“สุขภาวะทางปัญญาและใจ” คือต้นทางมีสุขภาพกายดียั่งยืน

ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง


“สุขภาวะทางปัญญาและใจ” คือต้นทางมีสุขภาพกายดียั่งยืน thaihealth


แฟ้มภาพ


สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ธนาคารจิตอาสา และความสุขประเทศไทย จัดงาน ‘ปีใหม่เป็นคนใหม่ ปรับใจให้กายดี’ แถลงผลงานวิจัยโดยอาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนักจิตวิทยาจาก JAI Center พบผลวิจัยครั้งแรกในประเทศไทย ที่ยืนยันว่าการมีสุขภาวะทางปัญญา ส่งผลให้เกิดการเพิ่มกิจกรรมทางกายโดยมีปัจจัยทางจิตวิทยาเป็นตัวแปรส่งผ่าน เกิดองค์ความรู้ใหม่ในวงการสุขภาพ นำไปประยุกต์ใช้สู่การสร้างพฤติกรรมออกกำลังกายที่ยั่งยืน


ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. กล่าวถึงที่มาและความสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดการศึกษาวิจัยครั้งนี้ว่า “สุขภาพหรือสุขภาวะในมิติของการสร้างเสริมสุขภาพในบริบทของสังคมไทย ประกอบด้วยสุขภาวะ 4 มิติหลัก ได้แก่ สุขภาวะทางกาย สุขภาวะทางจิต สุขภาวะทางสังคม และ สุขภาวะทางปัญญา โดยการมีสุขภาวะทางปัญญา คือการที่มนุษย์มีศักยภาพและได้เติบโตงอกงามจากการพัฒนาด้านในอย่างลึกซึ้งและเกิดปัญญาในเข้าใจธรรมชาติของชีวิต อันนำไปสู่ชีวิตที่ดีงามและสมบูรณ์ หากกล่าวในภาพกว้าง คำว่า ‘ปัญญา’ที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ หมายความว่า ‘ความรู้ทั่ว รู้เท่าทันและความเข้าใจอย่างแยกได้ในเหตุผลแห่งความดีความชั่ว ความมีประโยชน์และความมีโทษ ซึ่งนำไปสู่ความมีจิตอันดีงามและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่’ โดยในเชิงปฏิบัติสุขภาวะทางปัญญาเป็นปัจจัยที่เชื่อมโยงซึ่งกันและกันกับสุขภาวะมิติอื่นๆแบบองค์รวมโดยไม่ได้แยกขาดจากกันเพื่อนำไปสู่การมีชีวิตที่มีสุขภาวะ ทั้งนี้ผลของงานวิจัยนี้ได้สนับสนุนแนวคิดดังกล่าว”


“หนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของ สสส. คือการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อเป็นรากฐานในการขับเคลื่อนงาน โดยต่อยอดสู่การกำหนดเป้าหมายและการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์อันจะนำไปสู่การทำงานอย่างเป็นรูปธรรมและสัมฤทธิ์ผล วันนี้งานวิจัยที่ออกมานับเป็นก้าวสำคัญในการยืนยันถึงความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาวะทางปัญญาและพฤติกรรมการเพิ่มกิจกรรมทางกาย ทำให้เราได้เห็นว่า สุขภาวะทางปัญญาคือรากฐานสำคัญในการพัฒนาสุขภาวะในด้านอื่นๆ อย่างแท้จริง ผลวิจัยนี้เปรียบเสมือนการวางอิฐก้อนแรกไปสู่การวางรากฐานทางวิชาการด้านสุขภาวะทางปัญญาและการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งจะมีประโยชน์มากหากมีการต่อยอดงานวิจัยโดยการนำไปประยุกต์ใช้ในการเคลื่อนงานและพิสูจน์ให้เห็นหลักฐานเชิงประจักษ์


ภายในงาน ยังมีการเรียนรู้เรื่องสุขภาวะทางปัญญา การแบ่งปันประสบการณ์และเรื่องราวบันดาลใจจากแขกรับเชิญ อาทิ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส., โอ – อนุชิต สพันธุ์พงษ์ นักแสดงหนุ่มมากฝีมือ ที่ปัจจุบันเป็นหนึ่งในผู้ที่หันมาให้ความสำคัญกับการวิ่ง เป็นไอดอลสร้างแรงบันดาลใจให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ออกมาวิ่งเป็นจำนวนมาก, ออย – ยุวดี พันธ์นิคม หญิงแกร่งที่แม้จะต้องตัดปอดและขาไป 1 ข้าง แต่เธอก็สามารถใช้พลังใจก้าวข้ามผ่านขีดจำกัด วิ่ง 10 กิโลเมตรแรกของชีวิตได้สำเร็จ


 

Shares:
QR Code :
QR Code