สุขภาพดีไม่มีขายอยากได้ต้องทำเอง

 



 


การออกกำลังกายมีประโยชน์นานัปการต่อสุขภาพของคนเรา ซึ่งเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ทราบดี แต่กลับแปลกที่คนส่วนใหญ่กลับละเลยที่จะสนใจสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย บางก็บอกว่าเหนื่อย บางก็บอกว่าไม่มีเวลา หรือแม้กระทั้งหาสถานที่ออกกำลังกายไม่ได้ ยิ่งกว่านั้นบางคนบอกว่าแก่เกินจะออกกำลังกายแล้ว ซึ่งทั้งหมดนั้นล้วนเป็นข้ออ้างแทบทั้งสิ้น เพราะไม่ว่าช่วงวัยไหนๆ ก็สามารถออกกำลังกายได้ แค่เพียงเลือกแบบที่เหมาะสมกับวัยเท่านั้นเอง


โดย ผศ.ดร สุชาติ ทวีพรปฐมกุล ผู้อำนวยการแผนงานส่งเสริมนวัตกรรมการออกกำลังกาย และกีฬาเพื่อสุขภาพ สสส.บอกกับเราว่า การออกกำลังกายช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น แต่การออกกำลังกายที่ดีจำเป็นต้องออกให้เหมาะกับช่วงวัยของตนเองด้วย เพื่อให้ได้ผลและรู้สึกไม่น่าเบื่อ และจะทำให้เราสนุกกับการออกกำลังกายไปด้วย


“โดยการออกกำลังกายนั้นสามารถเริ่มได้ตั้งแต่เด็ก โดยแบ่งเป็นเด็กปฐมวัยหรือเด็กก่อนประถมศึกษา การออกกำลังกายง่ายของเด็กช่วงอายุนี้คือ การเลียนแบบสิ่งที่เค้าเห็นหรืออยู่ในชีวิตประจำวันเค้า  เน้นที่ความสนุกของเด็กเป็นหลัก เพื่อฝึกความคล่องตัวและรู้จักเล่นกับเพื่อน ไม่ต้องใช้อุปกรณ์มาก เช่น วิ่ง ปีนไต่ หรือกระโดด เป็นการเคลื่อนไหวแบบเบสิก”ดร สุชาติกล่าว


ต่อมาเป็นเด็กที่โตขึ้นมาอีกระดับหรือเด็กประถม อาจไม่ต่างกับเด็กเล็กมากนัก แต่เพิ่มเงื่อนไขเข้ามาเกี่ยวข้อง เน้นเรื่องความคล่องแคล่วและปลูกฝังน้ำใจนักกีฬา จึงควรเล่นกีฬาหลากหลายเพื่อพัฒนาร่างกายทุกส่วน เช่น ปิงปอง แบดมินตัน ยิมนาสติก ฟุตบอล แชร์บอล ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน ที่เป็นข้อห้ามคือชกมวยและการออกกำลังกายที่ต้องใช้ความอดทน เช่น วิ่งไกล กระโดดไกล ยกน้ำหนัก รักบี้ ยิมนาสติกที่มีแรงกระแทกสูง เพราะจะขัดขวางการเติบโตและความยาวของกระดูก


ดร.สุชาติบอกต่อว่า พอเริ่มเข้าสู่วัยที่เป็นเด็กโตหรือช่วงมัธยม เด็กเริ่มชอบที่จะมีการแข่งขัน และมีเหตุผลที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นที่ต้องใช้ทักษะมากขึ้น อีกทั้งเริ่มมีความแตกต่างระหว่างเพศ ผู้ชายจะออกกำลังกายเพื่อให้เกิดกำลัง ความแข็งแรง รวดเร็ว อดทน เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ ถีบจักรยาน เล่นบาสเก็ตบอล วอลเล่ย์บอล โปโลน้ำ ขณะที่ผู้หญิงออกกำลังกายที่ไม่หนักแต่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดของร่างกาย เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ ถีบจักรยาน เต้นแอโรบิค เทนนิส


