สุขภาพพระสงฆ์องค์กรสร้างสุขช่วยได้
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากสงฆ์ไทยไกลโรค
แฟ้มภาพ
"ครัวต้นแบบ สงฆ์โภชนาการดี" หนุนกิจกรรมทำบุญใส่บาตรของพนักงาน หันมาให้ความสำคัญและเอาใจใส่เรื่องคุณภาพอาหารที่นำมาถวายพระ ช่วยทำให้สุขภาพของพระสงฆ์ไทยไกลโรค
สัปดาห์ก่อน ผู้เขียนได้ทราบถึงความพยายามของ คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการผลักดันและขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพที่ดีให้กับพระสงฆ์ ฉบับนี้ขอให้พื้นที่ กับโครงการ "ครัวต้นแบบ สงฆ์โภชนาการดี" ด้วยตั้งใจที่จะมีส่วนร่วมใน การกระตุ้นให้คนในสังคม หันมามาให้ความสนใจและมีส่วนร่วมในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งหากในหลายๆ องค์กร ที่มีกิจกรรมสร้างสุข มีการส่งเสริม สนับสนุนกิจกรรมทำบุญใส่บาตรของพนักงานอยู่แล้ว ได้หันมาให้ความสำคัญ เอาใจใส่ในเรื่องคุณภาพอาหารที่นำมา ถวายพระ หรือใส่บาตร ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า เราจะสามารถช่วยทำให้สุขภาพของพระสงฆ์ไทยดีขึ้นได้
ทั้งนี้ รศ.ดร.จงจิตร อังคทะวานิช หัวหน้าโครงการครัวต้นแบบ สงฆ์โภชนาการดี เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ปัญหาเรื่องโภชนาการและ โรคเรื้อรังในพระสงฆ์นั้นเป็นประเด็นสุขภาพที่ได้รับความสนใจจาก สสส. ในการให้การสนับสนุนโครงการสงฆ์ไทยไกลโรคมาตั้งแต่ ปี 2554 ทางคณะฯ จึงได้มีการศึกษาปัญหาและพัฒนาวิธีการดูแลภาวะโภชนาการแก่พระสงฆ์อย่างยั่งยืน
โดยจากการสำรวจค่ารักษาพยาบาลของพระสงฆ์ในโรงพยาบาลสงฆ์ และโรงพยาบาลของรัฐ พบว่า มีค่าใช้จ่ายสูงถึงปีละ 300 ล้านบาท ซึ่งทางโครงการได้ดำเนินการในระยะเวลา 5 ปี ในการศึกษาปัญหาภาวะโภชนาการในพระสงฆ์อย่างลึกซึ้งทั้งวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ จนได้ผลจากการศึกษาพบว่า พระสงฆ์มีโรคอ้วน 48% โรคเบาหวาน 10.4% โรคคอเลสเตอรอลสูง 42% และโรคความดันโลหิตสูงอีก 23% โดยหากเปรียบเทียบพระสงฆ์กับชายไทย พบว่า พระสงฆ์อ้วนมากกว่า คือแซงหน้าชายไทยถึง 49% และ มีโรคเบาหวาน มากกว่า ชายในกรุงเทพฯ
ทั้งนี้จากผลการวิจัยพบว่า "รอบเอว" เป็นสิ่งที่จะบ่งชี้ปัญหาสุขภาพของพระสงฆ์ได้ โดยสรุปว่า เอวขยาย สุขภาพสลาย "ถ้ารอบเอวเพิ่มขึ้น น้ำตาลในเลือด ไขมัน ความดัน และ กรดยูริก ก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย กลายเป็นการเพิ่มขึ้นอย่าง สอดคล้องกัน ระวังรอบเอวก็เท่ากับระวังโรคเรื้อรัง" รศ.ดร.จงจิตร บอก
จากผลการวิจัยยังพบปัจจัยสำคัญ 4 ประการ ในการดูแลสุขภาพของพระสงฆ์ ได้แก่ "โภชนา ปานะ กายะ กิจกรรม" ซึ่งการจะให้ได้ผลดีนั้นควรทำทั้ง 4 เรื่องนี้ไปพร้อมกัน นั่นคือ อาหาร เครื่องดื่ม การระวังรอบเอว และการออกกำลังกาย
