สื่อ ‘ทีวี’ ทำเด็กสมาธิสั้น

เสนอ 5 พ.ทำรายการเด็ก

 

 สื่อ ‘ทีวี’ ทำเด็กสมาธิสั้น

          เมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 เดือนกรกฎาคม 52 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เครือข่ายเยาวชนเพื่อการพัฒนาแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนา  “สื่อสร้างสรรค์ ไม่เกินฝันของเด็ก?”

 

          โดยนายสุริยะ  ศึกษากิจ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ขณะนี้แนวคิดการตั้งกองทุนสื่อสร้างสรรค์ มีความคืบหน้าไปมากอยู่ในขั้นตอนการระดมความคิดเห็น ซึ่งเชื่อว่ากองทุนนี้จะเป็นเครื่องมือในการช่วยพัฒนาสื่อ โดยเฉพาะสื่อเพื่อเด็ก เป็นรายการที่ดีแต่ไม่สามารถหาแหล่งทุนสนับสนุนได้ กองทุนดังกล่าวจะเติมในส่วนที่ขาด เพื่อให้ผู้ผลิตทำรายการเพื่อสังคมได้ ส่วนการพัฒนาเรตติ้งต้องทำอย่างต่อเนื่องให้เท่าทันสื่อที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

 

          นางยะดา รัชนิพนธ์ อาจารย์โรงเรียนหนองซ่อมตะเคียนงาม ปากช่อง กล่าวว่า เด็กวัยประถมมีปัญหาโรคสมาธิสั้น เช่น ชั้นเรียนที่ตนสอนนั้นมีเด็ก 25 คน เมื่อทำการประเมินพบว่า เด็กเป็นโรคสมาธิสั้นถึง 15 คน ทำให้ไม่มีสมาธิในการอ่านหนังสือ ซึ่งในฐานะแม่ก็พบปัญหาเดียวกัน ขณะที่ลูกอยู่ชั้นประถม 1 เด็กสามารถคิดเลขได้เร็ว แต่ไม่สามารถอ่านหนังสือได้เลย

 

          เมื่อทำแบบประเมินก็พบว่าเป็นโรคสมาธิสั้นระดับ 3 ซึ่งคาดว่าสาเหตุมาจากการให้ทีวีเลี้ยงลูก เพราะเด็กดูทีวีตั้งแต่เล็ก ต้องเปิดทีวีตลอดเวลาไม่สามารถปิดได้จะร้องไห้ จึงต้องใช้นิทานเข้ามาช่วย โดยมีเครือข่ายเยาวชนเพื่อการพัฒนาเข้ามาช่วยเหลือเด็กในโรงเรียน หลังจากใช้นิทานมาช่วยเด็ก และลดการดูทีวี พบว่า เด็กๆ เริ่มมีพัฒนาการดีขึ้นระดับของปัญหาสมาธิสั้นเริ่มลดลงได้

 

          นางอัญญาอร พานิชพึ่งรัถ มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า รายการโทรทัศน์ปัจจุบันโดยเฉพาะละคร ได้ปลูกฝังค่านิยมที่ผิดๆ ในสังคม เช่น ตบตี ข่มขืน และวัฒนธรรมใหม่ คือ การแก่งแย่งแข่งขัน สอนให้แย่งชิงเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ และถ่ายทอดกระบวนการแย่งชิงความสำเร็จโดยไม่สนใจเรื่องความถูก – ผิด สื่อยังมองผู้บริโภคเป็นเหยื่อที่จะทำอย่างไรก็ได้ และใช้วิธีการหลอกล่อคนดูให้อยากดู  อยากเห็น อยากซื้อสิ่งที่เสนอ แม้ระยะหลังจะมีหลายหน่วยงานเข้าร่วมผลักดันให้เกิดสื่อดีๆ แต่ไม่สามารถต่อต้านระบบนายทุนได้ ทำให้สื่อดีๆ ไม่มีที่ยืนในสังคม

 

          พญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวว่า รายการทีวีปัจจุบันเป็นการสร้างระบบแนวคิดใหม่ตามที่ผู้ผลิตสื่อต้องการให้ผู้ชมเสพแล้วเชื่อในสิ่งที่เสนอ แต่ความจริงสื่อจำเป็นต้องคำนึงถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อสังคม และระลึกว่าพลเมืองที่อยู่ร่วมกันมีความหลากหลาย ควรสร้างสิ่งที่จะตอบสนองคนทุกกลุ่มทุกวัยได้ แม้รายการโทรทัศน์ในปัจจุบันจะมีแนวโน้มดีขึ้นกว่าช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คือมีรายการเด็ก แต่ปัญหาก็เปลี่ยนไปด้วยจากการติดโทรทัศน์เป็นอินเทอร์เน็ตแทน ซึ่งทุกฝ่ายต้องร่วมกันคิดเพื่อแก้ปัญหา

 

          น.ส.สุมณฑา ปลื้มสูงเนิน เครือข่ายเยาวชนเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า เครือข่ายเยาวชนฯ มีข้อเสนอ  ดังนี้ 

 

          1. ครอบครัว รัฐ และโรงเรียนควรสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้เท่าทันสื่ออย่างเร่งด่วนและทั่วถึง 

 

          2. ผู้ผลิตต้องคำนึงถึงหลัก 5 พ. คือ พัฒนา พอเพียง พิทักษ์สิทธิเด็ก เพิ่มเสียงเด็กและพื้นที่สร้างสรรค์ 

 

          3. เปิดให้มีส่วนร่วมในกองทุนสื่อสร้างสรรค์

 

          4. รัฐต้องสนับสนุนกิจกรรมการสร้างสรรค์เพื่อเป็นทางออกทดแทนเวลาที่เด็กบริโภคสื่อ 

 

          5. สนับสนุนให้เกิดการทำงานกระบวนการเรียนรู้สื่อในระดับพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เด็กมีภูมิคุ้มกัน

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

 

 

update 09-07-52

อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code