก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาที่เหมาะสมอย่างรอบด้านตามวัย โดย ดร.สุภาภัค เภตราสุวรรณ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า ปัญหาด้านพฤติกรรมที่พบบ่อยในเด็กเล็กก็คือ ภาวะออทิซึม ร้องอาละวาด ซนอยู่ไม่นิ่ง ดื้อต่อต้าน และเกเรก้าวร้าว เนื่องจากเด็กวัยนี้ยังเป็นวัยที่พัฒนาการทางอารมณ์ สังคม จะยึดตนเองเป็นหลัก ขาดการควบคุมอารมณ์ตนเอง หรือเด็กบางคนมีพื้นเพทางอารมณ์ที่เป็นเด็กเลี้ยงยาก ปรับตัวยาก จึงเกิดความคับข้องใจและแสดงออกโดยการอาละวาดได้บ่อย
การเลี้ยงดูจึงมีบทบาทสำคัญมากต่อการป้องกันและการแก้ไขพฤติกรรมที่ก้าวร้าว ไม่ว่าจากสาเหตุใดก็ตาม โดยผู้ใกล้ชิดเด็กไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ พี่เลี้ยง หรือคุณครู ที่เผชิญกับปัญหานี้ต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ อย่าก้าวร้าวตอบ ถือเสียว่าเป็นโอกาสที่เราจะได้สอนเขา รอจนสงบแล้วจึงเข้าไปพูดคุย เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กพูดสื่อความต้องการ ไม่ควรใช้วิธีตีหรือลงโทษ หรือตามใจเพื่อหยุดพฤติกรรมเด็ก เมื่อเด็กสงบแล้วจึงช่วยให้เด็กหาวิธีการที่เหมาะสมในการแสดงออก แต่หากยังไม่สามารถปรับพฤติกรรมได้ควรพาเด็กไปพบจิตแพทย์ เพื่อให้แนวทางในการดูแลอย่างเหมาะสม.