“แต่ผมอยากแนะนำว่ากีฬาการละเล่นพื้นบ้านของไทยเรา ก็สามารถใช้ในการออกกำลังกายได้เป็นอย่างดีไม่แพ้กีฬาสากลเลย เช่น รีรีข้าวสาร อีมอญซ้อนผ้า ก็สามารถเอาเข้าประยุกต์ผสมผสานให้เด็กได้”ดร.สุชาติกล่าว


วัยทำงานเป็นวัยที่มีปัญหากับการออกกำลังกายเป็นอย่างมาก เพราะเวลาส่วนใหญ่ใช้ไปกับการทำงาน หรือพักผ่อน แต่คนวัยนี้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ความอ่อนตัวของเอ็นและข้อต่อจะมีแต่เสื่อมลงทุกวัน ควรออกกำลังกายอย่างน้อยอาทิตย์ละ 5 วัน ๆ ละ 30 นาที จะสามารถฟื้นฟูร่างกายได้ และที่แนะนำคือควร เดินเร็ว วิ่งเหยาะๆ ถีบจักรยาน ว่ายน้ำ หรือเต้นแอโรบิคจะดีที่สุด


และในช่วงวัยสุดท้ายคือ วัยชรา หลายคนอาจมองว่าแก่แล้ว อย่าออกกำลังมากอาจพลาดพลั่งเสี่ยงต่ออุบัติเหตุได้ แต่มันก็มีวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะกับคนวัยนี้ คือ การออกกำลังกายแบบเบาๆ  คนวัยนี้ต้องการตัวช่วยและการดูแลใกล้ชิดสักนิด เช่น ใช้ยางยืด กายบริหาร รำมวยจีน ซีกง ถีบจักรยานอยู่กับที่ จะช่วยเสริมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ให้ดีขึ้น แต่ต้องไม่หักโหมจนเกินกำลัง


และที่เป็นคำถามยอดฮิตสำหรับการออกกำลังกายคือ ผู้คนที่มีโรคประจำตัว ที่เกี่ยวกับระบบหายใจ ความดัน เบาหวาน หรือแม้แต่หญิงที่มีประจำเดือนนั้น สามารถออกกำลังกายได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ ดร.สุชาติ บอกว่า บุคคลเหล่านี้สามารถออกกำลังกายได้ตามปกติหากแต่ต้องทดสอบสมรรถภาพและสังเกตตนเองไปด้วยว่าไหวแค่ไหน ที่สำคัญเลือกควรออกกำลังกายที่ไม่หนักจนเกินไป เลือกชนิดที่เหมาะสม  โดยใช้หลักการง่าย คือออกกำลังจากเบาไปหาหนัก ความถี่น้อยไปหามาก ค่อยๆ เพิ่ม ซึ่งสำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มออกกำลังกาย ควรออกอย่างมาก สัปดาละ 1 ครั้ง แล้วจึงเพิ่มไปจะดีที่สุดส่วนผู้หญิงในช่วงที่ประจำเดือนมา ก็สามารถออกกำลังกายได้ตามปกติ เพราะไม่มีผลใดต่อร่างกาย


ซึ่งดร.สุชาติ ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า การออกกำลังกายอย่ารอเมื่อสาย หลายคนเป็นถึงขึ้นอัมพาตแล้วค่อยมานึกถึงการออกกำลังกาย นั่นมันอาจสายเกินไป ทางที่ดีสุขภาพของเรา เราป้องกันไว้ดีกว่าแก้ เราต้องเตรียมร่างกายให้พร้อม เพราะสุขภาพไม่ใช่เสื้อผ้าหรือสิ่งที่จะทาสีให้ใหม่ได้ หรือหามาเปลี่ยนได้ หากแต่เป็นเรื่องที่ต้องสะสม เหมือนการออมทรัพย์ สะสมไปที่ละเล็กทีละน้อยแล้วโรคภัยก็จะไม่ถามหา


สุขภาพเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ต้องหันมาดูแลเอาใส่ใจ  เพราะการมีสุขภาพดีไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเองนะคะ


 


 


ที่มา : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่ Teamcontent www.thaihealth.or.th


 

Shares:
QR Code :
QR Code