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้คนในสังคมได้ตื่นตัวและหันมาดูแลสุขภาพของพระสงฆ์มากขึ้น และให้เกิดผลอย่างยั่งยืน อาจารย์จงจิตร จึงได้ทำโครงการ "ครัวต้นแบบ สงฆ์โภชนาดี" โดยจะมีการนำร่อง ครัวต้นแบบ ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.) ซึ่งหลังจากเริ่มกิจกรรมการอบรมแม่ครัว พระสงฆ์และเจ้าหน้าที่ ผู้เกี่ยวข้องด้านการจัดโภชนาการของ มจร. แล้ว พบความเปลี่ยนแปลงที่ดีมากกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งยังพบว่า ฝ่ายโภชนาการ มจร. มีศักยภาพสูงในการพัฒนาเป็นครัวต้นแบบ ดังคำบอกเล่าของอาจารย์ที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างมากว่า
"ผลการทดลองใช้สื่อสงฆ์ไทยไกลโรคกับพระสงฆ์ในกรุงเทพฯ เป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่า พระสงฆ์มีน้ำหนักลด 1กิโลกรัม รอบเอวลด 1.4 ซม. กลุ่มที่กำลังจะเกิดเบาหวานมีจำนวนลดลง 9.3% ไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดลดลง 48 มิลลิกรัม % ไขมันไตรกลีเซอไรด์ลดลง 30 มิลลิกรัม % และความดันโลหิตลดลง 3.7 มิลลิเมตรปรอท พระสงฆ์ฉันอาหารโปรตีนเพิ่มขึ้น 13 กรัม/วัน ใยอาหารเพิ่มขึ้น 4.3 กรัม/วัน ฉันผักเพิ่มขึ้น วันละ 1 ทัพพี ทานกะทิลดลงวันละ 2 ช้อนโต๊ะ ได้รับแคลเซียมเพิ่มขึ้น วันละ 155 มิลลิกรัม และ ออกกำลังเพิ่มขึ้น อีกวันละ 50 นาที"
อาจารย์จงจิตร เรียกการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบลูกระนาดและให้ผลดีหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ทำให้มีกำลังใจที่จะทำต่อเนื่องไป
"ตอนนี้เราพัฒนาสื่อและขยายผลไปยังพระและฆราวาสทั้ง 4 ภูมิภาค ผ่านองค์กรพยาบาล โดยความร่วมมือกับสภาการพยาบาลแห่งประเทศไทย โดยใช้เวลาทดสอบประสิทธิภาพสื่อนาน 8 สัปดาห์ พบว่าพระสงฆ์และฆราวาสมีความพึงพอใจอย่างมาก รวมทั้ง พยาบาลผู้นำสื่อไปทดลองใช้ด้วย จากความคืบหน้านี้ เราจึงเดินหน้าต่อ โดยกำลังรอที่จะดำเนินการนำสื่อสงฆ์ไทยไกลโรคไปผนวกเข้ากับนโยบายประเทศ เช่น โครงการวัดส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งสิ่งที่อยากได้ คือ การความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชน องค์กรต่างๆ เพื่อทำให้ความเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพในพระสงฆ์เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง"
ผู้เขียนเองซึ่งได้รับทราบถึงความไม่สบายของพระสงฆ์ ด้วยตนเอง หลายรูปมีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคความดัน จึงขอเชียร์การทำงานของอาจารย์จงจิตร และ สสส. และขอเป็นแนวร่วมในการขับเคลื่อนนี้ด้วย โดยเริ่มต้นจากตนเอง ด้วยการ ปรับ เปลี่ยน เอาใจใส่ พิถีพิถัน อาหารที่จะนำถวายพระสงฆ์ มากขึ้น และอยากเชิญชวนให้ทุกท่าน มาร่วมเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน หากเปรียบเทียบพระสงฆ์ กับชายไทย พบว่า พระสงฆ์อ้วนมากกว่า คือแซงหน้าชายไทยถึง 49%