สื่อเด็กอีสานระดมพลต้านพิษเพศสัมพันธ์ในเด็ก

              ศูนย์ประสานงานสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชนภาคอีสาน(ศสอ.)ระดมสื่อ-เครือข่ายทั่วอีสานเดินเครื่องวางยุทธศาสตร์บีบพื้นที่พิษจากเพศสัมพันธ์ในเด็ก หวังหยุดตัวเลขเด็กหญิงแม่เด็กชายพ่อภาคอีสาน ผุดสโลแกน เบิ่งแยงแพงคีงให้ฉุกคิด พบสื่อฯปัจจัยเสี่ยงสูงที่เด็กจะตกหลุมพราง ประธานศสอ.หวั่นค่านิยมลามปามมองการมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องธรรมดา แฉเด็กขวดโหลผลพวงแห่งความเลวร้ายของสังคม

สื่อเด็กอีสานระดมพลต้านพิษเพศสัมพันธ์ในเด็ก

 

           วันที่ 28 มิถุนายน 2553 ณ ห้องบัวทิพย์ 2 ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ภาคีเครือข่ายสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชนภาคอีสาน โดยมีผู้ทำงานด้านเด็กอีสาน 9 โครงการ 4 จังหวัดจับมือขับเคลื่อนประเด็นการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันสมควรของเยาวชน

 

           นายสุชัย เจริญมุขยนันท ประธานศูนย์ประสานงานสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชนภาคอีสาน (ศสอ.) กล่าวว่า สถานการณ์เด็กวัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรได้ระบาดไปอย่างน่าใจหายและสัญญาณบอกเหตุที่น่าสพรึงกลัวเวลานี้คือเด็กกลุ่มนี้มีค่านิยมว่าการมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งตนมองว่านี่คือวิกฤติและความหายนะของสังคม ปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียตัวของเด็กวัยรุ่นนับวันมีแนวโน้มสูง โดยเฉพาะสื่อฯที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลง

 

           “ปัญหาต่างๆที่ตามรุมเร้าหลังการมีท้องทั้งเรื่องการเรียน เศรษฐกิจ สังคมโรคทางเพศสัมพันธ์นั่นหมายถึงอนาคตของเด็กเหล่านั้นจะต้องสูญเสียไปอย่างน่าเสียดายนายสุชัย กล่าว

 

           เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวศสอ.จึงได้จุดประกายสร้างภาวะให้เด็กอีสานมีความรู้และตระหนักในเรื่องนี้อย่างเหมาะสมโดยได้ร่วมกับกับภาคีเครือข่ายในภาคอีสานจำนวน 9 โครงการ ดำเนินการขับเคลื่อนทบทวนและประเมินสถานการณ์ตลอดจนวางแผนงานสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนอีสานรู้ถึงผลกระทบที่จะตามมาตลอดจนกระตุ้นสังคม-ผู้ปกครองออกมารับผิดชอบสร้างภูมิต้านทานร่วมกันภายใต้สโลแกน เบิ่งแยงแพงคีง” (เป็นภาษาอีสานหมายถึงให้ทุกคนช่วยดูแล ให้เด็ก ๆ รักนวลสงวนตัว)

 

           ในครั้งนี้นายสุชัยได้พูดถึงเรื่องเด็กขวดโหลจากกรณีที่ตำรวจบุกค้นบ้านร้างกลางเมืองอุบลฯเมื่อเร็วๆนี้พบขวดโหลบรรจุทารกที่ถูกทำแท้งจากคลีนิคเถื่อนจำนวนมากเพื่อเตรียมส่งไปขายให้กับพ่อค้าทางภาคใต้เพื่อทำพิธีทางไสยศาสตร์ ว่าเป็นสัญญลักษณ์ของความเหลวแหลกของสังคมที่จะต้องช่วยกันออกมารณรงค์แก้ปัญหาดังกล่าวร่วมกัน

 

           ด้าน นายอัมพร วาภพ ผู้ประสานงานภาคอีสาน กล่าวเพิ่มเติมว่า 9 โครงการที่เข้าร่วมดำเนินการครั้งนี้มาจากหลายพื้นที่ของภาคอีสานซึ่งทำงานด้านเด็กโดยเฉพาะประกอบด้วย 1.โครงการเด็กเยาวชนจิตอาสาพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ ซึ่งมี เครือข่ายอาสาสมัครนักสื่อสารชุมชนอุบลราชธานี (ค.อสช.อบ.) รับผิดชอบโครงการ 2.โครงการต้นกล้าคุณธรรมสร้างสรรค์สื่อเพื่อชุมชนคุณธรรม โดยมีสื่อสร้างสุขอุบลราชธานี ดูแลโครงการ     3.โครงการพัฒนากลไกครอบครัวเพื่อการพัฒนาเด็ก และเยาวชน ต.หนองตอกแป้น อ.เมืองจ.กาฬสินธุ์ มีกลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลหนองตอกแป้น รับผิดชอบ   4.โครงการพัฒนาศักยภาพมือปราบไร้สาย โดยมี เครือข่ายเยาวชนสืบสานภูมิปัญญา ภาคอีสาน รับผิดชอบโครงการ  5.โครงการการเรียนรู้และเท่าทันสื่อสำหรับเด็กชั้นประถมศึกษา ดำเนินการโดยโรงเรียนอนุบาลเลิงนกทา ต.สามแยก อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร

 

           6.โครงการละครเพื่อการพัฒนา โดยกลุ่มสื่อใสวัยทีน(teens media group)  มีพื้นที่ดำเนินการ  คือ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดอุบลราชธานี และ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน/เขต5 จังหวัดอุบลราชธานี 7.โครงการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการ การศึกษารูปแบบการใช้วัฒนธรรมชุมชนในการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนแบบมีส่วนร่วม มีสถาบันชุมชนชาวนา เป็นเจ้าของโครงการ 8.โครงการสมาชิก to be number one ร่วมกันเฝ้าระวังสื่อ โดยมีกลุ่มงานสุขภาพจิตและจิตเวช โรงพยาบาลมหาสารคาม เป็นเจ้าของโครงการ  และ9.โครงการ การสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาเครือข่ายครอบครัวอบอุ่น   ชุมชนส่องเหนือ และส่องใต้   ต.ตลาด  อ.เมือง  จ.มหาสารคาม   มีกลุ่มเยาวชนรักษ์ถิ่นชุมชนส่องเหนือ รับผิดชอบโครงการ

 

ที่มา:สำนักข่าว สสส.

 

 

update: 29-06-53

อัพเดตเนื้อหาโดย: คีตฌาณ์ ลอยเลิศ

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code