สื่อไม่ดี หรือ เด็กไม่ดู
สื่อกับสังคม ใครเป็น “เหตุ”, ใครเป็น “ผล” เป็นเรื่องที่เถียงกันไม่จบ ไม่ ว่าจะเป็น ปัญหานักเรียนนักเลง เด็กพากันเข้า ม่านรูดสวิงกิ้ง หรือแม้แต่ผู้หญิงเอานมวาดรูป หลาย “นิ้ว” ชี้มายังสื่อ ขณะที่หลายสื่อชี้ไปยังครอบครัว สังคม สรุปแบบกำปั้นทุบดินอย่างนี้แล้วกันว่า…เป็นเรื่อง ที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน
ล่าสุดมีการเปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการ บริโภคสื่อของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ กทม.ช่วงเดือนมิถุนายน โดยเครือข่ายเยาวชนเท่าทันสื่อ ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก สื่อสร้างสรรค์ สุขภาวะเยาวชน และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการ สร้างเสริมสุขภาพ ถึงจะไม่ได้มีข้อมูลใหม่อะไรให้ต้องตกอกตกใจ แต่ก็มีความชัดเจนในแนวโน้มบางอย่างที่หลายคน แอบกังวลไว้ล่วงหน้า และตอกย้ำข้อเท็จจริงอีกหลายอย่างเกี่ยวกับการเสพสื่อของคนรุ่นใหม่
อย่างแรก ผลการสำรวจชิ้นนี้พบว่าเด็กและเยาวชนนิยมใช้สื่อออนไลน์มากถึง 45.5 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือ ดูโทรทัศน์ 36 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่สื่อวิทยุและหนังสือพิมพ์ มีความนิยมเพียง 4 เปอร์เซ็นต์ และ 5 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ
ในฐานะคนทำสื่อ ฟังแล้วก็อดสะท้อนใจไม่ได้ว่า…เดดไลน์ของหนังสือพิมพ์ใกล้เข้ามาทุกขณะ แล้วหรือนี่ แม้จะมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่องทั้งเนื้อหาและรูปแบบการนำเสนอ แต่ถ้าดูจากตัวเลขที่ลดลงเรื่อยๆ ของคน อ่านหนังสือพิมพ์ ความคาดหวังว่าจะมีคนที่ใช้เวลาไล่สายตาผ่านตัวอักษร เพื่อทำความเข้าใจกับประเด็นยากๆ เรื่องที่มีรายละเอียดและมีความซับซ้อน คงจะเหลือน้อยทุกที โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ที่ไม่นิยมใช้เวลาอยู่กับ เรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นเวลานาน
ยิ่ง ถ้าดูจากพฤติกรรมการบริโภคสื่อของคนรุ่นใหม่ ที่มีการสำรวจกันหลายต่อหลายครั้ง และครั้งนี้ก็ได้ผล ไม่ต่างกัน คือ เยาวชนส่วนใหญ่ใช้สื่อออนไลน์เพื่อเสพ ความบันเทิงมากกว่าอย่างอื่น คือ 53 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือ เพื่อค้นหาสาระความรู้ 47 เปอร์เซ็นต์ (ซึ่งต้องไปศึกษาต่อว่าการค้นหาความรู้นั้นมาจากความสนใจของตัวเอง หรือเพื่อใช้ในการทำรายงานประกอบการเรียนในวิชาต่างๆ) นอกจากนี้ยังยอมรับว่าปัญหาจากการบริโภคสื่อคือ การเล่นเกม เล่นเฟซบุ๊ก จนเสียการเรียน 66 เปอร์เซ็นต์ สายตาสั้น 18 เปอร์เซ็นต์ และถูกหลอกลวง 15 เปอร์เซ็นต์
ถ้ายังจำกันได้ เมื่อครั้งที่โลกออนไลน์เริ่มแสดงอิทธิพลของมันต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ของผู้คน มีการประเมินกันว่าสื่อใหม่เหล่านี้จะกลายเป็นดาบสองคม…
คมด้านหนึ่ง คือการกระจายข้อมูลข่าวสารจำนวนมหาศาลไปอย่างกว้างขวาง เปิดโอกาสให้คนทั่วไป ทุกเพศทุกวัย ทั้งยากดีมีจน สามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ได้อย่าง ที่เรียกว่าเกือบจะไร้พรมแดน ซึ่งอาจจะช่วยลดช่องว่าง ทางความรู้ของคนในสังคมได้
ส่วนคมอีกด้าน คือการไหลบ่าของ “ขยะ” ข่าวสาร ที่ปราศจากตัวกรอง ซึ่งจะพุ่งตรงไปถึงทุกบ้านเรือน ทุกชุมชน ทุกหนทุกแห่ง และมันอาจกลายเป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดีในการหาประโยชน์จากความไม่รู้ หรือ ความเชื่อที่ผิดๆ อย่างไม่เคยมีมาก่อน
ทว่าวันนี้ เมื่อถึงวันที่สังคมเคลื่อนมาถึงจุดที่โลก แห่งความเป็นจริงกับโลกออนไลน์แทบแยกกันไม่ออก ดูเหมือนว่าคมด้านที่ทิ่มแทงสังคมดูจะทิ้งร่องรอยไว้มากกว่า เราจึงได้เห็นสิ่งที่เคยเป็นข้อกังวลปรากฏชัดยิ่งกว่าด้านที่เป็นความหวัง
อาชญากรรมทางอินเตอร์เนต ข่าวลือข่าวปล่อย ค่านิยมผิดๆ การล่อลวงต่างๆ นับวันจะยิ่งซับซ้อนและ ส่งผลกระทบในวงกว้าง ขณะที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเข้าถึงสื่อใหม่ๆ กลับไม่ได้ช่วยติดอาวุธให้กับคนในสังคมอย่างที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะกับเด็กๆ และเยาวชน เหตุผลหนึ่งก็คงเป็นอย่างที่ผลการสำรวจครั้งล่าสุดได้ระบุไว้ นั่นคือ สื่อออนไลน์มีไว้เสพความบันเทิง มิใช่ข่าวสารความรู้ที่เป็นประโยชน์ ดังนั้นหากเราเชื่อว่าสื่อและสังคมมีอิทธิพลต่อกัน แทนที่จะโทษกันไปโทษกันมา น่าจะช่วยกันคิดหาทางออก…
โดยมีโจทย์ใหญ่คือ การทำให้สื่อที่มีอยู่และอยู่ใน ความสนใจของคนรุ่นใหม่นำเสนอเนื้อหาในทางสร้างสรรค์สังคม และโจทย์ที่ใหญ่กว่า คือทำอย่างไร ให้เยาวชนหันมาสนใจเสพสื่อที่มีคุณภาพ (บ้าง)
ที่มา: มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก