สุขภาพดีได้ด้วย “ยาหอม”

เรื่องโดย : นายฉัตร์ชัย นกดี team content www.thaihealth.or.th


ข้อมูลโดย  ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


หนังสือใครไม่ป่วยยกมือขึ้น และจดหมายข่าวเพื่อนธรรมชาติ/มูลนิธิสุขภาพไทย


สุขภาพดีได้ด้วย “ยาหอม” thaihealth


แฟ้มภาพ


เมื่อพูดถึงยาหอมคงไม่มีใครไม่รู้จัก แต่คนส่วนใหญ่แม้รู้จักก็จริง แต่อาจเพียงชื่อ สำหรับคนที่รู้จักก็เข้าใจว่า ยาหอมเป็นยาคนแก่สำหรับใช้แก้ลมวิงเวียนเท่านั้น ทั้งที่ความจริงแล้วยาหอมมีสรรพคุณมากมาย


รศ.พร้อมจิต ศรลัมพ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชพฤษศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ความรู้เทคนิคการป้องกัน บรรเทา และรักษาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นจากโรคต่างๆ ด้วย “ยาหอม” และศาสตร์การดูแลสุขภาพด้วยสมุนไพร


สุขภาพดีได้ด้วย “ยาหอม” thaihealth


รศ.พร้อมจิต บอกว่า ปัจจุบันเรามียาหอมมากกว่า 500 ตำรับ ซึ่งแต่ละตำรับประกอบไปด้วยสมุนไพรมากมายหลายสิบชนิด โดยสันนิษฐานกันว่าที่มาของชื่อยาหอมนี้น่าจะมาจากกลิ่นของสมุนไพรในตำรับ ยา เช่น จันทน์เทศ จันทน์แดง  จันทร์ขาว ดอกพิกุล บุนนาค สารภี ใบพิมเสน เกสรบัวน้ำ เปราะหอม เป็นต้น


ในส่วนของสรรพคุณ นอกจากยาหอมจะช่วยบรรเทาอาการปวดมึนศีรษะ เป็นลม วิงเวียน หน้ามืด ใจสั่น อย่างที่ เรารู้ๆ กันแล้ว ยังช่วยบรรเทาอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย นอนไม่หลับ ปวดศีรษะข้างเดียว ความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งบำรุงประสาทและบำรุงหัวใจอีกด้วย ที่สำคัญคือ ปัจจุบันมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์ได้ถึงสรรพคุณต่างๆ ของยาหอมมีส่งผลต่อระบบต่างๆ ในร่างกายของเราด้วย


สรรพคุณที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้


รศ.พร้อมจิต อธิบายว่า ข้อมูลศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์นี้ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการดึงศักยภาพของตำรับยาแผนโบราณให้กลับเข้ามาอยู่ในกระแสสังคมอีกครั้ง และเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนได้ โดยได้เลือกทำการศึกษาเปรียบเทียบ ตำรับยาหอม 3 ตำรับคือ ยาหอมนวโกฐ ยาหอมอินทรจักร ซึ่งเป็นยาในชื่อบัญชียาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ ของกระทรวงสาธารณสุข 2 ตำรับ มีสมุนไพรเป็นส่วนประกอบกว่า 50 ชนิด และยาหอมของภาคเอกชน 1 ตำรับ ซึ่งยาหอมทั้ง 3 ตำรับนี้จะมีสมุนไพรที่ทับซ้อนกันอยู่ประมาณ 40 ชนิด โดยผลจากการวิจัยครั้งนี้ทำให้เรารู้ว่าสารสกัดยาหอมทั้ง 3 ตำรับนี้มีฤทธิ์ต่อระบบต่างๆ ในร่างกายเรา คือ


           •       ยาหอมมีฤทธิ์ต่อหัวใจ คือสามารถเพิ่มความแรงการบีบตัวของหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารสกัดยาหอมอินทรจักร


          •        มีฤทธิ์เพิ่มความดันโลหิต โดยเฉพาะในขนาด 4 กรัม ผงยาหอม/กิโลกรัม มีฤทธิ์เพิ่มความดันเลือด systolic, diastolic และความดันเลือดเฉลี่ย โดยมีผลต่อความดันเลือด systolic มากกว่า ความดันเลือด diastolic และความดันเลือดเฉลี่ย


          •        มีฤทธิ์ต่ออัตราการไหลเวียนในหลอดเลือดสมอง พบว่า หลอดเลือดเล็กที่ไปเลี้ยงสมองขยายตัว และปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองเพิ่มขึ้น


          •        มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง หรือส่งผลต่อการนอนหลับได้ โดยสารสกัดยาหอมของเอกชนและอินทจักร มีฤทธิ์กดต่อระบบประสาทส่วนกลางเมื่อให้สัตว์ทดลองได้รับเฉพาะแต่สารสกัด แต่ถ้าให้สารสกัดยาหอมทั้ง 2 ชนิดนี้ร่วมกับ pentobarbital ซึ่งเป็นยานอนหลับ จะพบว่าสารสกัดทั้งสองชนิดทำให้ระยะเวลาการออกฤทธิ์ของยานอนหลับยาวนานขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะสารสกัดยาหอมนวโกฐมีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลางมากกว่า 2 ชนิดแรก


          •        ฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหาร สารสกัดยาหอมนวโกฐจะมีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกรดของกระเพาะอาหาร ซึ่งพบว่า ยาหอมนวโกฐมีผลยับยั้งการหดตัวของลำไส้เล็กได้มากกว่าอีก 2 ตำรับ


          •        ฤทธิ์แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน สารสกัดยาหอมอินทรจักรสามารถต้านการอาเจียนได้


ปลอดภัยไร้สารตกค้าง


สุขภาพดีได้ด้วย “ยาหอม” thaihealth


จากผลการวิจัยนี้จะเห็นว่ายาหอมแต่ละตำรับ แม้จะให้ผลโดยรวมคล้ายกัน แต่มีน้ำหนักในสรรพคุณต่างๆ ที่ต่างกัน ซึ่งเราสามารถเลือกใช้ได้ เช่น ยาหอมนวโกฐทำให้หลับสบาย ช่วยบรรเทาปวดท้องได้ดีกว่า ขณะที่ยาหอมอินทรจักรบรรเทาคลื่นไส้ได้ดีกว่า


“นอกจากนี้ในงานวิจัยนี้ยังได้ทดสอบความเป็นพิษตกค้างของยาหอมทั้ง 3 ชนิดด้วยว่าเป็นอย่างไร ซึ่งผลที่ได้ไม่พบว่า มีผลต่ออัตราการเจริญเติบโต ค่าเคมีของเลือด รวมทั้งการทำงานของระบบตับและไตของของหนูที่ทำการทดลอง ซึ่งนั่นหมายถึงมีความปลอดภัยในการใช้นั่นเอง” อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชพฤษศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สรุป


ยาหอมนับเป็นภูมิปัญญาการดูแลสุขภาพของไทย หากเราสามารถนำมาใช้ประโยชน์โดยอาศัยความรู้ ก็จะสามารถบำรุงสุขภาพได้เป็นอย่างดีและปลอดภัย


 


 

Shares:
QR Code :
QR Code