“สุขภาพจิตคนวัยทำงาน”
ที่มา: กรมสุขภาพจิต
แฟ้มภาพ
ผู้เชี่ยวชาญทั้งไทยและต่างประเทศร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้หาทางแก้ปัญหา “สุขภาพจิตคนวัยทำงาน” ในเวทีการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 17 ประจำปี 2561
กรมสุขภาพจิต ระบุผลการสำรวจทางระบาดวิทยาสุขภาพจิต พบคนไทยมีโอกาสเจ็บป่วยด้วยโรคจิตเวชประมาณ 16 ล้านคน จากโรคการดื่มสุราหรือเสพสารเสพติด โรคซึมเศร้า และโรควิตกกังวล แต่อาการเจ็บป่วยเหล่านี้กลับถูกมองข้ามและผู้ป่วยไม่ได้เข้ารับการรักษา และกลุ่มวัยทำงาน มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงที่สุด จึงเร่ง ระดมผู้เชี่ยวชาญทั้งไทยและต่างประเทศร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อป้องกันแก้ปัญหา ในเวทีการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 17 ประจำปี 2561 “สุขใจ วัยทำงาน” ระหว่างวันที่ 1-3 สิหาคม นี้ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรืองไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า จากการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต โดยเฉพาะวัยทำงาน ที่ต้องเผชิญกับการแข่งขัน และความกดดันอย่างต่อเนื่อง ปัญหาสุขภาพจิตที่พบมากในวัยทำงาน คือ พฤติกรรมทางสุขภาพที่ไม่เหมาะสม ภาวะเครียดและวิตกกังวล โดยปัจจัย ที่ทำให้เกิดความเครียด คือ การมีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน และความไม่แน่นอนหรืองานที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวัง การขาดโอกาสในการก้าวหน้าหรือได้รับการเลื่อนตำแหน่ง การทำงานหนักค่าตอบแทนน้อย จากการสำรวจทางระบาดวิทยาสุขภาพจิต พบคนไทยมีโอกาสเจ็บป่วยด้วยโรคจิตเวชประมาณ 16 ล้านคน จากโรคการดื่มสุราหรือเสพสารเสพติด โรคซึมเศร้า และโรควิตกกังวล แต่อาการเจ็บป่วยเหล่านี้กลับถูกมองข้ามและผู้ป่วยไม่ได้เข้ารับการรักษา และกลุ่มวัยทำงาน มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงที่สุด
ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิต ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพจิตของคนวัยทำงาน โดย เร่งหาแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหา และส่งเสริมให้คนวัยทำงานมีภาวะสุขภาพจิตที่ดี เพื่อลดการสูญเสียทรัพยากรบุคคล ลดค่าใช้จ่ายจากปัญหาสุขภาพจิต ตลอดจนสามารถดึงศักยภาพของประชาชนวัยทำงานได้อย่างเต็มที่ ทำให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผล เป็นพลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศ ดังนั้นเพื่อให้เกิดเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวิชาการ และประสบการณ์เพื่อการดูแลสุขภาพจิตคนวัยทำงาน กรมสุขภาพจิต จึงได้จัดการการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ประจำปี 2561 ภายใต้หัวข้อเรื่อง “สุขใจ วัยทำงาน” (Mental Health in the workplace) ระหว่างวันที่ ๑-๓ สิงหาคม ๒๕๖๑ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ผู้เข้าประชุม ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหาร นักวิชาการ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข อาสาสมัคร ผู้ปฏิบัติงานในชุมชน จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ ประเทศ ออสเตรเลีย แคนนาดา เยอรมนี จีน ญี่ปุ่น สิงค์โปร มาเลเซีย เวียดนาม ภูฏาน พม่า กัมพูชา และประเทศลาว รวมทั้งสิ้นกว่า ๑,๐๐๐ คน โดยมีหัวข้อการประชุมที่สำคัญครอบคลุมทั้งด้านปฏิบัติการและวิชาการ อาทิ การนำเสนอเรื่องเทคโนโลยีเพื่อการป้องกันการฆ่าตัวตายในที่ทำงาน, การประเมินความสามารถในการทำงาน , การจัดการซึมเศร้าจากการทำงาน ฯลฯ นอกจากนี้การประชุมยังครอบคลุมประเด็นสุขภาพจิตอื่นๆ เช่น สุขภาพจิต และจิตเวชเด็ก , ภาวะสุขภาพจิตที่เกี่ยวเนื่องจากกระแสสังคม เช่น โรคติดพนัน ,โรคติด Social เป็นต้น